Kbank จัดใหญ่ “EARTH JUMP 2024:The Edge of Action”  ระดมความคิดยกระดับธุรกิจไทยสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

0
32

กสิกรไทย จัด “EARTH JUMP 2024 : The Edge of Action” ปี 2 ธุรกิจไทยตระหนักถึงผลกระทบต่อภาวะโลกเดือด นักธุรกิจเข้าร่วมงานกว่า 2,000 คน พร้อมผู้นำองค์กรชั้นนำระดับโลกและไทยกว่า 40 ท่าน ร่วมให้ความรู้ในทุกมิติ ทั้งโอกาส กฎเกณฑ์ มาตรการต่างๆ การสนับสนุนการเงินของธนาคาร รวมถึงการแชร์ประสบการณ์จากธุรกิจที่ปรับตัวแล้ว เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและยกระดับธุรกิจและสังคมไทยสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษถึงทิศทางพลังงานสะอาดของไทยว่า ปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนสนใจลงทุนในต่างประเทศ คือ สิทธิประโยชน์จากการลงทุน ความเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และพลังงานสะอาด ซึ่งประเทศไทยจะลดก๊าซคาร์บอนได้ ต้องให้ความรู้ทั้งภาคธุรกิจและประชาชน ขณะที่ภาคการเงินมีความสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนของภาคธุรกิจ ซึ่งธนาคารกสิกรไทยทำมานานและสนับสนุนเงินกู้ให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ภาครัฐจะมีการออก Sustainability-Linked Bond ผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันดำเนินนโยบายที่สร้างความยั่งยืน ซึ่งบริษัทใหญ่ๆและเข้าใจดีแล้ว แต่ยังเป็นห่วง Supply Chain ถ้ายังไม่เข้าใจไปในแนวทางเดียวกัน การส่งออกสินค้าไปขายต่างประเทศจะเกิดปัญหา ดังนั้นสินเชื่อสีเขียวจึงเป็นเงินทุนสำคัญให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปได้

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า อัตราการเติบโตของ GDP มักสวนทางกับอัตราการปล่อยคาร์บอน โดยประเทศที่มีการเติบโตของจีดีพีสูง อัตราการปล่อยคาร์บอนจะยิ่งน้อย เพราะตระหนักถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต และพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยี เพื่อวางรากฐานด้านโครงสร้างต่างๆให้ต่อยอดและสร้างโอกาสได้หลากหลาย

สำหรับประเทศไทย มีแนวโน้มที่ดีจากการฟื้นตัวของ GDP ที่สวนทางกับการปล่อยคาร์บอนที่ลดน้อยลง แสดงให้เห็นว่าทุกภาคส่วนเริ่มให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งการที่จะก้าวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำนั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันกำหนดกติกากลาง  ไม่ว่าจะเป็นกติกาด้านภาษี ทั้งภายในและต่างประเทศ  กติกาด้านการเงินและการลงทุน เป็นต้น

“การสนับสนุนให้ธุรกิจตระหนักถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องสำคัญ ธนาคารจึงจัดงานนี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้รู้กติกาด้านภาษีทั้งภายในและต่างประเทศ กติกาด้านการเงินและการลงทุน รวมถึงการแชร์ประสบการณ์การปรับตัวจากธุรกิจต่างๆ ที่ได้ลงมือทำและเห็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้” 

“และในฐานะสถาบันการเงิน ธนาคารมีเป้าหมายในการสร้างแรงกระเพื่อม เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดการ take action คือลงทำจริงๆไม่ใช่มีเพียงแผนงานหรือทำแบบฉาบฉวย  และเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ทำไปเรื่อยๆ ทำไปเรียนรู้ไป เพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมและเป็นไปอย่างยั่งยืน” นางสาวขัตติยา กล่าวย้ำ

