นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ในปี 2561 ธุรกิจประกันชีวิตยังเติบโตได้ดีเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น และสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมาย โดยมีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม ตั้งแต่ มกราคม – ธันวาคม 2561 ทั้งสิ้น 627,387 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 4.3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จำแนกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรายใหม่ (New Business Premium) 180,415 ล้านบาท เติบโต 7.5% เป็นเบี้ยประกันชีวิตรับปีแรก 95,684.3 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราการเติบโตลดลง 7.22% เบี้ยประกันภัยรับจ่ายครั้งเดียว 84,730.7 ล้านบาท เติบโต 30.96% เบี้ยประกันชีวิตปีต่อไป (Renewal Year Premium) 446,972 ล้านบาท เติบโต 3.01% โดยมีอัตราการคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิต 83% คิดเป็นสัดส่วนเบี้ยประกันชีวิตต่อ GDP (Insurance Penetration Rate) 3.9% เท่ากับปีที่ผ่านมาและคิดเป็นเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงต่อประชากร (Insurance Density) จำนวน 9,447 บาท/คน เติบโต 3.9% โดยในปี 2560 อยู่ที่ 9,091 บาท/คน
สำหรับสัดส่วนเบี้ยประกันภัยรับเมื่อแยกตามช่องทางการจำหน่าย ปี 2561 ช่องทางที่สามารถสร้างเบี้ยอันดับ 1 ยังคงเป็นช่องทางการขายผ่านตัวแทนประกันชีวิต จำนวน 305,478.4 ล้านบาท หรือคิดสัดส่วน 48.7% เติบโตขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา อันดับ 2 การขายผ่านธนาคาร จำนวน 280,458.8 ล้านบาท สัดส่วน 44.7% เติบโตขึ้น 3.8% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา อันดับ 3 เป็นช่องทางการตลาดแบบตรง มีเบี้ย 14,333.9 ล้านบาท สัดส่วน 2.3% เติบโตลดลง 2.8% และอันดับ 4 การขายผ่านช่องทางอื่นๆ 27,115.8 ล้านบาท สัดส่วน 4.3% เติบโตขึ้น 30.7% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ปี 2562 คาดว่าธุรกิจประกันชีวิตจะยังคงมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องเพิ่มขึ้นประมาณ 3-5% หรือ มีเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 648,000-650,000 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจในประเทศที่จะขยายตัว 4% ตามการคาดการณ์ของภาครัฐ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งเสริมด้านการลงทุนของภาครัฐกับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การลงทุนของภาคเอกชน ตลอดจนการขยายตัวของการท่องเที่ยว และการปรับตัวดีขึ้นของสินค้าเกษตร รายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้การบริโภคของภาคเอกชนมีการขยายตัว
นอกจากนี้แล้วยังมีปัจจัยส่งเสริมโดยตรงจากภาครัฐและหน่วยงานกำกับ เพื่อให้ธุรกิจประกันชีวิตสามารถแข่งขันได้อย่างเสรี อาทิ การปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิตให้มีความเหมาะสมต่อการดำเนินงานในปัจจุบัน การผ่อนคลายกฏระเบียบเรื่องการลงทุนของภาคธุรกิจ มาตรการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจยื่นขอความเห็นชอบกรมธรรม์แบบอัตโนมัติมากขึ้น เพื่อลดระยะเวลาในการอนุมัติแบบประกัน การส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันชีวิตแก่ประชาชนโดยทั่วไป ให้ตระหนักถึงประโยชน์ของการทำประกันชีวิต การวางแผนสุขภาพของประชาชนในระยะยาวกับการส่งเสริมการดูแลสุขภาพด้วยสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลจากเบี้ยประกันภัยสุขภาพจำนวน 15,000 บาท และล่าสุดกับมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ในการควบคุมราคาค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ พร้อมด้วยปัจจัยสนับสนุนจากการแข่งขันของภาคธุรกิจทั้งในเรื่องของผลิตภัณฑ์ การบริการและช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย
