กสิกรไทย พร้อมหนุนภาคธุรกิจสู้ศึก Climate Game จัดเต็มโซลูชั่นครบวงจร พร้อมสินเชื่อยั่งยืนแสนล้าน

0
37

กสิกรไทยเปิดยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม ปี 2567 พร้อมพาธุรกิจไทยเปลี่ยนผ่าน รับมือกับแรงกดดันด้านกฎระเบียบสิ่งแวดล้อมโลก (Climate Game)  โดยธนาคารปรับการดำเนินงาน (Green Operation) ด้วยมาตรฐานสากล ส่งมอบสินเชื่อและเงินลงทุนด้านความยั่งยืน (Sustainable Financing and Investment) ที่จะไปแตะ 100,000 ล้านบาท  จัดเตรียมโซลูชันด้านสิ่งแวดล้อม(Climate Solutions) ในทุกมิติ ทั้งการให้คำปรึกษา การจัดทำ Carbon Accounting การทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับคาร์บอนเครดิตและระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง (Carbon Ecosystem) มุ่งสู่เศรษฐกิจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อม (Transition Risk)  เนื่องจากฎระเบียบทางการค้าที่สหรัฐฯ ยุโรป และจีน ทยอยบังคับใช้เพิ่ม จะส่งผลกระทบต่อมูลค่าสินค้าส่งออกไทยราว 40-45% ซึ่งร่าง พรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ….. ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา กำหนดให้ภาคธุรกิจต้องวัดผลและรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (MRV) มาตรการจำกัดสิทธิผู้ประกอบการเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Cap and Trade) มาตรการจัดเก็บภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากสินค้าภาคอุตสาหกรรม (Carbon Tax) รวมถึงการทำธุรกรรมเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต จะกระทบกับผู้ประกอบธุรกิจในวงกว้าง  

ธนาคารมุ่งมั่นสนับสนุนภาคธุรกิจปรับตัวรับมือโลกธุรกิจกำลังเข้าสู่ยุค Climate Game โดยกำหนดยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม ปี 2567 นำพาธุรกิจและเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกธุรกิจรูปแบบใหม่ ปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงและคว้าโอกาสสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยดำเนินการผ่านกลยุทธ์หลัก ดังนี้ 

ลดก๊าซเรือนกระจกจากการทำงานของธนาคาร 

กลยุทธ์ที่ 1 Green Operation – ธนาคารปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงาน มุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Scope 1-2) เป็น Net Zero ด้วยมาตรฐานสากล โดยเริ่มพัฒนาระบบข้อมูลก๊าซเรือนกระจก และดำเนินการเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ การติดตั้ง Solar Rooftop ครบ 100% ที่อาคารหลักของธนาคาร 7 แห่ง และที่สาขา 78 สาขา ภายในเดือน มิ.ย. 2567 เปลี่ยนรถยนต์ที่ใช้ในธุรกิจจากรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 183 คัน  

โดยธนาคารลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ในปี 2566 ลดได้ 12.74% เมื่อเทียบปีฐาน (2563) มีการจัดการด้านคาร์บอนเครดิต โดยเป็นกลางทางคาร์บอนมาแล้ว 6 ปีต่อเนื่อง (2561-2566) และตั้งเป้าหมายเป็น Net Zero ใน Scope 1 & 2 ภายในปี 2573 

ช่วยลูกค้าด้วยการเงินสีเขียว 

กลยุทธ์ที่ 2 Green Finance – ธนาคารนำความแข็งแกร่งด้านสินเชื่อและเงินลงทุน สนับสนุนภาคธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านอย่างครบวงจร ได้แก่ 1.สินเชื่อด้านสิ่งแวดล้อม (Green Loan) และสินเชื่อเพื่อปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจในการเปลี่ยนผ่าน (Transition Finance)  2.จัดสรรเงินลงทุนในธุรกิจและสตาร์ตอัพที่สร้างผลกระทบเชิงบวก 3. นำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนทั้งของธนาคารและพันธมิตรระดับโลกเพื่อดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนไปสนับสนุนธุรกิจที่คำถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESG) โดยมอบสินเชื่อและเงินลงทุนเพื่อความยั่งยืนไปแล้ว 73,397 ล้านบาท (ปี 2565-2566) คาดว่าจะมียอดรวมเป็น 100,000 ล้านบาท ภายในปี 2567 และเพิ่มเป็น 200,000 ล้านบาท ภายในปี 2573 ตามเป้าหมาย 

กลยุทธ์นี้มีจุดชี้วัดหลัก (KPI) ด้วยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio Emission) ของอุตสาหกรรมหลักที่ธนาคารสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอย่างใกล้ชิด โดยวางแผนกลยุทธ์รายอุตสาหกรรม (Sector Decarbonization Strategy)  5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต้นน้ำ กลุ่มเหมืองถ่านหินประเภทเชื้อเพลิงให้ความร้อน กลุ่มซีเมนต์ และกลุ่มอลูมิเนียม

