คปภ.ร่วม 3 สมาคมธุรกิจประกันภัย ยกเครื่องกระบวนการอนุมัติกรมธรรม์ เพิ่มศักยภาพแข่งขันธุรกิจประกันภัยไทย

0
408

เมื่อวันที่  13  สค.2562 ที่ผ่านมา  สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้เชิญ คณะผู้บริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัย  คณะผู้บริหาร ระดับ CEO ของบริษัทประกันชีวิต – ประกันวินาศภัย ทุกบริษัท เข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจง และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านกำกับ ใน 2 ประเด็นสำคัญ ดังนี้  ประเด็นแรก คือ  การปรับปรุงกระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัย และประเด็นที่สอง คือ การปรับปรุงสัญญาประกันสุขภาพมาตรฐาน

ทั้งนี้สาระสำคัญ ที่ได้มีการนำทั้งสองประเด็นสำคัญ ที่ทางสำนักงาน คปภ.จำเป็นที่ต้องจัดให้มีการประชุมชี้แจง ในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ในเรื่องการอนุมัติกรมธรรม์ประกันภัย ที่บริษัทประกันภัยได้ส่งแบบประกันภัยเพื่อขออนุมัติจาก สำนักงาน คปภ. ว่ามีขั้นตอนการดำเนินงานอย่างไร  ซึ่งทางสำนักงาน คปภ. มีนโยบายที่จะยกระดับกระบวนการทำงานเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการพิจารณาอนุมัติกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม และวิวัฒนาทางด้านเทคโนโลยีในปัจจุบัน  และที่สำคัญเพื่อให้ภาคธุรกิจ สามารถแข่งขันได้ทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ภาคของหน่วยงานกำกับ และภาคธุรกิจ ประกันภัย ซึ่งในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งสำคัญที่ คณะผู้บริหารดับ CEO  ของทุกบริษัทได้ร่วมรับฟัง และร่วมแสดงความคิดเห็น ด้วยตัวเอง

ทั้งนี้ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ได้กล่าวถึง ประเด็นแรก เรื่อง การปรับปรุงกระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและรองรับให้ภาคธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขัน และส่งเสริมอุตสาหกรรมประกันภัยไทย จึงได้มีการจัดทำกระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่ขึ้น

โดยในครั้งนี้สำนักงาน คปภ. เน้นให้ความสำคัญในการพิจารณากลั่นกรอง คุณภาพของผลิตภัณฑ์ประกันภัยและความพร้อมในด้านต่างๆ อาทิ การทดสอบผลิตภัณฑ์ ระบบการจัดการความเสี่ยง ระบบการจัดการค่าสินไหม ระบบเรื่องร้องเรียน โดยผ่านคณะกรรมการผลิตภัณฑ์ของบริษัท และในส่วนของ สำนักงาน คปภ. ได้จัดช่องทางในการอำนวยความสะดวก ที่ชัดเจนอย่างเป็นระบบ ตลอดจนวางแผนรองรับการกำกับรูปแบบใหม่

สำหรับไฮไลท์ ในการยื่นขอรับความเห็นชอบแบบ ข้อความ และอัตราเบี้ยประกันภัยจะมีความชัดเจนและรวดเร็วยิ่งขึ้น กล่าวคือ ผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบอัตโนมัติ (File & Use) ใช้เวลาอนุมัติแบบ ไม่เกิน 30 นาที  ผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบปกติ (ขอใหม่) ซึ่งเป็นแบบที่ไม่ซับซ้อน ใช้เวลาอนุมัติแบบ ไม่เกิน 15 วัน (จากเดิมใช้เวลาอนุมัติ 30 วัน) ผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบปกติ (ขอใหม่) ซึ่งเป็นแบบที่มีความซับซ้อน ใช้เวลาอนุมัติไม่เกิน 30 วัน (จากเดิมใช้เวลาอนุมัติ 60 วัน) ผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบปกติ (ขอต่ออายุ)  ซึ่งเป็นแบบที่ไม่ซับซ้อน ใช้เวลาอนุมัติไม่เกิน 7 วัน (จากเดิมใช้เวลาอนุมัติ 15 วัน) ผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบปกติ (ขอต่ออายุ) ซึ่งเป็นแบบที่ซับซ้อน ใช้เวลาอนุมัติไม่เกิน 30 วัน (จากเดิมใช้เวลา 60 วัน) เป็นต้น ทั้งนี้ คาดว่า กระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่จะสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมภายในปีนี้

ส่วน ประเด็นที่สอง คือ การปรับปรุงสัญญาประกันสุขภาพมาตรฐาน เพื่อให้รองรับกับเทคโนโลยีและวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงไป มีแนวปฏิบัติที่เป็นแนวทางเดียวกัน และสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะในเรื่อง รายการความคุ้มครอง ต้องกำหนดเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชนิดหรือประเภทของการรักษาพยาบาล ยา และเวชภัณฑ์ การบริการทางการแพทย์ฯ รวมทั้ง การปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้ยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าควบคุม จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงสัญญาประกันสุขภาพ โดยสำนักงาน คปภ. ได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงานร่างสัญญามาตรฐาน ประกอบด้วย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย แพทย์ที่ปรึกษา นักวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

โดยที่ผ่านมา ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างสัญญาประกันสุขภาพมาตรฐานจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุม CEO Forum ครั้งที่ผ่านมา (เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562) ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้นำข้อสรุปและประเด็นข้อคิดเห็นมาปรับปรุงและดำเนินการต่อยอดเพื่อให้ร่างสัญญาประกันสุขภาพมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่งสาระสำคัญของการปรับปรุง อาทิเช่น ปรับปรุงหมวดรายการผลประโยชน์ความคุ้มครองให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งธุรกิจ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ลดการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ซ้ำซ้อน ประชาชนสามารถเปรียบเทียบผลประโยชน์ความคุ้มครองและเลือกซื้อได้อย่างเหมาะสมตรงตามความต้องการ สำหรับคำนิยาม เงื่อนไข และข้อยกเว้นของสัญญา ได้มีการพิจารณาปรับปรุงให้เกิดความชัดเจน เพื่อให้การนำไปใช้เป็นแนวทางเดียวกัน

นอกจากนี้ เพื่อให้ระบบการประกันสุขภาพครบถ้วนสมบูรณ์ จึงได้เตรียมการในเรื่องจัดทำฐานข้อมูลประกันสุขภาพที่เป็นมาตรฐาน เพื่อใช้ประโยชน์ในเรื่องการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถิติ การพัฒนาระบบการประกันสุขภาพ และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เอาประกันภัยในการเรียกร้องค่าสินไหมในอนาคตด้วย

สำหรับ ขั้นตอนหลังจากการประชุมทางสำนักงาน คปภ. จะได้รวบรวมทุกความเห็นและข้อเสนอแนะให้คณะทำงานฯนำไปวิเคราะห์ในการปรับปรุงกระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัย และปรับปรุงแบบสัญญาประกันสุขภาพมาตรฐาน ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์และดำเนินการไปในแนวทางเดียวกันเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมประกันภัยไทยให้มีความเข้มแข็ง ก้าวทันตลาด ทำให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการและถึงมือผู้บริโภคได้รวดเร็วขึ้น อีกทั้ง สะท้อนความเสี่ยง ต้นทุนที่แท้จริง และความพร้อมของบริษัท รวมทั้งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่