คปภ.เปิดตัวโครงการอบรมความรู้ประกันภัยนาข้าว-ข้าวโพด ปี 62 พร้อมแอพฯ“กูรูประกันข้าว”

0
112

          ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากการที่ ครม.มีมติเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา คปภ.ได้เปิดโครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2562 เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้แก่เจ้าหน้าที่ ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายครอบคลุมในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา นครสวรรค์ ชัยนาท เพชรบูรณ์ น่าน เชียงราย ขอนแก่น อุบลราชธานี นครพนม และนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ได้กำหนดจัดอบรมครั้งแรกของปีนี้ ที่จังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 3-4 เมษายน 2562

         โดยรูปแบบของการถ่ายทอดองค์ความรู้ตามโครงการฯ คณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ผู้บริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย และคณะวิทยากร จะมีการลงพื้นที่ที่จะมีการจัดอบรมก่อน 1 วัน เพื่อเก็บข้อมูล พร้อมรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และสภาพปัญหาของเกษตรกร เพื่อนำมาเป็นข้อมูลและแนวทางในการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนประกันภัยพืชผลชนิดอื่นๆให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ในส่วนของวันจัดอบรมจะเป็นการบรรยายความรู้ด้านการประกันภัยให้กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆที่จะเป็นผู้ไปถ่ายทอดความรู้ต่อให้กับเกษตรกร และมีการเสวนาร่วมกับวิทยากรจาก 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำประกันภัย รวมทั้งการเสวนาแนวทางการปฏิบัติ  ปัญหา และอุปสรรคของโครงการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พร้อมยกกรณีศึกษาเพื่อถอดบทเรียนและแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป

          ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากโครงการประกันภัยข้าวนาปี ของปีที่ผ่านมา จึงมีความโดดเด่นและมีไฮไลท์ที่สำคัญ 3 ประการ คือ ประการแรก รัฐบาลมีหลักการให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย โดยสามารถซื้อหรือทำประกันภัยเพิ่ม เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองมากขึ้น ประการที่สอง เพิ่มความคุ้มครอง “ภัยช้างป่า” เข้ามาอีก 1 ภัย ทำให้สามารถคุ้มครองความเสี่ยงภัยให้กับเกษตรกรได้ถึง 8 ประเภท จากเดิมที่ครอบคลุมภัยจากน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยแมลงศัตรูพืชหรือโรคระบาด ประการที่สาม อัตราค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่ 1) อยู่ที่ 85 บาทต่อไร่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลอุดหนุน 51 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุน 34 บาทต่อไร่ จากเดิมมีอัตราเบี้ยประกันภัย 90 บาทต่อไร่ มีความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่1) อยู่ที่ 1,260 บาทต่อไร่ ส่วนภัยจากศัตรูพืชหรือ โรคระบาด 630 บาทต่อไร่ เกษตรกรที่จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับความคุ้มครองส่วนเพิ่ม (ส่วนที่2) ตามพื้นที่ความเสี่ยงภัย

           แบ่งตามเขตพื้นที่ ถ้าเป็นพื้นที่สีแดงมีความเสี่ยงภัยสูง 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร นครศรีธรรมราช นราธิวาส พัทลุง จ่ายเบี้ยประกันภัย 25 บาทต่อไร่ พื้นที่สีเหลืองมีความเสี่ยงภัยปานกลาง  17 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา นครสวรรค์ นนทบุรี บึงกาฬ ปราจีนบุรี มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด ลพบุรี สกลนคร สงขลา สระแก้ว สุโขทัย อ่างทอง อุตรดิตถ์ จ่ายเบี้ยประกันภัย 15 บาทต่อไร่ และพื้นที่ สีเขียว 56 จังหวัดที่เหลือ จ่ายเบี้ยประกันภัย 5 บาทต่อไร่ โดยมีความคุ้มครองส่วนเพิ่ม (ส่วนที่ 2) อยู่ที่ 240 บาทต่อไร่ ส่วนภัยจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด 120 บาทต่อไร่ ดังนั้นเกษตรกรที่ทำประกันภัย (ส่วนที่ 1 + ส่วนที่ 2) ในคราวเดียวกัน จะได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 1,500 บาทต่อไร่ และจะได้รับความคุ้มครองจากภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 750 บาทต่อไร่

