กรุงศรี ชูธง ESG Finance สร้างตลาดการเงินเพื่อความยั่งยืน

0
55

กรุงศรี เผยกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกลุ่มงานลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจปี 2567 ชูธง ESG Finance สร้างโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ตลาดการเงินเพื่อความยั่งยืน ตอกย้ำความสำเร็จการให้บริการสินเชื่อโครงการ การซื้อขาย ควบรวมกิจการ และการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO)

นายประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ยอดสินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจในปี 2566โต 2.6% โดยเน้นสินเชื่อและระดมทุนที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืน เช่น เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายพันธบัตรและหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนและเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายความยั่งยืน การมีส่วนร่วมกำหนดมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย และอีก 13 เครือข่ายองค์กร เพื่อใช้อ้างอิงสำหรับการเข้าถึงบริการทางการเงินที่จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

ปิดดีลใหญ่ หนุนธุรกิจโตได้ โตไกล อย่างยั่งยืน

โดยในปี 2566 กรุงศรีช่วยให้กลุ่มลูกค้าธุรกิจประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจด้านความยั่งยืนผ่านดีลสำคัญมากมาย อาทิ

-เป็นผู้จัดการเงินกู้ร่วมและผู้ประสานงานด้านดัชนีความยั่งยืน สนับสนุนสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan: SLL) ให้กับบริษัท   ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จำนวน 11,500 ล้านบาท

-เป็นผู้ให้คำปรึกษาทางด้านสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) และเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินแต่เพียงผู้เดียว ให้กับบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (SCGP) จำนวน 3,000 ล้านบาท

– ให้การสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) แก่บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) จำนวน 500 ล้านบาท

-เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนและเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับหลายองค์กรสำคัญ ได้แก่

0 พันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจำนวน 3,500 ล้านบาท

0 หุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ของบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 8,000 ล้านบาท

0 หุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ของบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)  จำนวน 7,000 ล้านบาท

0 หุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Debenture) โดยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวน 6,500 ล้านบาท

0 หุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ของบริษัท ราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,000 ล้านบาท

0 หุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ของบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 500 ล้านบาท

ทั้งนี้ กรุงศรีได้ระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) และตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล (Blue Bond) เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล จำนวน 400 ล้านเหรียญสหรัฐ

สร้างโซลูชันเพื่อธุรกิจ ยกระดับบริการที่ปรึกษา

ตอบโจทย์การแข่งขันให้ธุรกิจแบบครบวงจร

จากความต้องการด้านเงินทุนและแนวโน้มการขยายธุรกิจสู่เวทีระดับภูมิภาคและนานาชาติ และแนวคิดการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน กลุ่มงานลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจในปี 2567 จึงมุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ตลาดการเงินเพื่อความยั่งยืน พร้อมกับการเพิ่มศักยภาพการให้บริการด้านวาณิชธนกิจ เพื่อช่วยยกระดับการแข่งขันให้กับธุรกิจไทยแบบครบวงจรมากยิ่งขึ้น ประกอบไปด้วยแผนการดำเนินงานดังนี้

-พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน เพื่อส่งเสริมลูกค้าในการเปลี่ยนผ่านสู่เส้นทางการเงินเพื่อความยั่งยืน โดยฝ่าย ESG Finance (ESG Finance Department or EFD) เดินหน้าให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเงินเพื่อความยั่งยืน (ESG Finance) เป็นที่ปรึกษาเพื่อช่วยวางแผนในช่วงการเปลี่ยนผ่าน พร้อมจัดระเบียบพอร์ตสินเชื่อของธนาคารตามมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy)  และสานต่องานสัมมนาครั้งใหญ่ Krungsri-MUFG ESG Symposium 2024 เพื่อช่วยส่งเสริมระบบนิเวศด้านความยั่งยืนให้ประเทศไทย

-เพิ่มศักยภาพการบริการด้านวาณิชธนกิจ  โดยร่วมมือกับกรุงศรี กรุ๊ป เครือข่ายระดับโลกของ MUFG และเครือข่ายธนาคารพันธมิตรในภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้บริการตรงตามความต้องการลูกค้า ครอบคลุมตั้งแต่การกู้ยืม การระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ (Debt Capital Markets) การทำสินเชื่อโครงการ (Project Finance/Structure Finance) การซื้อขายและควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions) การระดมทุนผ่านตลาดตราสารทุน (Equity Capital Markets)

โดยในปีที่ผ่านมามีการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ให้กับหลายบริษัท เช่น บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) (SAV) ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ หมวดธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ โดยประกอบธุรกิจให้บริการบริหารจัดการควบคุมการจราจรทางอากาศของประเทศกัมพูชาภายใต้สัมปทานแต่เพียงผู้เดียว

นอกจากนั้นยังให้บริการที่ปรึกษาในการซื้อและควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions) โดยเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในการร่วมทุนในโซลาร์ฟาร์มในประเทศไทยรวมกับพันธมิตรซึ่งเป็นนักลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความยั่งยืน

“ด้วยองค์ความรู้ ทีมงานมืออาชีพ และเครือข่ายที่แข็งแกร่งของกรุงศรี กรุ๊ป และ MUFG สามารถนำเสนอโซลูชันที่ครบวงจรและเหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละอุตสาหกรรมครอบคลุมตลาดทั้งในและต่างประเทศ  โดยสานต่อการดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนตามโมเดล ESG  เพื่อนำพาลูกค้าก้าวสู่การเติบโตที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยตั้งเป้าปี 2567 สินเชื่อเติบโตที่ 4-6%” นายประกอบ กล่าวสรุป