ไทยพัฒนาประกันภัย ทำธุรกิจต้องไม่โลภ แม้โลกเปลี่ยน เราก็อยู่รอด

0
1309

           “ผมเริ่มเข้ามาทำงานที่นี่ตั้งแต่อายุ 24 ปี จนถึงวันนี้ก็ทำมา 40 ปีแล้ว เห็นการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจประกันภัยมามาก บริษัทประกันวินาศภัยจากมากกว่า 70 บริษัท จนมาถึงวันนี้เหลืออยู่แค่ 58 บริษัท เห็นบริษัทถูกปิดไปกว่า 10 บริษัท แล้วก็คิดว่าจะลดลงเรื่อยๆด้วยการขายหรือควบรวมกัน ส่วนเรื่องถูกปิดบริษัท คงจะไม่ค่อยได้เห็นมากเหมือนเมื่อก่อน เพราะกฎระเบียบของคปภ.ค่อนข้างแน่น จึงทำให้บริษัทประกันมีความเข้มแข็งมากขึ้นกว่าแต่ก่อน” คุณไพศาล คุนผลิน กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยพัฒนาประกันภัย จำกัด(มหาชน)บอกไว้อย่างนี้

           *วันนี้ บริษัทไทยพัฒนาประกันภัย มีคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนรุ่นที่3 เข้ามาทำหน้าที่บริหาร ผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ว่านี้ก็คือ คุณอัฐพงษ์ คุนผลิน ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายกิจการสาขา,คุณภูมิ คุนผลิน ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ และคุณบลู๊ค คุนผลิน ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ถือเป็นการผสมผสานการทำงานเชื่อมต่อจากคนรุ่นที่2 คือคุณไพศาลที่เป็นพ่อนั่นเอง

คุณไพศาลบอกว่า ไทยพัฒนาประกันภัยเป็นบริษัทเล็กๆ หลายๆ คนมักจะคิดว่าเราอาจจะอยู่ไม่ได้ แต่เรากลับมองว่า เราอยู่ได้ในแบบของเรา เราทำธุรกิจแบบไม่โลภ เรามีวิธีการทำตลาด และมีลูกค้าในแบบของเรา เราแข่งขันได้ในสไตล์ของเรา แม้ตลาดจะแข่งขันกันสูง แต่เราก็มีกำไร เราอยู่ได้

“วันนี้ตลาดเปลี่ยนไปมาก เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท คนรุ่นเก่าอย่างผม ที่เคยนั่งบริหาร เคยทำตลาด วันนี้ต้องมานั่งเป็นผู้ช่วยแล้ว คือมาเป็นที่ปรึกษา เป็นเทรนเนอร์ ให้กับลูกหลาน ซึ่งเป็น ผู้สืบทอดในรุ่นที่ 3 “

เขาบอกว่า ไทยพัฒนาประกันภัยโชคดี ได้ลูกหลาน ที่เป็นคนรุ่นใหม่ 3 คน 3 แรงแข็งขัน แม้วันนี้ เขายังไม่เก่งพอที่จะปล่อยให้เขาทำกันเองได้ แต่ก็คงใช้เวลาอีกไม่นาน เพราะทั้ง 3 คน เก่งคนละด้าน เรียนจบเมืองนอกกันหมด ทุกคนต้องเรียนรู้ในทุกด้าน ทุกฝ่ายในบริษัท ประกันภัยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกอย่างมันคือความเสี่ยง

“ผมบอกเขาเสมอว่า ไม่ต้องรีบ แม้เทคโนโลยีเปลี่ยน ตลาดเปลี่ยน ผู้บริโภคเปลี่ยน เราค่อยๆ ขยับ และปรับตัวไป รับรองเราอยู่รอด”คุณไพศาลมั่นใจว่า แม้ธุรกิจจะเปลี่ยนไปมากตามเทคโนโลยี่ แต่บริษัทฯอยู่ได้อย่างแน่นอน