         ในส่วนของการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฯ กำหนดอัตราค่าเบี้ยประกันภัย 59 บาทต่อไร่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลอุดหนุน 35 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุน 24 บาทต่อไร่ มีความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่1) 1,500 บาทต่อไร่ ส่วนภัยจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด 750 บาทต่อไร่เกษตรกรที่จ่ายค่าเบี้ยประกันภัย สำหรับความคุ้มครองส่วนเพิ่ม (ส่วนที่2) ตามพื้นที่ความเสี่ยงภัย ถ้าเป็นพื้นที่สีแดงมีความเสี่ยงภัยสูง 8 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ เชียงราย นครราชสีมา นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร ลพบุรี อุตรดิตถ์ จ่ายเบี้ยประกันภัย 23 บาทต่อไร่ พื้นที่สีเขียว มีความเสี่ยงภัยน้อย 24 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี เชียงใหม่ ตราด นครพนม ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี ระยอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สระแก้ว สุพรรณบุรี หนองบัวลำภู อุดรธานี อุทัยธานี อุบลราชธานี และพื้นที่สีเหลืองมีความเสี่ยงภัยปานกลาง 45 จังหวัดที่เหลือ จ่ายเบี้ยประกันภัย 10 บาทต่อไร่

          ทั้งนี้มีความคุ้มครองส่วนเพิ่ม (ส่วนที่2) อยู่ที่ 240 บาทต่อไร่ ส่วนภัยจากศัตรูพืช หรือ โรคระบาด 120 บาทต่อไร่ ดังนั้นเกษตรกรที่ทำประกันภัย (ส่วนที่ 1+ส่วนที่2) ในคราวเดียวกัน จะได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 1,740 บาทต่อไร่ และจะได้รับความคุ้มครองจากภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 870 บาทต่อไร่ ทั้งนี้ เกษตรกรทั้งที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. และที่เป็นเกษตรกรทั่วไป สามารถเลือกซื้อความคุ้มครองได้จากบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 จำนวน  24 บริษัท

          นอกจากนี้ คปภ. ได้จัดทำ Mobile Application ภายใต้ชื่อ “กูรูประกันข้าว” เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ด้านประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยแบ่งออกเป็น 6 ฟังก์ชัน คือ 1. ข้อมูลเกี่ยวกับประกันภัยข้าวนาปี โดยระบุรายละเอียดของการทำประกันภัย ตั้งแต่การขึ้นทะเบียน/ปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร การซื้อประกันภัย ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ 2.ข้อมูลเกี่ยวกับประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่การขึ้นทะเบียน/ปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร การซื้อประกันภัย ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ รวมถึงการแจ้งข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการทำประกันภัยข้าวนาปีและประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกรได้ทราบความเคลื่อนไหวต่างๆ  3. ตรวจสอบสถานะทำประกันภัย โดยบูรณาการข้อมูลกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อเชื่อมต่อ Website“มะลิ”ในการตรวจสอบสถานะทำประกันภัยข้าวนาปีของเกษตรกรว่าการประกันภัยของเกษตรกรอยู่ในสถานะใด เช่น อยู่ในพื้นที่ประกาศภัย การรอจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรือคืนเบี้ยประกันภัย

         4. การสร้างความตระหนักรู้ด้านการประกันภัยของเกษตรกรผ่านความเสี่ยงของพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร ด้วยระบบ GPS โดยระบุพื้นที่ความเสี่ยงตามความเสียหายที่มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในปีการผลิต 2561 ที่ผ่านมา และสามารถแสดงผลได้ถึงระดับตำบล 5. การแสดงข้อมูลราคาพืชผลทางการเกษตร การแจ้งเตือนภัยธรรมชาติแหล่งความรู้เรื่องการเกษตรอื่นๆ จาก“แผ่นดินทอง”ซึ่งเป็น Website ให้ความรู้ด้านการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และ 6. ช่องทางการติดต่อหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการให้ความรู้แก่ประชาชนด้านการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ สำนักงาน คปภ.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และสมาคมประกันวินาศภัยไทย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่