Insurance Knowledge ตอนที่ ๒ /๒๕๖๒ โดย ประสิทธิ์ คำเกิด
“การบริหารความเสี่ยงภัยกับการโอนความเสี่ยงภัย?”
สวัสดีครับทุกท่าน พบกับ Insurance Knowledge กันอีกครั้ง เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องของการประกันภัย ให้กับทุกท่านและผู้สนใจทั่วไป ติดตามกันได้จาก คอลัมน์นี้ นะครับ..
จากฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงเจตนารมย์ของ Insurance Knowledge และได้บอกว่า การประกันภัย คือการบริหารความเสี่ยงภัยอย่างหนึ่งของผู้เอาประกันภัย ไปแล้ว ฉบับนี้เรามาทำความเข้าใจในเรื่องของการบริหารความเสี่ยงภัยกันสักน่อยนะครับ
การบริหารความเสี่ยงภัย : คือการจัดการกับปัจจัยที่จะทำมีให้โอกาสที่จะเกิดความสูญเสียในอนาคตจากเป็นเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนนั้นได้อย่างไร ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงภัยจึงมีความสำคัญซึ่งต้องเป็นกระบวนการที่เป็นระบบหรือแผนงานการดำเนินงานเพื่อการลดหรือขจัดความน่าจะเป็นหรือโอกาสที่ความสูญเสียจะเกิดขึ้นในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ดังนั้นหากเราจะบริหารความเสี่ยงภัยนั้นเราจึงต้องทำความเข้าใจปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงนั้นมีอยู่ ๒ ประการดังนี้ครับ
๑. ปัจจัยที่แรก คือ “ภัย” (Peril) หมายถึง สาเหตุของความสูญเสีย เช่น ถ้ากล่าวถึงไฟไหม้อาคาร ตัวภัย หมายถึง ไฟ หรือ กรณีรถยนต์เฉี่ยวชนกัน ตัวภัยก็คือ รถยนต์ ฉะนั้นสิ่งที่เป็นภัยพื้นฐาน ได้แก่ ไฟ ฟ้าผ่า พายุไต้ฝุ่น แผ่นดินไหว มนุษย์ สัตว์ เป็นต้น
๒. ปัจจัยที่สอง คือ “อันตราย” (hazard) ซึ่งหมายถึง สภาวะที่จะ สร้าง หรือ เสริม ให้เกิดโอกาส หรือความไม่แน่นอนที่จะนำไปสู่ความสูญเสีย ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภท ดังนี้
– อันตรายทางกายภาพ (Physical hazard) หมายถึง ปัจจัยที่มีความเสี่ยงโดยสภาพที่อยู่ ที่เป็น เช่น สถานที่ตั้ง อุปกรณ์ที่ใช้ สภาพดิน ฟ้าอากาศ ป่า ภูเขา แม่น้ำ เพศชาย เพศหญิง สัตว์ป่า สัตว์เลี้ยง เป็นต้น
– อันตรายทางศีลธรรม (Moral hazard) หมายถึง ปัจจัยที่มาจากภาวะหรือสถานการณ์ที่เกิดจากคน สังคม เศรษฐกิจ เช่น เศรษฐกิจของประเทศไม่ดี ประชาชนมีความยากจน อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นคือ การปล้น การจี้ชิงทรัพย์ หรือ การทุจริต เป็นต้น
– อันตรายทางกฎหมาย (Legal hazard) หมายถึง ข้อบังคับของสังคมที่กำหนดไว้ให้ต้องปฏิบัติหากมีการฝ่าฝืนก็ต้องถูกลงโทษ ซึ่งในแต่ละประเทศก็จะมีกฎหมายบังคับใช้ภายในประเทศของตนเอง กฎหมายที่ออกมานั้นอาจมีจำนวนมากมาย การไม่รู้เท่าทันกฎหมายก็อาจทำให้ผู้กระทำนั้น ได้รับผลลัพธ์หรือ บทลงโทษทางกฎหมายนั้นได้ เช่น นาย สมชาย ไปเที่ยวประเทศสิงคโปร์ แล้วไปถูกตำรวจจับข้อหา ทิ้งขยะ หรือ บ้วนน้ำลายลงบนถนนหรือที่สาธารณะ ซึ่งเป็นกฎหมายในประเทศสิงคโปร์เขากำหนดไว้ หรือ นาย สมศักดิ์ ขับรถจักรยานยนต์ออกมาทำธุระ แต่ถูกตำรวจจับปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ในข้อหาเป็นผู้ที่นำรถที่มีการเอาประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ มาใช้ อันเป็นกฎหมายในประเทศไทยเรากำหนดไว้ เป็นต้น
