ไทยเบฟ ขับเคลื่อนสู่ “PASSION 2030” เติบโตยั่งยืน ปี 2568 อัดงบลงทุน 18,000 ล้านบาท ยึดหัวหาดอาเซียน

0
61

ไทยเบฟ  แถลงผลงาน 9 เดือน ทุกกลุ่มธุรกิจข้ามผ่านทุกความท้าทายด้วยรากฐานที่แข็งแกร่ง และบริหารความเสี่ยงอย่างมีวินัย  ปีหน้า 2568 เตรียมทุ่มงบลงทุน 18,000 ล้าน ขยายฐานการผลิตโรงงานสุรา เบียร์  และฟาร์มโคนม-ทั้งในและต่างประเทศ เสริมแกร่งธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารในภูมิภาคอาเซียน เปิดแผน ‘PASSION 2030’ เดินหน้าองค์กรเติบโตยั่งยืน สู่เป้าหมายผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารในอาเซียน

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปีผ่านมาทุกกลุ่มธุรกิจของไทยเบฟ ข้ามผ่านอุปสรรคและความท้าทายด้านการดำเนินงานและต้นทุน จากความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาคและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์  ด้วยรากฐานที่แข็งแกร่ง การบริหารกำไรและความเสี่ยงอย่างมีวินัย และการนำศักยภาพของไทยเบฟมาทำให้เกิดมูลค่าสูงสุดในทุกธุรกิจ

โดยผลการดำเนินงานช่วง 9 เดือน ปี 2567 มีรายได้จากการขายรวม 217,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) 38,595 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% แม้ยอดขายรวมของกลุ่มธุรกิจสุราจะลดลง 2.7% เนื่องจากการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย  แต่ก็ได้แรงหนุนจากธุรกิจเบียร์และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่ยังคงเติบโตจากบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขับเคลื่อน แผนงาน PASSION 2030

เสริมแกร่งผู้นำ F&B ที่ยั่งยืนในอาเซียน

นายฐาปน กล่าวว่า ไทยเบฟจะต่อยอดความสำเร็จจากแผน PASSION 2025 โดยขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนสู่PASSION 2030แผนการดำเนินงานของกลุ่มเพื่อมุ่งสู่การสู่เติบโตอย่างต่อเนื่องในอีก 6 ปีข้างหน้า ด้วย 2กลยุทธ์หลัก คือ การกระจายสินค้าด้วยศักยภาพที่แข็งแกร่ง (Reach Competitively) และการนำดิจิทัลมาขับเคลื่อนการเติบโต (Digital Forgrowth)  เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดสากล 

– Reach Competitively การส่งมอบสินค้าและบริการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในช่องทางต่างๆอย่างทั่วถึง และขยายขอบเขตให้ครอบคลุมทุกช่องทาง รวมทั้งเจาะตลาดได้อย่างครบวงจรไร้รอยต่อแข่งขันทั้งในด้านต้นทุนและการให้บริการที่มีคุณภาพทั่วอาเซียน

-Digital Forgrowth นำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาใช้ รวมถึงประยุกต์ใช้ระบบขายอัตโนมัติ (sales automation) เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มความรวดเร็วและประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต และการกระจายสินค้า รวมไปถึงแผนงานพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า เตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต

“ไทยเบฟนำจุดแข็งและขีดความสามารถหลักมาขับเคลื่อนการเติบโตและสร้างมูลค่า ตามแผนงาน PASSION 2030 เสริมความแข็งแกร่งสถานะผู้นำที่มั่นคงและยั่งยืนของอาเซียนในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหาร (F&B) พร้อมทั้งวางเป้าหมายเติบโตในอีก 6 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน (Enabling Sustainable Growth) โดยมีการปรับแผนธุรกิจระหว่างทางทุกๆ 2 ปี 3 ปี เพื่อรองรับพฤติกรรม ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา” นายฐาปน กล่าว

