หน้าแรก Featured การประกันภัยทางทะเล และการขนส่งคืออะไร ?

การประกันภัยทางทะเล และการขนส่งคืออะไร ?

0
การประกันภัยทางทะเล และการขนส่งคืออะไร ?

Insurance Knowledge โดย ประสิทธิ์ คำเกิด 

          สวัสดีครับทุกท่าน พบกับ Insurance Knowledge กันเช่นเคยครับ เราได้เรียนรู้กันแล้วนะครับว่าการประกันภัยนั้นคืออะไรและมีกี่ประเภทอะไรบ้าง สำหรับครั้งนี้เราจะมาเรียนรู้ให้ลึกขึ้นไปกันอีกหน่อยสำหรับการประกันวินาศภัยในแต่ละประเภทกัน เราจะมาเริ่มจาก การประกันภัยขนส่ง และ ภัยทางทะเลกันก่อนนะครับ

          การประกันภัยทางทะเล และ การขนส่ง : หมายถึงการประกันภัยเพื่อความคุ้มครองความเสียหายของสินค้าที่อยู่ในระหว่างการขนส่งสินค้า และความเสียหายแก่ตัวเรือและทรัพย์สิน หรือสินค้า ที่บรรทุกอยู่ในเรือซึ่งอยู่ระหว่างการขนส่งทางทะเล และขยายขอบเขตความคุ้มครองไปถึงการขนส่งสินค้าทางอากากศการขนส่งและทางบกซึ่งต่อเนื่องกับการขนส่งทางทะเล ซึ่งมีอยู่ ๒ ประเภท ได้แก่

          ๑. การประกันภัยการขนส่งระหว่างประเทศ ( Marine Insurance ) หมายถึง เป็นการประกันภัยเพื่อให้การคุ้มครองความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อทรัพย์สินที่อยู่ในระหว่างการขนส่งทางทะเลโดยเรือซึ่งสามารถมีการเอาประกันภัยทั้ง ตัวเรือ และหรือ สินค้าก็ได้ โดยมีรายละเอียดโดยสรุปประกอบด้วย

              ๑.๑.การประกันภัยตัวเรือ (Hull Insurance) หมายถึงตัวเรือที่จะทำการบรรทุก ขนสินค้า ซึ่งแน่นอนว่ามีความเสี่ยง โดยการประกันภัยนี้จะให้การคุ้มครองถึงความเสียหายต่อตัวเรือที่ได้รับอุบัติเหตุ จากลม พายุ เรือชนกัน เรือเกยตื้น เรือชนหินโสโครก และรวมถึงค่าระวางสินค้า เจ้าของเรือจึงอาจมีการเอาประกันภัย เกี่ยวกับตัวเรือต่างหาก เพราะนอกจากจะต้องรับผิดต่อการรับจ้างขนในฐานะผู้ประกอบการแล้ว ก็ควรมีการจัดทำประกันภัยตัวเรือเอาไว้ด้วย เช่นหากตัวเรือได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุที่กำหนดไว้ ค่าซ่อมหรือค่าเสียหายของตัวเรือนั้นบริษัทผู้รับประกันภัยไว้ก็จะต้องชดใช้ให้กับทางเจ้าของเรือตามเงื่อนไขของความคุ้มครองนั้นเอง

              ๑.๒.การประกันภัยตัวสินค้า ( Cargo Insurance) หมายถึง สินค้าที่จะต้องมีการนำส่งถึงปลายทางนั้นมีมูลค่ามีราคา ซึ่งในระหว่างการขนส่งสินค้าไปในต่างประเทศโดยทางเรือ ซึ่งการขนส่งทางเรือนั้นเป็นที่นิยมกันเนื่องจากสามารถขนส่งสินค้าได้ครั้งละจำนวนมากดังนั้นสินค้าที่อยู่ในระหว่างการขนส่งทางทะเลจึงมีความเสี่ยงที่อาจเกิดภัยขึ้นกับตัวสินค้าที่อาจทำให้สินค้านั้นได้รับความเสียหายในบางส่วนหรืออาจเสียหายทั้งหมด ทำให้เจ้าของสินค้าไม่สามารถนำส่งสินค้าให้กับผู้สั่งซื้อสินค้าไม่ได้หรือได้แต่ไม่ครบ การประกันภัยในส่วนนี้จึงหมายถึงการให้ความคุ้มครองความเสียหายต่อสินค้าที่เอาประกันภัยที่อยู่ในระหว่างการขนส่งทางทะเลตามเงื่อนไขที่ผู้เอาประกันภัยได้เลือกซื้อความคุ้มครองไว้ ซึ่งจะมีอยู่ ๓ แบบหลักคือ

