ทีทีบี ผนึกจุฬาฯ เปิดมิติใหม่การศึกษาไทย ปั้น Tech Talents ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล

0
50

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ผนึก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล (CEDT-Computer Engineering & Digital Technology) สร้างประสบการณ์การทำงานจริงให้นิสิต เปลี่ยนแปลงหลักสูตรของวงการการศึกษาไทย ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ที่ต้องการบุคลากรที่มีทักษะตรงความต้องการของภาคธุรกิจ แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านคอมพิวเตอร์ เสริมความแข็งแกร่งให้ระบบนิเวศเติบโตอย่างยั่งยืน

นายปิติ  ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า การขาดแคลนบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีถือเป็นปัญหาระดับชาติ ธนาคารจึงได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อพัฒนานิสิตที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล หรือ Tech Talents ตอบโจทย์โลกยุคใหม่และสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ มีทักษะตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจที่จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางด้านคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน

“การพัฒนาหลักสูตรที่ความแตกต่างจากเดิม เพื่อให้นิสิตได้เห็นและสร้างประสบการณ์ในการทำงานตั้งแต่ปีที่ 1 โดยธนาคารจะรับนิสิตเข้าฝึกงานในภาคเรียนที่ 3 ของนิสิตปีที่ 1-3 และปีที่ 4 เพื่อช่วยสร้างทักษะเชิงดิจิทัลและปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยี โดยคาดว่านิสิตที่จบหลักสูตรนี้จะมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบ วิเคราะห์ และสามารถประยุกต์หลักการทางวิศวกรรมเพื่อการแก้ปัญหาในสาขาอาชีพต่าง ๆ ด้านเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี พร้อมเป็นบุคลากรสำคัญที่ขับเคลื่อนประเทศต่อไป”

“ทีทีบี มีความตั้งใจจริงในการร่วมกับภาคการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรด้านคอมพิวเตอร์และสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่ง โดย Tech และ Data ไม่ได้เพียงเรื่องเทคโนโลยีและแพลตฟอร์ม แต่เป็นเรื่องของคน ซึ่งธนาคารมี ttb spark academy ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ได้มาสัมผัสและเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงจากผู้เชี่ยวชาญ ได้ร่วมออกไอเดียและลงมือทำ สร้างงานที่ Make REAL Change โดยมีพี่ ๆ  Mentor ให้คำปรึกษา ช่วยพัฒนาและต่อยอดความรู้   รวมทั้งการจัด Financial Well-being Hackathon for Thais เพื่อให้น้องๆนำความรู้ด้าน Business, Tech และ Data มาแก้ปัญหาทางการเงินให้คนไทย ” นายปิติ กล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถวิทย์  สุดแสง หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “จุฬาฯ ได้ร่วมกับทีทีบี และพันธมิตรภาคเอกชน พัฒนาหลักสูตรใหม่ วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นครั้งแรกของเมืองไทยในการเปลี่ยนแปลงพัฒนาหลักสูตร ให้นิสิตได้ทำงานและเรียนรู้ประสบการณ์จริงตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 4 และเรียนจบภายใน 3.5 ปี ทำให้นิสิตรู้ว่าตนเองถนัดสายงานใด ขณะที่จุฬาฯและองค์กรบริษัทก็สามารถวางเป้าหมายในการพัฒนานิสิต โดยคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษา 300 คนต่อรุ่น และตั้งเป้าหมายให้ครอบคลุมภาคธุรกิจที่หลากหลาย   

“ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่ควรเติบโตแบบก้าวกระโดดด้วยดิจิทัล โดยในแต่ละปีจุฬาฯผลิตวิศวกรคอมพิวเตอร์ได้ไม่เกิน 150 คน  ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการสูงถึงหลายหมื่นคนต่อปี  ดังนั้นภาคการศึกษาต้องการให้เอกชนเข้ามาร่วมปรับปรุงหลักสูตรในหลาย ๆ แง่มุมให้ตอบโจทย์ตลาดอย่างแท้จริง  ซึ่งยุคนี้เป็นโอกาสทองของสาขาดิจิทัล โดยเฉพาะภาคการเงินมีความต้องการรุนแรงมาก”