สุราพรีเมี่ยมไทยก้าวไกลสู่เวทีโลก  

คุณประภากร ทองเทพไพโรจน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการต่างประเทศ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา และผู้บริหารสูงสุด การเงินและบัญชีกลุ่ม  เปิดเผยว่า แบรนด์สินค้าในไทย ไม่ว่าจะเป็น รวงข้าว หงส์ทอง แสงโสม และเบลนด์ 285 ยังคงรักษาฐานตลาดสุราขาวและสุราสีได้อย่างต่อเนื่อง  ขณะที่สุราคุณภาพสากล แสงโสม แม่โขง พระยา รัม และรวงข้าว สยาม แซฟไฟร์ ได้ขยายสู่ตลาดต่างประเทศ  และล่าสุดได้ขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ PRAKAAN (ปราการ) ซิงเกิลมอลต์วิสกี้พรีเมียมแบรนด์แรกของไทย  เจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบวิสกี้ประเภท New World ในไทย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และญี่ปุ่น มาเสริมทัพขับเคลื่อนสุราพรีเมียมของไทยสู่เวทีโลก

สำหรับตลาดต่างประเทศ มีผลิตภัณฑ์พรีเมียมที่หลากหลาย ทั้งวิสกี้จากสกอตแลนด์ คอนญักจากฝรั่งเศส วิสกี้จากนิวซีแลนด์ ซิงเกิล มอลต์ วิสกี้ และรัมระดับพรีเมียมจากไทย  และยังมีแผนที่จะลงทุนขยายกำลังการผลิตในนิวซีแลนด์  ขณะที่แกรนด์ รอยัล วิสกี้ ยังคงครองตำแหน่งวิสกี้อันดับหนึ่งในประเทศเมียนมา

โดยช่วง 6 เดือนแรกธุรกิจกลุ่มสุรามีรายได้ 92,788 ล้านบาท ลดลง 0.9%  โดย EBITDA ลดลง 1.3% จากปริมาณขายรวมที่ลดลง 2.7% เนื่องจากการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย

ธุรกิจเบียร์ยอดขายน่าพอใจ กำไรโต 10.2%

ผุดโรงงานผลิตในกัมพูชา 2,500 ล้านบาท

คุณไมเคิล ไชน์ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเบียร์ กล่าวว่า เบียร์ช้างในไทยมียอดขายเติบโตน่าพอใจ โดยเฉพาะในช่วงกลางปี 2567 ที่การบริโภคเพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวและสภาพอากาศที่ร้อนจัด  ขณะที่เวียดนามการบริโภคลดลง จากสภาวะเศรษฐกิจและบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับผู้กระทำผิดข้อหาเมาแล้วขับ ส่วนกัมพูชายอดขายเบียร์เติบโตเร็วที่สุด และใหญ่เป็นอันดับสี่ของอาเซียน มีปริมาณการบริโภครวมต่อปี10 ล้านเฮกโตลิตร  ซึ่งไทยเบฟได้เริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตเบียร์ในกัมพูชา งบลงทุน 2,500 ล้านบาท คาดว่าจะเเล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2569  มีกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 50 ล้านลิตร

โดยผลประกอบการธุรกิจเบียร์  9 เดือนของปี 2567 มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) เติบโต 10.2% ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น 0.6% เป็น 93,793 ล้านบาท จากการลงทุนในตราสินค้าและกิจกรรมทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ ต้นทุนวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง แม้ปริมาณขายรวมจะลดลง 2.9% ก็ตาม

ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ โตเกิน100%

ทุ่ม 8,000 ล้านบาท ลุยฟาร์มโคนม-มาเลเซีย

คุณโฆษิต สุขสิงห์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการประเทศไทย ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานดิจิทัลและเทคโนโลยี กล่าวว่า ตามกลยุทธ์รวมธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ให้เป็นหนึ่งเดียว ผ่านการนำหุ้นของโออิชิออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอยู่ระหว่างการนำหุ้นเสริมสุขออกจากตลาด รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ หรือ FPL บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ผ่านสัญญาการแลกเปลี่ยนหุ้นกับ บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ ลิมิเต็ด หรือTCCAL  

โดยเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา ไทยเบฟได้รับเสียงอนุมัติจากผู้ถือหุ้นในการทำธุรกรรมแลกหุ้นระหว่างบริษัท อินเตอร์เบฟ อินเวสท์เม้นท์ ลิมิเต็ด (IBIL) บริษัทย่อยที่ไทยเบฟถือหุ้นโดยอ้อมทั้งหมด โดย IBIL จะทำการโอนหุ้นที่ถืออยู่ใน FPL ทั้งหมด28.78%  ให้แก่ TCCAL และ TCCAL จะโอนหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ, ลิมิเต็ด (F&N) 41.30% ให้แก่ IBIL

ธุรกรรมดังกล่าวส่งผลให้ IBIL มีสัดส่วนการถือหุ้นใน F&N เพิ่มขึ้นเป็น 69.61% โดยกลุ่มจะรวมธุรกิจของ F&N เข้ากับไทยเบฟ ส่งผลให้ไทยเบฟมีต้นทุนต่อหน่วยลดลงจากขนาดการผลิตที่ใหญ่ขึ้น (Economies of Scale) การขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และขยายตลาดของกลุ่มของกลุ่มในธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์นม ให้หลากหลายยิ่งขึ้น จากเดิมที่สัดส่วนรายได้ 7% เพิ่มเป็น 20% ของรายได้รวมของกลุ่มไทยเบฟ

ล่าสุดได้เตรียมงบลงทุน 8,000 ล้านบาท ในการสร้างโรงงานผลิตและฟาร์มโคนม Close loop Farm ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นการลงทุนใหญ่ในปีงบประมาณ 2568  ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญตลาดอาหารฮาราลในอนาคต

สำหรับผลประกอบการ 9 เดือน กลุมธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีรายได้ 15,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% ตามปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น 5.3% จากความสำเร็จของกิจกรรมส่งเสริมตราสินค้า การขยายและกระจายสินค้าให้กว้างขวาง โดยมี EBITDA 1,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% จากการผลิตที่สูงขึ้นและต้นทุนบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง แม้จะมีการลงทุนในตราสินค้า และกิจกรรมทางการตลาดเพิ่มขึ้นก็ตาม

ธุรกิจอาหารก้าวสู่ TOP 3

คุณโสภณ ราชรักษา ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและสมรรถนะองค์กร ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหารประเทศไทย และผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจโลจิสติกส์ กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจอาหารของกลุ่มไทยเบฟ อยู่ใน Top 3 ของผู้เล่นรายใหญ่ รองจากกลุ่มไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป และเอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป  โดยผลประกอบการ 9 เดือน ปี 2567 มีรายได้ 15,022 ล้านบาท เพิ่มขึ้น5.1% จากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะ EBITDA ลดลง 0.6%  เป็น 1,438 ล้านบาท จากต้นทุนวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ด้วยกลยุทธ์การขยายสาขาและพัฒนารูปแบบร้านใหม่ๆให้สอดคล้องกับทำเลและกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย เพิ่มการเข้าถึงแบรนด์ การนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน การกระตุ้นยอดขายในสาขาเดิมผ่านการสร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายของแบรนด์ต่างๆ เช่น โออิชิฉลองครบรอบ 25 ปี ด้วยแคมเปญร่วมกับ 10 เชฟชื่อดังของประเทศไทย เพื่อนำเสนอประสบการณ์และนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้แก่ผู้บริโภคที่ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นตลอดทั้งปี 2567

ในปี 2568  ได้เตรียมงบลงทุนประมาณ 1,300 ล้านบาท เพื่อเปิดร้านอาหารใหม่ 69 สาขา โดยเฉพาะแบรนด์เรือธงอย่างเคเอฟซี และโออิชิ รวมถึงปรับปรุงร้านตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า  ขณะเดียวกันก็มองโอกาสเสริมแกร่งธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน รวมถึงสินค้ากลุ่มฮาลาล  ที่ใช้มาเลเซียเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดประเทศต่างๆ

