CIMBT เดินหน้า “ASEAN Reach” พาธุรกิจไทยลุยอาเซียน  

0
95

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เดินตามแผนเป็นธนาคารผู้ให้คำปรึกษาและเป็นตัวกลางทางการเงินที่พร้อมพาลูกค้าไปเติบโตอาเซียน ด้วยยุทธศาสตร์ “Digital-led Bank with ASEAN Reach” มาต่อเนื่องตลอดหลายปี  เผยธุรกรรมสินเชื่อการลงทุนในต่างประเทศครึ่งแรกปี 2566 เติบโตกว่า 70%  มียอดคงค้างรวม 66,000 ล้านบาท จากปี 2565 ที่มียอดคงค้าง 38,000 ล้านบาท มั่นใจภายในสิ้นปี ปิดดีล M&A ได้อีก 2-3 ดีล ดันยอดคงค้างแตะระดับ 100,000 ล้านบาท

นายวุธว์ ธนิตติราภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บรรษัทธุรกิจและธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย อัพเดทความคืบหน้าของยุทธศาสตร์ “Digital-led Bank with ASEAN Reach” ว่า ธนาคารปักธงเป็นแบงก์ที่พร้อมจะพาลูกค้าไปเติบโตอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งจากการเป็นผู้ให้คำปรึกษาและเป็นตัวกลางทางการเงิน พบว่า บริษัทของไทยที่มีแผนชัดเจนจะไปเปิดตลาดในต่างประเทศในหลากหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น พลังงาน ปิโตรเคมี ค้าปลีก อุตสาหกรรมยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม และเกษตรแปรรูป   โดยรูปแบบของการออกไปขยายตลาด มีครบทั้งการลงทุนขยายกิจการ การซื้อกิจการ และการควบรวมกิจการ(Mergers and Acquisitions : M&A)  

สำหรับประเทศในอาเซียนที่บริษัทไทยนิยมไปเปิดตลาด ได้แก่

อินโดนีเซีย เป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูงมาก มีประชากรมากที่สุดในอาเซียน จำนวน 275 ล้านคน ภาคธุรกิจดาวรุ่งคือ ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม และเกษตรแปรรูป

เวียดนาม มีจำนวนประชากรสูงเกือบ 100 ล้านคน การเติบโตของ GDP ปี 2565 สูงถึง 8% จึงเป็นที่นิยมในการเป็นฐานการผลิต ที่ตั้งโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม

กัมพูชา มีโอกาสขยายตลาดด้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งคนกัมพูชานิยมบริโภคสินค้าไทย

มาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านที่มีโอกาสเข้าถึงง่าย และมีตลาดของอาหารฮาลาล

สิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางด้านการค้าขาย หรือ Trading Hub 

นายวุธว์ กล่าวถึงผลงานในครึ่งแรกปี 2566 ว่าธนาคารได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ให้เป็นตัวกลางขยายตลาดทุกรูปแบบ  ส่งผลให้ธุรกรรมสินเชื่อการลงทุนในต่างประเทศเติบโตกว่า 70%  เมื่อเทียบกับปี 2565  มียอดคงค้างรวม 66,000 ล้านบาท จากสิ้นปี 2565 ที่มียอดคงค้าง 38,000 ล้านบาท และคาดว่าสิ้นปีนี้จะมียอดคงค้างแตะระดับ 100,000 ล้านบาท จากดีลใหม่ๆอีก 2-3 ดีลที่คาดว่าจะปิดได้ภายในปีนี้
“ช่วง2ปีที่ผ่านมา ถือว่าเติบโตแบบก้าวกระโดด มีดีลใหญ่ๆเข้าไปซื้อกิจการมากขึ้น และในปีนี้ยังมีดีลซื้อกิจการต่างประเทศของบริษัทไทยที่คาดว่าจะสามารถปิดดีลได้อีก 2 – 3 ดีล มูลค่ารวมประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้สินเชื่อการลงทุนในต่างประเทศแตะ 100,000 ล้านบาท”

อย่างไรก็ตามนอกจากกลุ่มประเทศอาเซียนแล้ว จีนยังเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูง ซึ่งกลุ่มซีไอเอ็มบีมีเครือข่ายสาขาทั้งใน เซี่ยงไฮ้และฮ่องกง  โดย ซีไอเอ็มบี ไทย พร้อมพาลูกค้าไปเปิดตลาด beyond ASEAN อีกด้วย 

ใช้ความแข็งแกร่ง CIMB Group

พาลูกค้าก้าวข้ามทุกขีดจำกัด

จากการพาลูกค้าไปขยายการลงทุนตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง พบว่าอุปสรรคที่ทำให้บริษัทไม่ออกไปเปิดตลาด ได้แก่ 1.กฎระเบียบกฏเกณฑ์ 2. ความเสี่ยงทางการเมืองและนโยบายของประเทศที่ไปลงทุน 3. การแข่งขันในตลาดของแต่ละประเทศ 4. วัฒนธรรมของคนท้องถิ่น 5. ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและธุรกรรมการเงิน

ซึ่งธนาคารซีไอเอ็มบี มีสาขา สำนักงานตัวแทนในเกือบทุกประเทศอาเซียน  และส่วนใหญ่เป็นธนาคารท้องถิ่นในประเทศ  ทีมงานจึงมีความรู้ความเข้าใจในกฎเกณฑ์วัฒนธรรมของแต่ละประเทศ รวมทั้งมีเครือข่ายระหว่างสาขาที่แบ่งปันข้อมูลและให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆเพื่อสนับสนุนลูกค้าได้  อีกทั้งยังมีเครือข่ายระหว่างธนาคารกับลูกค้าในแต่ละประเทศที่จะช่วยให้คำแนะนำการขยายธุรกิจ  ไม่ว่าจะเป็นการขยายตลาด   การหาพันธมิตร  รวมไปถึงความแข็งแกร่งทางด้านการเงินในการสนับสนุนเงินลงทุน ซึ่ง CIMB Group เป็นกลุ่มการเงินสินทรัพย์ใหญ่อันดับ 5 มีสาขา สำนักงานตัวแทน และเครือข่ายธุรกิจที่หลากหลายประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา บรูไน ฟิลิปปินส์ จีน ฮ่องกง และสหราชอาณาจักร  

“ บริษัทหรือผู้ประกอบการที่สนใจขยายธุรกิจในต่างประเทศ  หาจุดแข็งของผลิตภัณฑ์คู่กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย หลังจากนั้น มาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ที่มี Know-how และ Network ทำงานประสานใกล้ชิดกับคนท้องถิ่นที่รู้จักตลาดเป็นอย่างดี โดยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ตั้งโต๊ะ ASEAN Desk ให้คำแนะนำและทำงานร่วมกับเครือข่ายแข็งแกร่งของกลุ่มซีไอเอ็มบี พร้อมส่งต่อลูกค้าขยายธุรกิจข้ามประเทศ ด้วย ASEAN Total Solutions”

“เมื่อก้าวข้ามขีดจำกัดตรงนี้ สามารถออกไปเปิดตลาดต่างประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่งจนเข้าที่แล้ว บริษัทสามารถเติบโตก้าวกระโดด เปิดตลาดใหม่ ขยายฐานลูกค้าใหม่ ได้พันธมิตรใหม่ เพิ่มรายได้จากการขยายฐานธุรกิจให้เติบโตเพิ่มขึ้นได้ตั้งแต่ 20% ถึงกว่า 100% ในระยะยาว ที่สำคัญคือเป็นการกระจายความเสี่ยงในด้านการมีตลาดหลากหลายประเทศ และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน” นายวุธว์ กล่าวสรุป