กล่าวโดยสรุปแล้วความเสี่ยงของภัยที่ว่านั้น อาจจะเกิดหรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ และ ไม่รู้อีกด้วยว่ามันเกิดขึ้นเมื่อไร อย่างไร รุนแรง มากน้อยแค่ไหน ก็ไม่รู้อีกว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไร ปัญหาคือ หากมันเกิดขึ้นและมีความเสียหายขึ้นแล้วเราจะมีความสามารถรับผิดชอบต่อสิ่งที่มันเกิดขึ้นนั้นได้อย่างไร? คำตอบคือเราต้องบริหารความเสี่ยง หรือจัดการกับความเสี่ยงด้วยวิธีการหนึ่งวิธีการใดหรือหลายวิธีการดังนี้
๑. การป้องกันความสูญเสีย (Loss Prevention) เป็นกระบวนการ การระมัดระวัง หลีกเลี่ยง หรือป้องกัน ภัยที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ร้านเกมที่ให้บริการเล่นเกมทางอินเตอร์เน็ต มีการติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งหากไม่มีการป้องกันการสูญเสีย ก็อาจมีการวางหรือติตั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ติดชิดเข้าผนัง ทำให้เครื่องระบายความร้อนไม่ดี จึงอาจทำให้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์เสียหาย อันเนื่องจากความร้อนนั้นได้ การบริหารความเสี่ยงในกรณีนี้คือการป้องกัน ด้วยวิธีการ ติดตั้งเครื่องให้ห่างจากผนังกำแพง หรือ ติดเครื่องระบายความร้อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียหรือความเสียหายนั่นเอง
๒. การลดความสูญเสีย (Loss Reduction) เป็นกระบวนการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ความเสียหายหรือการสูญเสียนั้นลดลงบรรเทาเบาบางลงไป เช่น นายสมชาย ขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วยความเร็ว มีสุนัขวิ่งตัดหน้าทำให้เสียหลักล้มศีรษะกระแทกพื้นมีอาการเลือดคลั่งในสมองสุดท้ายเป็นอัมพาต อุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้นายสมชายและครอบครัวได้รับความเสียหายหรือความสูญเสียอย่างมาก กรณีเช่นนี้หากนายสมชาย สวมใส่หมวกนิรภัยอย่างถูกต้อง ก็อาจไม่สูญเสียมากมายอย่างนี้ หมวกนิรภัยจึงเป็นสิ่งที่มาช่วยลดความสูญเสียนั้นได้ เป็นต้น
๓. การคุ้มครองความเสี่ยง (Risk Financing) เป็นกระบวนการที่สร้างขึ้นหรือเป็นหลักประกันเพื่อให้เกิดความคุ้มครองกับความเสี่ยงหรือความเสียหาย ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต นั้น เช่น การโอนความเสี่ยงภัยของเราไปให้บริษัทประกันภัยเป็นผู้รับโอนความเสี่ยงและหากเกิดความเสียหายแล้วบริษัทผู้รับประกันภัยก็จะให้การคุ้มครองต่อความเสียหายนั้นให้แก่เรา เช่น นายสมชาย มีบ้านเดี่ยวราคา ๓ ล้าน ตั้งอยู่ในบริเวณชุมชนและเห็นว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้จึงได้มีการเอาประกันภัยทรัพย์สินไว้(อัคคีภัย) โดยจ่ายเบี้ยประกันภัย จำนวน ๔,๐๐๐ บาทต่อปี คุ้มครองตัวบ้านและเฟอร์นิเจอร์เป็นเงิน ๓ ล้านบาท ต่อมาเกิดไฟไหม้ชุมชนลุกลาม มาถึงบ้านนายสมชายเสียหายไปทั้งหลัง กรณีเช่นนี้ บริษัทประกันภัยก็จะให้การคุ้มครองเป็นค่าเสียหายให้กับนายสมชาย ตามความคุ้มครองที่เสียหายทั้งหลัง จำนวน ๓ บาท เป็นต้น
มาถึงตรงนี้คิดว่าท่านผู้อ่านทุกท่านคงเข้าใจในเรื่องของความเสี่ยงกับการบริหารความเสี่ยงภัยกันแล้วนะ ครับประการที่สำคัญคือ ผมปิดท้ายด้วยการสร้างหลักประกันเพื่อการคุ้มครอง ป้องกัน และลดความสูญเสียให้กับทุกท่านแล้ว ฉบับหน้าเราจะเข้าไปในโหมดของการประกันภัยในแต่ละประเภทกันแล้วนะครับ แล้วพบกันกับ Insurance Knowledge ฉบับหน้าครับ.