Krungthai COMPASS ชี้ Data Center หนุนเศรษฐกิจไทย ดึงเม็ดเงินลงทุนกว่า 3.2 แสนล้านบาท

0
8

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASSชี้บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เดินหน้าขยายการลงทุน Data Center ในไทย หนุนขนาด Data Center เพิ่มขึ้นถึง 13.9 เท่า ภายในปี 2571 เงินลงทุนกว่า 3.2 แสนล้านบาท สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการไทย 1.3 แสนล้านบาท แนะภาครัฐเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายข้อมูลอินเทอร์เน็ต และอนุญาติให้ผู้ให้บริการ ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภาคเอกชน ดึงเม็ดเงินลงทุนต่อเนื่อง 

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจดิจิทัลมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และจะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญในอีก 6 ปีข้างหน้า จากการพัฒนาเทคโนโลยี และนโยบายการสนับสนุนของภาครัฐ  โดยบริษัทเทคโนโลยีและบริษัทให้คำปรึกษาชั้นนำ อย่าง Google TEMASEK และ BAIN & COMPANNY ทั้งนี้คาดว่า มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 13.8%  จาก 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.6 ล้านล้านบาท) ในปี 2567 เป็น 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3.5 ล้านล้านบาท) ในปี 2573  ตามขยายตัวของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้ง  E-Commerce สื่อออนไลน์ ท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้า ส่งผลให้ปริมาณการส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่าย (Data Traffic) ของไทยจะเพิ่มขึ้นถึง 1.75 เท่า ในช่วงปี 2566-2573   ซึ่งสนับสนุนความต้องการใช้ Data Center เพื่อจัดเก็บและประมวลข้อมูลมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยมี Data Center ในประเทศค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับหลายประเทศในอาเซียน  สะท้อนได้จากขนาด Data Center ของไทยในปี 2566 ที่เล็กกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียถึง 13.7 เท่า 3.2 เท่า และ 2.5 เท่า ตามลำดับ จึงเป็นโอกาสดึงดูดให้ผู้ให้บริการ Data Center ชั้นนำของโลกเข้ามาลงทุน Data Center ในไทยมากขึ้น

นายพงษ์ประภา นภาพฤกษ์ชาติ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า  ทิศทางการลงทุน Data Center ในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  จากการลงทุนของกลุ่มบริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เช่น Microsoft Google และ TikTok  และ กลุ่มผู้ให้บริการ Data Center ชั้นนำในระดับภูมิภาค เช่น CtrlS NEXTDC และ Beijing Haoyang Cloud Data Technology ช่วยสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการไทยในระหว่างการพัฒนา Data Center ราว 1.3 แสนล้านบาท โดยธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโครงสร้างและอาคารได้รับอานิสงส์มากที่สุด

นอกจากนี้  ยังเพิ่มรายได้จากการให้บริการ Data Center จาก 5.7 หมื่นล้านบาทในปี 2566 เป็น 1.5 แสนล้านบาทในปี 2571 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 21.3%  จากความต้องการใช้บริการ Public Cloud เพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมโมเดล AI และการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามความต้องการใช้เทคโนโลยี AI และการลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ 

อีกทั้งยังเพิ่มรายได้จากการให้บริการติดตั้งระบบ Cloud และบริการสาธารณูปโภคแก่ Data Center จาก 2.1 หมื่นล้านบาทในปี 2566 เป็น 8.2 หมื่นล้านบาทในปี 2571 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 31.7%  โดยธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตโดดเด่น คือ ธุรกิจโทรคมนาคม และธุรกิจโรงไฟฟ้า ซึ่งมีอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 71.6% และ 62.2% ตามลำดับ

“เพื่อให้ไทยดึงดูดการลงทุน Data Center ได้มากขึ้นในอนาคต  ภาครัฐและเอกชนของไทยควรเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายของการเชื่อมต่อข้อมูลอินเทอร์เน็ตด้วยการเพิ่มสถานีเคเบิลใต้น้ำ และอนุญาตให้ผู้ให้บริการ Data Center ใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของภาคเอกชนผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าของภาครัฐ โดยไม่คิดค่าระบบบริการ เพื่อให้เข้าถึงค่าไฟในราคาที่ไม่สูงกว่าค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยของประเทศในอาเซียน อย่างเวียดนาม และอินโดนีเซีย” นายพงษ์ประภา กล่าวสรุป