โดยงานครั้งนี้ มีสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมงานกว่า 70 บริษัท ปรึกษาธุรกิจแบบเอ็กคลูซีฟ เพื่อปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำได้จริง โดยธุรกิจสตาร์ทอัพสนใจปรึกษาเรื่องกฎหมายกับ McKinsey & Company มากที่สุด ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สนใจปรึกษาในหัวข้อ Decarbonize Advisory by KBank, Solar Panel Installation by SCG และ Sustainable Packaging Solution by SCGP ตามลำดับ สะท้อนว่าธุรกิจไทยบางส่วนมองเห็นโอกาสและพร้อมแล้วที่จะลงมือทำ

ทั้งนี้ Kbank ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายเป็นองค์กร Net Zero ในปี 2030 โดยสนับสนุนสินเชื่อและเงินลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing and Investment)ยอดสะสม ณ สิ้นปี 2023 รวม 73,397 ล้านบาท และคาดว่าสิ้นปี 2024 จะเพิ่มเป็น 100,000 ล้านบาท จากเป้าหมาย 200,000 ล้านบาทในปี2030

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ประเทศพัฒนาแล้วจะมีนโยบายและแผนงานเชิงรุก มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2050 เพราะมีความพร้อมทั้งเงินลงทุนและพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและสังคม  ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มสีน้ำตาล ยังคงบใช้เทคโนโลยีแบบเก่า และพึ่งการใช้พลังงานฟอสซิลในสัดส่วนสูง

ดังนั้นการปรับตัวของภาคธุรกิจไทย ต้องให้ความสำคัญในสองมิติ คือ climate mitigation เพื่อปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ และ climate adaptation สนับสนุนการลงทุนในนวัตกรรมหรือนำเทคโนโลยีที่ช่วยรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น  โดยคำนึงถึงต้นทุนและผลกระทบความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ยังขาดความพร้อม

“ประเทศไทยกำหนดเป้าหมายการปล่อยการเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 ต่างจากหลายประเทศที่กำหนดในปี 2050 เพราะบริบทของไทย ต้องเริ่มจากการปรับภาคธุรกิจกลุ่มสีน้ำตาล ให้เป็นสีน้ำตาลอ่อน (less brown) โดยทำในส่วนที่ทำได้ ไม่เร็วเกินไปจนธุรกิจปรับตัวตามไม่ทัน และไม่ช้าเกินไปจนทำให้ไทยตกขบวนหลุดออกจากวงจรการค้าระหว่างประเทศ  ซึ่งหัวใจสำคัญที่สุดคือ การเริ่มลงมือทำให้เกิด action อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเข้าสู่เส้นทางที่ less brown และค่อย ๆ ปรับตัวเข้าสู่ green ในที่สุด”

สำหรับภาคธนาคารพาณิชย์ไทย ตื่นตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2023 ธนาคารขนาดใหญ่ได้ปล่อย green loan ไปแล้วทั้งหมด 190,000 ล้านบาท  ถึงแม้จะเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนสินเชื่อ  แต่ก็เห็นถึงการเติบโตที่มากขึ้น  รวมถึงธนาคารอีกหลายแห่งได้ประกาศเป้าหมาย net zero emissions โดยเพิ่มวงเงินสนับสนุนเงินทุนเพื่อความยั่งยืนและสินเชื่อสีเขียวในอีก 5 – 10 ปีข้างหน้า ครอบคลุมผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย เช่น สินเชื่อเพื่อธุรกิจผลิตพลังงานสะอาด สินเชื่อ solar roof สินเชื่อธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า และการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับการออก green bond ให้กับภาคธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งแสดงถึง commitment ของภาคการเงินที่พร้อมจะสนับสนุนเงินทุนเพื่อการปรับตัว ด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศที่ยังมีโอกาสเติบโตทางธุรกิจได้อีกมาก

อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนเงินทุนเพื่อการปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่เป็น green finance เพื่อธุรกิจที่หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ในขณะที่เงินทุน transition finance สำหรับสนับสนุนธุรกิจกลุ่มที่ยังเป็น brown ให้ less brown ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ green ยังมีอยู่น้อย จึงจำเป็นต้องจัดสรรเงินทุนสำหรับภาคธุรกิจกลุ่มนี้ให้มากขึ้น