          *ขณะที่ 3 หนุ่มผู้บริหารรุ่นใหม่ก็มั่นใจเช่นเดียวกัน โดยคุณภูมิบอกว่า เข้ามาช่วยดูแล5 ปีมาแล้ว เริ่มต้นด้วยการพัฒนาระบบภายใน นำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยงานระบบหลังบ้าน โดยได้คุณบรู๊คดูแลเรื่องนี้ทั้งระบบ ทำด้วยตัวเอง เพราะมีความสามารถด้านนี้ ขณะที่คุณอัฐพงษ์ พี่คนโตดูภาพรวม ส่วนตัวเขาเองรับผิดชอบการตลาดโดยเฉพาะตลาดภูมิภาค

          “ผมมองว่า เมื่อเราเป็นบริษัทเล็ก ๆ เราจะแข่งกับคนอื่นได้ เราต้องใช้เรื่องบริการแบบเข้าถึง และง่ายต่อการติดต่อของลูกค้า เราจึงให้ความสำคัญมากกับการที่ต้องมีสาขาที่กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ วันนี้เรามี 32 สาขาทั่วประเทศ และจะขยายเพิ่มด้วย ผมเชื่อว่า การที่มีสาขาให้ลูกค้าได้มาติดต่อได้เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า”

            เขาบอกว่า หลายคนมองว่า มีสาขามาก ต้นทุนก็มากตาม แต่เรายอมทำแบบนี้ เราอาจได้กำไรน้อยหน่อย แต่เราได้คุณภาพที่ดีเรื่องการบริการ ลูกค้าประทับใจ และจะอยู่กับเราไปนานๆ ลูกค้าบอกปากต่อปาก อย่างบริการเสริมของเรา มีแม้กระทั่งประกันรถยนต์ชั้น 3 พลัส โดยมีบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน จะเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องทำประกันภัยประเภท 1 ถึงจะได้รับบริการแบบนี้ นี่คือจุดเด่นของเรา

           *ส่วนประกันอื่นๆอย่าง Non Motor เรามีประกันอิสรภาพติด1ใน3ของบริษัทประกันทั้งหมด ถือเป็นสินค้าฮีโร่ของไทยพัฒนา แล้วกำไรด้วย อีกตัวหนึ่งคือ พ.ร.บ.เรือโดยสาร ซึ่งโดดเด่นมาก ขณะเดียวกัน ก็จะขยายตลาดประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันอัคคีภัยบ้าน และ ประกันภัยในกลุ่ม SME ด้วย

           “การทำยอดเบี้ยประกัน ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ ลดราคาแข่งก็ได้แล้ว แต่เราไม่ทำ เราทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เราอยู่ระหว่างการปรับลุคขององค์กร เราเป็นคนรุ่นที่ 3 ของไทยพัฒนาประกันภัย เราเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ต้องสืบทอดการบริหารจากรุ่น ปู่ ย่าตายาย มารุ่น พ่อแม่ และ มาสู่รุ่นเรา 3 คน ในวันนี้ แม้กฎระเบียบของหน่วยงานกำกับ กฎระเบียบทางการตลาด พฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงสังคมเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี แม้เราจะหนักใจอยู่บ้างในเรื่องกฎเกณฑ์ ข้อกำหนดทางกฎหมาย แต่เรามั่นใจว่า เราจะอยู่ได้ ในแบบของเรา”

          “เราจะเป็นบริษัทเล็กๆ แต่แข็งแรง สิ่งที่เราได้รับการปลูกฝังมาก็คือ ทำธุรกิจจะต้องมีกำไรบ้าง แต่ไม่ต้องมาก ไม่ต้องใหญ่มากเกินตัว นี่คือคำสอนของพ่อแม่เรา เราจึงอยากเป็นบริษัทประกันที่เล็กแต่แจ๋ว ” คุณภูมิบอกไว้เช่นนี้

           นี่คือ “ไทยพัฒนาประกันภัย” บริษัทประกันวินาศภัยขนาดเล็กอีกบริษัทหนึ่ง ที่มีสไตล์การทำงานของตนเอง และเป็นบริษัทที่มีการสืบทอดการทำงานจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเราต้องติดตามดูกันต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่