                    ๑.The Institute Cargo Clauses (I.C.C.)หรือ เรียกง่ายๆว่าแบบ “ A ” เป็นแบบที่ให้ความคุ้มครองการเสี่ยงภัยทุกชนิด All Risk หากสินค้าได้รับความเสียหายจากการขนส่งนั้นบริษัทผู้รับประกันภันภัยสินค้านั้นจะต้องชดใช้ให้ความความเสียหายที่มีการตกลงเอาไว้เป็นสำคัญแบบนี้จึงเป็นแบบที่ให้การคุ้มครองจากภัยทุกชนิดตามชื่อนั่นเองครับ

                     ๒.The Institute Cargo Clauses (I.C.C.)หรือ เรียกง่ายแบบ “ B ” เป็นแบบที่รองลงมาจากแบบแรกโดยแบบนี้จะให้การให้ความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุที่ระบุเอาไว้แล้วเท่านั้นโดยจะต้องเกิดจากอุบัติเหตุ จากรถคว่ำ(ในระหว่างที่มีการขนส่งสินค้าจากการนำสินค้าขึ้นจากเรือเพื่อนำไปส่งจนถึงลูกค้าตามที่ระบุก็จะได้รับการคุ้มครองในส่วนนี้ด้วย) เรือชนกัน เรือเกยตื้น ไฟไหม้ ความเสียหายจาการเปียกน้ำของสินค้า(ในระหว่างขนส่งน้ำอาจเข้าเรือ หรืออาจเกิดจากฝนตกมีพายุทำสินค้าเปียกน้ำทำให้สินค้าเสียหาย)

                      ๓.The Institute Cargo Clauses (I.C.C.) หรือ เรียกง่ายๆว่า แบบ “ C ” เป็นแบบรองลงมาจาก แบบ แรกและแบบที่สอง ซึ่งเป้นแบบที่จะให้การคุ้มครองความเสียหายของสินค้าที่มาจากอุบัติเหตุร้ายแรงเท่านั้น โดยในสัญญาจะมีการระบุว่าภัยร้ายแรงแบบใดบ้างที่กรมธรรม์จะให้การคุ้มครอง

                     โดยความคุ้มครองของกรมธรรม์ที่ผู้เอาประกันภัยจะได้รับหากสินค้านั้นได้รับความเสียหายจะต้องมีสาเหตุมาจาก

    • ภัยทางทะเล เช่น ภัยจากพายุ, มรสุม, เรือจม, เรือชนกัน และ เรือเกยตื้น
    • อัคคีภัย ได้แก่ ความเสียหายที่เกิดจากไฟไหม้ แต่ต้องไม่ได้เกิดจากการกระทำของผู้เอาประกันภัยเอง หรือ เกิดจากการลุกไหม้ขึ้นมาเองของตัวสินค้าอันเนื่องมาจากธรรมชาติ
    • การทิ้งทะเล การเอาของทิ้งลงทะเลเพื่อให้เรือเบาลงอันเป็นการลดความเสียหาย
    • การโจรกรรม อย่างรุนแรงโดยใช้กำลังเพื่อชิงทรัพย์
    • การกระทำโดยทุจริตของนายเรือหรือลูกเรือหรือคนเรือ ซึ่งเป็นการกระทำโดยมิชอบโดยเจตนา และต้องปราศจากการรู้เห็นเป็นใจของผู้เอาประกันภัย
    • และความคุ้มครองพิเศษที่ผู้เอาประกันภัยสามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติม ได้แก่
      • ความเสียหายจากน้ำฝน น้ำจืด หรือน้ำทะเล
      • การขโมยลอบงัดแงะหรือส่งสินค้าไม่ครบตามจำนวนหีบห่อโดยผู้รับขน
      • การแตกหัก งอ และหรือบุบ การฉีกขาด การขีดข่วน
      • การรั่วไหลของสินค้าหรือสินค้าขาดจำนวนไป
      • การเสียหายจากการเกี่ยวจากตะขอ ตะปู 
      • การเสียหายจากการเปื้อนน้ำมัน ถูกับสินค้าอื่น
      • การเปรอะเปื้อน เจือปนสิ่งแปลกปลอมอื่น