2568 จัดใหญ่ งบลงทุน 18,000 ล้านบาท

ขยายทุกกลุ่มธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ  

สำหรับแผนงานปีงบประมาณ 2568 (1 ต.ค. 67-30 ก.ย. 68) ไทยเบฟตั้งงบลงทุนรวม 18,000 แบ่งเป็น ลงทุนในฟาร์มโคนม ซึ่งเป็น Close loop Farm ในประเทศมาเลเซีย 8,000 ล้านบาท ธุรกิจสุรา  2,500 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจเบียร์ ในไทย เวียดนาม และกัมพูชา 3,000 ล้านบาท  กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (ธุรกิจชาเขียวและนมข้นหวานในกัมพูชา) 1,500 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจอาหาร 1,000 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนความยั่งยืน 2,000 ล้านบาท

ทั้งนี้เป็นงบการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ต่อปีจะกำหนดงบลงทุนประมาณ 7,000 ล้านบาท โดยเพิ่มในกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพื่อเดินหน้าตามเป้าหมายผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารในระดับภูมิภาคอาเซียน

พัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน

นางต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ กล่าวว่า เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย “สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน”  การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2583 ไทยเบฟได้ดำเนินงานด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องหลากหลายโครงการ ซึ่งในปี 2566 บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนแล้วดังนี้

  • ระยะที่ 1-3 ของโครงการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ครอบคลุมโรงงาน 40 แห่งของกลุ่มในประเทศไทย เมียนมา และเวียดนาม รวมกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 42.48 เมกะวัตต์
  • ขยายโครงการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ระยะที่ 4 เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจในประเทศไทย โดยจะติดตั้งบริเวณหลังคาอาคารและแผงแบบลอยน้ำที่โรงงานเบียร์และโรงงานเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
  • สร้างโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพที่โรงงานสุราในจังหวัดราชบุรี เพิ่มจากเดิมที่มีอยู่ 7 แห่ง ซึ่งจะช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำได้ถึงปีละ 1.5 ล้านลิตร และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงปีละ 20,205 เมตริกตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  • นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในองค์กรแทนแหล่งพลังงานเดิมได้ 37% (ไม่รวมเวียดนาม)
  • ลดการดึงน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติได้ 13.17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วในพื้นที่ที่มีการใช้น้ำมาก
  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope 1 และ Scope 2 ลงได้ 8.7% เมื่อเทียบกับปีฐาน 2562 (ไม่รวมเวียดนาม)
  • นำขยะอาหารและของเสียอื่นๆ 61.6% กลับมาใช้ใหม่เพื่อวัตถุประสงค์อื่น (ไม่รวมเวียดนาม)
  • เก็บกลับบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วได้ 97% ของจำนวนสินค้าที่จำหน่ายในประเทศไทย เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิล
  • สัดส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทยได้รับเครื่องหมาย “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” เพิ่มขึ้นเป็น73% 

ในปี 2566 ไทยเบฟได้รับการจัดอันดับอยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีคะแนนสูงสุด “Top 1% S&P Global Corporate Sustainability Assessment (CSA) Score” ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน โดยได้คะแนนสูงสุดในหมวดธรรมาภิบาล เศรษฐกิจ และสังคม และได้คะแนนเป็นอันดับสองในหมวดสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน

นอกจากนี้ยังได้รับคัดเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (“DJSI”) โดยเป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีโลก (DJSI World Index) เป็นปีที่ 7 และกลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ (DJSI Emerging Markets Index) เป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน

อีกทั้งได้เข้าร่วมโครงการเปิดเผยข้อมูลตามกรอบการประเมินของ Carbon Disclosure Project (CDP) ซึ่งเป็นสถาบันประเมินความยั่งยืนที่น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับมากที่สุดทั่วโลก  โดยไทยเบฟได้รับคะแนนระดับ A- ในด้านการบริหารจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการบริหารจัดการน้ำ (Water Security) จากการประเมินในปี 2566