ซึ่งความคืบหน้าที่วัดผลได้ อาทิ พอร์ตโฟลิโออุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า ที่ธนาคารสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว 3,800 ล้านบาท ปัจจุบันมีระดับความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Intensity per GWh) ในพอร์ตนี้ลดลง 5% ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปีฐาน (2563) สอดคล้องกับแผนที่วางไว้ 

ส่งมอบโซลูชันที่มากกว่าแบงก์กิ้ง 

นายพิพิธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร คิดเป็น 480 เท่า ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินการโดยตรงของธนาคาร (Own Operation – Scope 1 & 2)  ดังนั้นจึงเร่งสร้างเครื่องมือสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผู้ประกอบการ ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องเงินแล้ว ยังต้องการการสนับสนุนจากธนาคารด้านอื่นๆด้วย เช่น ความรู้ด้าน ESG  บริการให้คำปรึกษาเชิงเทคนิค และการจับคู่ธุรกิจกลุ่ม ESG ซึ่งธนาคารได้บูรณาการศักยภาพทั้งโซลูชัน องค์ความรู้ และเทคโนโลยี ยกระดับการทำงานทั้งของธนาคารและลูกค้า ดังนี้ 

กลยุทธ์ที่ 3 Climate Solutions – โดยอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตร ประกอบด้วย โซลูชันการส่งมอบความรู้และคำแนะนำ (Knowledge Provider) ที่บูรณาการองค์ความรู้จากสถาบันชั้นนำ การพัฒนาโซลูชันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับลูกค้าทั้งบุคคลและผู้ประกอบการ (Reduction Solution) โดยทดลองออกบริการนำร่องแล้ว ได้แก่ WATT’S UP แพลต์ฟอร์มรองรับการเช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร และบริการสลับแบตเตอรี่ผ่านจุดบริการ  ปัจจุบัน มีผู้ใช้งาน 367 ราย  และคาดว่าปี 2567 จะมีรุ่นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้บริการมากกว่า 10 รุ่น ขยายตู้สลับแบตเตอรี่เป็นกว่า 70 สาขา ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่ปันไฟ” (Punfai) แอปพลิเคชันที่ธนาคารกสิกรไทยร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พัฒนาแอปพลิเคชันแลกเปลี่ยนไฟฟ้าแห่งแรกของไทยที่ตอบโจทย์การใช้งานครบทุกมิติ รองรับการใช้งานทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ 

นอกจากนี้ ธนาคารนำประสบการณ์กว่า 10 ปี ในการวัด Carbon Footprint มาใช้เตรียมพัฒนาโซลูชันใหม่ที่จะช่วยผู้ประกอบการเรื่องการวัดผล รายงาน และตรวจสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon MRV)  ให้สอดคล้องกับมาตรฐานระดับประเทศและระดับสากล  

กลยุทธ์ที่ 4 Carbon Ecosystem – เตรียมเชื่อมต่อใน Carbon Ecosystem เพื่อการพัฒนาบริการไปอีกขั้น ในธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับคาร์บอนเครดิต โดยศึกษาและดำเนินการซื้อคาร์บอนเครดิตสำหรับการชดเชยทางคาร์บอนของธนาคารและบริษัทในกลุ่มฯ เพื่อสนับสนุนคาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพ และมีความมุ่งหวังที่จะเป็นตัวอย่างและร่วมผลักดันให้ตลาดคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยเติบโตและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล  

นอกจากนี้ ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) ที่ธนาคารร่วมมือกับ Innopower อำนวยความสะดวกให้ประชาชนและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ขึ้นทะเบียนและขายใบรับรอง REC ได้ รวมถึงการศึกษาและเตรียมแนวทางในมิติอื่น ๆ ของระบบนิเวศด้านคาร์บอนเครดิต เช่น การเป็นตัวแทนซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Broker / Dealer) การออกโทเคนคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Tokenization)  

“การทำงานด้าน Climate Change ในระดับประเทศให้บรรลุผล สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง ต้องอาศัยพลังจากทุกคนร่วมมือทำไปด้วยกัน โดยธนาคารกสิกรไทยพร้อมเป็นจุดเชื่อมต่อของภาคธุรกิจ ลูกค้า  ผู้กำกับดูแล ผู้กำหนดนโยบาย องค์กรแหล่งความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและนวัตกรรม ตลอดจนภาคการเงินและตลาดทุน บูรณาการศักยภาพต่าง ๆ เพื่อส่งมอบเครื่องมือ ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจไทยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่โลกธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงคว้าโอกาสที่จะเกิดขึ้นในเศรษฐกิจการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ไปด้วยกัน”นายพิพิธ กล่าวสรุป