KTC จับเข่าคุย“ความเสี่ยงหนี้นอกระบบ” คาด Q3 ได้ฤกษ์ลุยนาโน-พิโกไฟแนนซ์

0
213

“ปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา  จากตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 12.83 ล้านล้านบาท คิดเป็น 77.5-79.5 %  ของจีดีพี   พบว่าเป็นหนี้นอกระบบสูงถึง 5% หรือ  6.4 แสนล้านบาท โดยผู้ที่ลงทะเบียนถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1.33 ล้านคน  เป็นหนี้นอกระบบ  86,000 ล้านบาท  เฉลี่ย 64,600 บาทต่อคน  โดยจำยอมจ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 20 % ต่อเดือน  เพราะเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนในระบบ” นายชุติเดช  ชยุติ  รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส – คอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเสวนาปันความรู้ #KTC FIT Talks 5: จับเข่าคุย เล่าความเสี่ยงหนี้นอกระบบ

ภาครัฐโดยกระทรวงการคลังตระหนักดีถึงความรุนแรงของปัญหา กรณีลูกหนี้ไม่มีเงินชำระหนี้ เจ้าหนี้อาจใช้วิธีการตามทวงที่รุนแรง จึงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งนาโนไฟแนนซ์ (Nano Finance)  และพิโกไฟแนนซ์ (Pico Finance)  เพื่อปล่อยสินเชื่อให้รายย่อยได้ง่ายขึ้น  โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ รวมแล้วไม่เกินอัตราร้อยละ 36 ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอกEffective Rate)

“นาโนไฟแนนซ์” (Nano Finance) หรือ สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ ซึ่งบุคคลธรรมดาที่มีรายได้น้อยหรือเจ้าของกิจการขนาดเล็ก สามารถขอสินเชื่อได้โดยไม่ต้องมีเอกสารแสดงแหล่งที่มาของรายได้อย่างชัดเจน  ไม่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกัน  หรือไม่เคยมีข้อมูลสามารถแสดงประวัติในการชำระหนี้ โดยกำหนดวงเงินสินเชื่อสูงสุดรายละไม่เกิน 100,000บาท ซึ่งตัวเลขเมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2562 มีผู้ประกอบการที่ปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ทั้งสิ้น 33 ราย จำนวนบัญชีที่ได้รับสินเชื่อนาโน ไฟแนนซ์ทั้งสิ้นเท่ากับ 1.91 ล้านบัญชี และมียอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 30,669 ล้านบาท

“พิโกไฟแนนซ์” (Pico Finance) หรือ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ เป็นสินเชื่ออเนกประสงค์ให้บุคคลธรรมดากู้ยืมไปใช้จ่ายส่วนตัว เช่น ชำระค่าเทอม ค่ารักษาพยาบาล   ใช้คืนเงินกู้นอกระบบ หรือนำไปลงทุนในกิจการเล็กๆ  โดยผู้ขอสินเชื่อจะมีทรัพย์สินหรือไม่มีทรัพย์สินเป็นหลักประกันก็ได้ แต่ต้องมีทะเบียนบ้านหรือมีที่อยู่อาศัยปัจจุบัน หรือทำงานในจังหวัดที่สำนักงานใหญ่ของผู้ให้กู้ตั้งอยู่

โดยล่าสุดกระทรวงการคลัง ปรับปรุงหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ วงเงินรวมสินเชื่อจาก 50,000 บาทเป็นไม่เกิน100,000 บาทต่อราย โดยวงเงินส่วนที่เกิน 50,000 บาท จะคิดอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมอื่นๆรวมแล้วไม่เกินอัตราร้อยละ 28 ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอก Effective Rate)  โดยสิ้นเดือนมีนาคม 2562 มีผู้ประกอบการที่ปล่อยสินเชื่อพิโก ไฟแนนซ์แล้ว 443 ราย ใน 64จังหวัด โดยมียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมเท่ากับ 76,787 บัญชี และมียอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 599.56 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโก ไฟแนนซ์ สามารถรับสมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นหลักประกัน

นายชุติเดช  กล่าวเพิ่มเติมว่า เคทีซีได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทย เตรียมความพร้อมในการขยาย ทั้ง 3 ธุรกิจ คือ นาโนไฟแนนซ์ พิโกไฟแนนซ์ และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขอใบอนุญาตประกอบกิจการจากกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)  และคาดว่าจะเริ่มดำเนินธุรกิจได้ในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งถือเป็นการขยายฐานกลุ่มลูกค้าเป้าหมายกลุ่มใหม่ช่วยเพิ่มโอกาสขยายตัวของสินเชื่อในอนาคต และคาดว่าจะเป็นหัวหอกในการขยายฐานรายได้ใหม่ (New S-curve) เพิ่มเติมจากการทำธุรกิจหลักบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล

โดยเคทีซี ยังคงมุ่งให้ความสำคัญกับการรักษาพอร์ตลูกหนี้โดยรวมให้มีคุณภาพที่ดี โดยจะควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ในอัตราที่ต่ำ เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคที่ขอสินเชื่อ และเพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระหนี้ครัวเรือนให้กับภาครัฐและภาคสังคมโดยรวม

นายพรเลิศ เบญจกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทวินเพอร์มานซ์ จำกัด ผู้ให้บริการติดตามหนี้และด้านกฎหมาย ตัวแทนติดตามทวงถามหนี้ของลูกค้าเคทีซี เปิดเผยถึงการติดตามหนี้ของกลุ่มลูกค้านาโนไฟแนนซ์และพิโกไฟแนนซ์ ว่าจะใช้หลักการเดียวกับหนี้บัตรเครดิต เพียงแต่ปรับวิธีและรูปแบบให้มีความเหมาะสมและเป็นไปตามกฎหมาย  เช่น พรบ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ที่จะประกาศเพิ่มเติม ให้ผู้ทวงถามหนี้ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลที่ลูกหนี้ระบุไว้ โดยสามารถโทรได้ไม่เกิน 1 ครั้ง ต่อ 1 วัน และอาจจะมีการลงทะเบียนผู้ทวงถามหนี้ให้ลูกหนี้รับทราบว่าเป็นใครโทรมา เป็นต้น

“สำหรับลูกหนี้ที่ถูกติดตามหนี้ ลำดับแรกต้องไม่เครียด จากนั้นตั้งเป้าหมายหยุดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หยุดสร้างหนี้เพิ่ม ถ้ายังควบคุมตัวเองไม่ได้ก็ให้ลดวงเงินหรือยกเลิกสินเชื่อ และวางแผนแก้ไขปัญหา เช่น หาเงินมาปิดหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงๆ การรีไฟแนนซ์ หรือพูดคุยกับเจ้าหนี้ขอประนอมหนี้กับสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งมีหลายหนทางที่จะพ้นสภาพความเป็นหนี้”

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่