ออมสิน ร่วมทุน BAM ตั้ง ARI-AMC แก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบ ประเดิมลูกหนี้ออมสิน 5 แสนบัญชี 4.5 หมื่นล้าน 

0
23

หนี้ครัวเรือน ปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมานาน โดยเฉพาะหลังวิกฤตโควิด-19 ผู้ประกอบการรายย่อย SMEs และประชาชนจำนวนมาก ขาดสภาพคล่องไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติจนกลายเป็นหนี้เสีย (NPLs)  ภาครัฐจึงประกาศเป็นนโยบายแก้ไขหนี้ทั้งระบบ โดยมอบหมายให้ธนาคารออมสินจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ในรูปแบบกิจการร่วมทุน (JV AMC) เพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของลูกหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs)

ธนาคารออมสินจึงร่วมกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการหนี้โดยเฉพาะ ตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด หรือ ARI-AMC โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งที่เป็น NPLs และ NPA ได้เข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้หรือไกล่เกลี่ยหนี้  มีโอกาสหลุดพ้นจากการเป็นผู้เสียประวัติทางเครดิต ลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบและสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ในอนาคต

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า  ARI-AMC จัดตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท ในสัดส่วนการร่วมทุน 50% เท่ากัน มีระยะเวลาดำเนินการไม่เกินกว่า 15 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มดำเนินการ เพื่อดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ช่วยเหลือลูกหนี้ให้เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ได้มีโอกาสหลุดพ้นจากเป็นผู้เสียประวัติทางเครดิต กลับมามีสถานะผ่อนปกติหรือหนี้ปิดบัญชี  

โดยระยะแรก ARI-AMC จะรับซื้อและรับโอนหนี้จากธนาคารออมสินเพียงแห่งเดียวก่อน เป็นการรับซื้อหนี้สินเชื่อทั่วไปทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน เป็นกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อรายย่อย SMEs รวมถึงหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ที่มีสถานะ NPLs หนี้สูญ รวมถึง NPA ที่มียอดหนี้ไม่เกิน 20 ล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ที่ยังไม่ดำเนินคดี และดำเนินคดีแล้ว ที่ยังมีสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย โดยรับซื้อหนี้ในราคายุติธรรม และคำนึงถึงประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับสอดคล้องจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นและหลากหลาย อาทิ การปรับลดเงินต้น ปรับลดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ หรือการตัดหนี้บางส่วนให้กับลูกหนี้ เป็นต้น

นายวิทัย  กล่าวว่า หลังจากจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด แล้ว จะยื่นขอขึ้นใบอนุญาตกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  โดยคาดว่าจะเริ่มรับซื้อและรับโอนหนี้จากธนาคารออมสินในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567  โดยระยะแรกช่วงปลายเดือนกรกฎาคม าจะโอนหนี้ 1.4 แสนบัญชี มูลหนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จากพอร์ตลูกหนี้ทั้งหมดกว่า 500,000 บัญชี คิดเป็นมูลหนี้เงินต้นประมาณ 45,000 ล้านบาท และในอนาคตจะขยายการดำเนินการให้ครอบคลุมการรับซื้อหนี้ประเภทอื่น รวมถึงหนี้ของลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจขนาดเล็กของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs)  อื่น ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง  

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวว่า BAM การแก้ไขปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงิน และบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขายตลอด 25 ปีที่ผ่านมา จนแก้ปัญหาหนี้ให้ได้ข้อยุติมากกว่า 155,000 ราย คิดเป็นภาระหนี้กว่า 480,000 ล้านบาท และสามารถจำหน่ายทรัพย์สินรอการขายไปกว่า 52,000 รายการ คิดเป็นราคาประเมินกว่า 122,000 ล้านบาท  

ดังนั้น BAM จึงมีความพร้อมทั้งด้านประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญของบุคลากร ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การให้บริการลูกค้าในทุกช่องทางอย่างครบวงจร และการมีเครือข่ายสาขาทั่วประเทศ จะช่วยให้ความร่วมมือในการผลักดันการดำเนินงานของบริษัทร่วมทุน ARI-AMC ลุล่วงไปได้ด้วยดี ตอบโจทย์การเป็นธุรกิจเพื่อสังคม โดยยังสามารถบริหารจัดการให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี ช่วยแก้ไขหนี้ภาคครัวเรือน โดยสามารถจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ให้รองรับการดำเนินงานตามพันธกิจและนโยบายของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ทั้งสององค์กร BAM และธนาคารออมสิน มีเจตนารมณ์แน่วแน่ในการสานต่อนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน โดยจะร่วมกันวางแผนบริหารกิจการร่วมทุน วางแนวทางในการดำเนินธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ อย่างดีที่สุด ช่วยเหลือลูกหนี้ที่สุจริตให้ผ่านพ้นปัญหาหนี้สิน แก้ไขหนี้เสียให้เป็นหนี้ดีกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจปกติต่อไป”นายบัณฑิต กล่าวสรุป