ส่วนทิศทางธุรกิจประกันชีวิตในปีนี้ ผลิตภัณฑ์ Single Premium และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุนยูนิตลิงก์ (Unit- Linked ) ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจประกันชีวิตเพิ่มมากขึ้น จึงให้ความสนใจทั้งในเรื่องของความคุ้มครองและแสวงหาช่องทางการลงทุนแบบใหม่เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2561 ที่ผ่านมาธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันภัยรับรวมจากผลิตภัณฑ์นี้สูงกว่าปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง จึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมทั้งกิจกรรมที่ส่งเสริมและเชื่อมต่อกับประกันสุขภาพเพื่อให้คนไทยหันมาใส่ใจและดูแลสุขภาพของตัวเองในระยะยาว และการมุ่งสู่โลกดิจิทัลทั้งในเรื่องข้อมูล การให้บริการตลอดจนการขายผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ การพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพให้กับคนกลางประกันภัยอย่างสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ตามธุรกิจประกันชีวิตยังคงเผชิญกับความท้าทาย ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ลดลงอันสืบเนื่องจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่า รวมทั้งภาวะความกดดันจากหลักเกณฑ์และกติกาสากล ในเรื่องมาตรฐานรายงานทางบัญชีและการเงิน IFRS 9, IFRS 17 และร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ… (Privacy Law) สืบเนื่องจากการมีผลบังคับใช้ของกฎเกณฑ์ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (General Data Protection Regulation (GDPR) (EU)) ซึ่งมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 โดยกฎเกณฑ์ดังกล่าวมีหลักเกณฑ์ควบคุมและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนในสหภาพยุโรป และมีสภาพบังคับไม่จำกัดเฉพาะต่อประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปเท่านั้น ยังอาจส่งผลกระทบในหลายๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย ตลอดจนการกำกับจากหน่วยงานภาครัฐผ่านกฎระเบียบ และร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ …) พ.ศ… การยกระดับพฤติกรรมทางการตลาดของธุรกิจประกันชีวิต (Market Conduct) ที่ส่งผลให้ยอดขายผ่านช่องทางธนาคารลดลง การปรับตารางมรณะใหม่ การเผชิญกับอัตราความเสียหาย (Loss Ratio) จากคนกลางและการฉ้อฉลประกันภัย (Fraud & Abuse) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจประกันสุขภาพ
นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ปี 2562 จะไม่ได้เป็นปีหมูทองสำหรับธุรกิจประกันชีวิต จากเหตุที่ต้องพบกับปัจจัยท้าทายที่รออยู่ หากแต่เชื่อมั่นว่าธุรกิจประกันชีวิตก็จะยังคงเติบโตได้ดี เพราะมีการตั้งรับและเตรียมตัวอย่างดี มีความร่วมมือของทั้งภาคอุสาหกรรม โดยมีสมาคมประกันชีวิตไทยเป็นแกนกลางในการประสานพันธกิจต่างๆ ที่เป็นปัจจัยท้าทาย ทั้งในรูปแบบรับฟังความคิดเห็น การจัดตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อยโดยมีคณะกรรมการบริหารสมาคมเป็นประธานเพื่อกำกับและติดตามงานอย่างใกล้ชิด อาทิ การปรับปรุงและพัฒนากรมธรรม์ประกันสุขภาพ รวมถึงพัฒนาระบบฐานข้อมูลการประกันภัย (Insurance Bureau System: IBS) เพื่อประโยชน์ในการวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ประกันชีวิต การแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ …) พ.ศ… คนกลางประกันภัยและการฉ้อฉลประกันภัย ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ… (Privacy Law) , การร่างแนวปฎิบัติกับสภาวิชาชีพเรื่องมาตรฐานการรายงานทางการเงิน กลุ่มเครื่องมือทางการเงิน (International Financial Reporting Standards : IFRS 9) การกำหนดมาตรการร่วมกันในการบริหารจัดการองค์กรและคนกลางเพื่อยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) เพื่อสร้างความเชื่อใจ และป้องกันปัญหาข้อร้องเรียนในอนาคต อันเป็นการสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจประกันชีวิตต่อไป