         ทั้งนี้ความคุ้มครองจะมีการแบ่งออกเป็น ๓ แบบดังนี้

          ๑.แบบ F.P.A ( Free form Particular Average ) : เป็นการประกันภัยแบบที่ให้ความคุ้มครองเฉพาะสินค้านั้นได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง(Total Loss) เท่านั้น

          ๒.แบบ W.A. ( With Average ) : เป็นการประกันภัยแบบที่ให้ความคุ้มครองต่อสินค้าที่ได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง(Total Loss) และความเสียหายบางส่วนด้วย แต่ต้องเสียหายไม่ต่ำกว่า 3% ของมูลค่าของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย

          ๓.แบบ All Risk : เป็นการประกันภัยแบบที่ให้ความคุ้มครองกว้างมากกว่าสองแบบที่กล่าวมา โดยจะให้ความคุ้มครองต่อสินค้านั้นได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง(Total Loss) และความเสียหายบางส่วนโดยไม่จำกัดเปอร์เซ็นต์ความเสียหายของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย

              ๒. การประกันภัยการขนส่งภายในประเทศ ( Inland Transit) หมายถึงการประกันภัย เพื่อให้การคุ้มครองความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อทรัพย์สินที่อยู่ในระหว่างการขนส่งซึ่งเกิดขึ้นภายในประเทศที่มีสาเหตุมาจาก ไฟไหม้, การระเบิด, การชน หรือการคว่ำ ซึ่งก็จะเหมือนกับการประกันตัวสินค้าที่อยู่ในระหว่างการขนส่งนั่นและครับ ต่างกันก็ตรงที่เป็นการขนส่งสินค้าภายในประเทศ เช่น ขนส่งโดยเรือที่ใช้ในแม่น้ำลำคลอง แต่ที่นิยมกันมากก็จะเป็นการขนส่งทางถนนโดยรถยนต์บรรทุก ตัวอย่างเช่น โรงงานผู้ผลิตรถยนต์จะขนส่งรถยนต์ไปส่งให้กับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในต่างจังหวัด โดยวิธีการจ้างให้รถบรรทุกเทลเลอร์เป็นรับผู้ขนส่งโดยมีการทำประกันภัยสินค้า(รถยนต์) เอาไว้ในระหว่างการขนส่ง หากในระหว่างทางรถบรรทุกเทลเลอร์เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำลงข้างทาง สินค้าซึ่งเป็นรถยนต์ที่บรรทุกไปนั้นได้รับความเสียหาย กรณีนี้บริษัทผู้รับประกันภัยก็จะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสินค้านั้น ส่วนตัวรถบรรทุกเทลเลอร์นั้นมีการประกันภัยในระหว่างการขนส่งมีการทำประกันภัยรถยนต์หรือประกันความรับผิดเอาไว้บริษัทผู้รับประกันภัยรถยนต์ก็ต้องไปพิจารณาว่าเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่เพียงใดก็ต้องว่ากันไป
             การประกันภัยทางทะเลและการขนส่ง ที่เราได้เรียนรู้กันมาในครั้งนี้เหมาะกับผู้ที่มีการขายสินค้าจำนวนมากและมีการส่งออกสินค้าไปยังลูกค้าที่อยู่ในต่างประเทศ ก็ต้องศึกษาทำความเข้าใจในเงื่อนไขกรมธรรม์ทั้งสามหมวดหลักให้มีความเข้าใจอันได้แก่ หมวดทั่วไป หมวดความคุ้มครอง หมวดข้อยกเว้นความคุ้มครอง ให้ชัดเจนด้วยนะครับ…แล้วพบกันฉบับหน้า  …สวัสดีครับ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

Thailand Insurance News

Thailand Insurance News

พูดคุย และ ดูแลด้วยมิตรภาพ

I will be back soon

Thailand Insurance News
สวัสดีค่ะ 👋
ต้องการสอบถาม ข้อมูลด้านไหนดีคะ
Messenger