“น่านแซนด์บ๊อกซ์”รวมพลังรัฐ-ประชาชนจัดสรรผืนป่าตั้ง“มูลนิธิรักษ์ป่าน่าน”ช่วยเกษตรกรช่วงเปลี่ยนผ่าน

0
663

          จากโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” ที่ คุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย ผลักดันให้เกิดในปี  2557 เพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า กว่า 1.8 ล้านไร่ จากพื้นที่รวม 6.4 ล้านไร่ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะพื้นที่จังหวัดน่านถูกประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติถึง 85% โดยประกาศหลังจากชาวบ้านเข้าไปอยู่อาศัยทำกินมาก่อนแล้ว อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะเกษตรกรต้องการมีรายได้สูงขึ้น จึงขยายพื้นที่เพื่อปลูกข้าวโพดซึ่งเป็นพืชปลูกง่าย มีการปล่อยสินเชื่อ มีตลาดรองรับอย่างเป็นระบบ ทำให้ป่าต้นน้ำแหล่งกำเนิดของแม่น้ำน่านแม่น้ำสายหลักที่เติมน้ำให้กับแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกทำลายไปถึง 28% ภายในเวลาเพียง 10 ปี ขณะที่เกษตรกรยังคงเป็นหนี้และมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

           รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตระหนักว่าเป็นปัญหาคาราคาซังที่ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ต้องร่วมมือกันแก้ไข จึงเห็นควรให้มีการทดลองวิธีแก้ปัญหารูปแบบพิเศษ อนุมัติให้จังหวัดน่านเป็นตัวอย่างโครงการทดลอง (Nan Sandbox) จัดการปัญหาป่าต้นนํ้าเสื่อมสภาพภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการดำเนินงานพื้นที่จังหวัดน่าน โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการภาครัฐ นายบัณฑูร ล่ำซำ เป็นประธานกรรมการภาคเอกชน ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นรองประธานกรรมการ

โดยกำหนดเป้าหมาย และแผนการดำเนินงาน ดังนี้

  1. แก้ไขปัญหาด้านที่ดิน-ป่าไม้ เพื่อให้ประชาชนอยู่อาศัยถูกต้องตามกฎหมาย และปรับคืนพื้นที่มาเป็นสภาพป่า
  2. จัดหาเงินทุนสนับสนุนการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตทางการเกษตรและการเลี้ยงชีพในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน
  3. ปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรเชิงเดี่ยวไปสู่การผลิตหรืออาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีรายได้เพียงพอ และยกระดับคุณภาพชีวิต

         ตลอดปี 2561 คุณบัณฑูร ในฐานะประธานคณะดำเนินงานได้ร่วมประชุมกับผู้นำ 99 ตำบล เพื่อหารือถึงการจัดสรรพื้นที่ทำกิน  โดยร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สนเทศ (Gisda) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการใช้ข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศเพื่อให้แต่ละตำบลตรวจสอบว่า ถูกต้องหรือไม่ พร้อมทั้งให้ประชาชนเสนอวงเงินที่จำเป็นต้องการใช้ในการเปลี่ยนผ่านจากช่วงเวลาที่ต้องหยุดปลูกเพื่อเริ่มต้นปลูกพืชอื่นๆที่เหมาะสมมีราคาสูงกว่าข้าวโพด ซึ่งข้อเสนอต้องอยู่ภายใต้หลักการ “รัฐได้ป่า ประชาชนได้ทำกิน” เพื่อกำหนดเป็นกติกาทั้งจังหวัดเพื่อความเท่าเทียม

ผลการประชุมของคณะทำงาน ได้ข้อสรุปเรื่องการบริหารจัดการเพื่อการรักษาและฟื้นฟูป่าต้นน้ำตามสัดส่วนดังนี้

          72% คือพื้นที่ที่ยังคงเป็นป่าสงวนในปัจจุบัน ซึ่งต้องช่วยกันรักษาให้คงอยู่ต่อไป

          18% คือพื้นที่จะต้องนำกลับมาฟื้นฟูให้เป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ โดยรัฐบาลอนุญาตให้ปลูกพืชเศรษฐกิจใต้ต้นไม้ใหญ่ได้

          10% คือพื้นที่ยังคงเป็นป่าสงวน แต่ให้สิทธิ์เกษตรกรทำกินได้ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจตามต้องการ

           “ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ปรากฏการณ์ที่ภาครัฐกับประชาชนร่วมกันหาข้อสรุปในจัดสรรพื้นที่ป่า  ซึ่งเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญที่ต้องช่วยกันข้ามไปให้ได้เมื่อเกษตรกรมั่นใจว่าที่ทำกินถูกต้องตามกฎหมาย    ก็จะนำไปสู่ก้าวต่อๆไป ทั้งการระดมความรู้จากทุกภาคส่วนเพื่อศึกษาและเตรียมพืชเพราะปลูกที่เหมาะสม การหาแหล่งเงินทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงเปลี่ยนผ่าน การนำความรู้จากทุกศาสตร์มาปรับเปลี่ยนวิถีเกษตร เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในทุกมิติ”

           สำหรับแผนงานปี 2562 เป็นการหาเงินทุนสนับสนุน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน เพราะการให้เกษตรเปลี่ยนวิถีทำมาหากิน จากปลูกข้าวโพด มาเป็นพืชอื่นๆ จำเป็นต้องมีเงินมาช่วยในช่วงรอยต่อที่ไม่มีรายได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่เสนอรัฐบาลมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าถ้าเป็นงบจากรัฐบาล ขั้นตอนต่างๆจะยุ่งยากไม่คล่องตัว   ทางออกที่ดีที่สุดคือเป็นเงินสนับสนุนจากข้างนอก จากคนที่เขาอยากจะช่วย เป็นเงินกองทุนเข้า “ มูลนิธิรักษ์ป่าน่าน” โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพื่อช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรเลิกปลูกพืชแบบเดิมๆที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำ  เป็นพืชแบบใหม่ๆให้ได้ ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการคิดว่าจะนำเสนออย่างไรให้ทั้งในประเทศและต่างประเทศเห็นความสำคัญ แต่ตอนนี้ยังไม่ต้องรีบใช้ เพราะทุกคนยังทำเหมือนเดิม ต้องเจรจาจัดสรรพื้นที่ให้เรียบร้อยก่อน แล้วจึงมาหาข้อตกลงว่าจะช่วยกันเปลี่ยนผ่านอย่างไร

           “วันนี้มีทางออกที่ดีที่สุด ประชาชนมีพื้นที่ทำกินถูกต้องตามกฎหมาย มีวิถีการทำมาหากินที่สูงขึ้น รัฐบาลไฟเขียวมาแล้ว กลไกภาครัฐพร้อมลงพื้นที่ ข้อมูลเบื้องต้นเก็บมาพร้อม แต่ยังเจอโจทย์ยาก คือ ต้องหาทางพาชุมชนทั้งจังหวัดไปสู่การทำมาหากินในระดับที่สูงขึ้น ถ้าไม่ทำก็จะไม่พ้นจากวังวนเดิม โจทย์นี้ถือว่ายังอีกไกลแต่เราก็มาได้ไกลเกินกว่าที่คิด  และยังจะต้องไปอีกไกล”  คุณบัณฑูรกล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่