KTAM เปิดกองตราสารภาครัฐ “KTESGSI-ThaiESG”IPO 7 – 16 ต.ค.2567

0
22

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTAM) เปิดเผยว่า การบริหารที่รับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม รวมถึงธรรมาภิบาล (ESG) จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างมีศักยภาพ   ซึ่งบริษัทต่างๆและนักลงทุนต่างมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจหรือองค์กรที่ให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น  KTAMจึงเปิดเสนอขาย กองทุนเปิดกรุงไทย ตราสารภาครัฐ ESG (ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืน) (KTESGSI-ThaiESG) โดยเสนอขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 7 – 16 ตุลาคม 2567 นี้  

ทั้งนี้ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ ThaiESG ได้มีการปรับเกณฑ์การลงทุนตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 เฉพาะหน่วยลงทุนที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 เพื่อส่งเสริมให้มีการออมผ่านกองทุนชนิดนี้เพิ่มขึ้น โดยขยายวงเงินลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท (ไม่นับรวมกับวงเงิน 5 แสนบาท ของการออมเพื่อเกษียณอื่น ๆ ได้แก่ RMF SSF PVD กองทุนสงเคราะห์ครู กบข. ประกันบำนาญ และ กอช.) นอกจากนี้ ยังลดระยะเวลาการถือครองเหลือเพียง 5 ปี นับแบบวันชนวัน  

KTESGSI-ThaiESG (ความเสี่ยงระดับ 3) เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินต้นแต่ไม่รวมถึงหุ้นกู้แปลงสภาพ ซึ่งเป็นพันธบัตรหรือหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (green bond) พันธบัตรหรือหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability bond) หรือพันธบัตรหรือหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (sustainability – linked bond) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV โดยกองทุนนี้เหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล รวมถึงพันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันที่เกี่ยวข้องกับ ESG และยอมรับความเสี่ยงได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ  

“การลงทุนในกลุ่ม ESG  มีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องจาก Fund Flow ที่มีแนวโน้มไหลเข้ามามากขึ้น และจากความได้เปรียบในการทำธุรกิจโดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐและความร่วมมือกันในระดับโลก รวมถึงมีแนวโน้มที่จะตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ได้ดี อีกทั้งตลาดยังมีแนวโน้มให้ premium มากขึ้น สะท้อนผ่านผลตอบแทนที่ดีขึ้น และการลงทุนในกลุ่ม ESG ยังช่วยบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นางชวินดา กล่าว 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มกองทุน KRUNGTHAI Thailand ESG Fund ที่ได้เปิดเสนอขายไปแล้วเมื่อปี 2566 ให้เลือกลงทุนถึง 3 กองทุน ประกอบด้วย 1) กองทุนเปิดกรุงไทย ESG A Grade 70/30 (ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืน) (KTAG70/30-ThaiESG) (ความเสี่ยงกองทุนระดับ 5) เน้นการลงทุนในหุ้นที่มี SET ESG Ratings ระดับ A ขึ้นไป โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 70% และตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่เกิน 30% ของ NAV เหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในกองทุนผสม และยอมรับความเสี่ยงได้ปานกลางค่อนข้างสูง 

2) กองทุนเปิดกรุงไทย ESG50 (ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืน) (KTESG50-ThaiESG) (ความเสี่ยงกองทุนระดับ 6) เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ประมาณ 50 ตัวแรกที่อยู่ในดัชนี SET ESG Index และอยู่ใน Universe ของ KTAM ซึ่งผ่านการวิเคราะห์ด้าน ESG ของ KTAM ควบคู่กัน  โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV จึงทำให้มั่นใจได้ว่าจะมีการติตตามทั้งด้านผลการดำเนินงาน และ ESG ของบริษัทจดทะเบียนที่ได้เข้าไปลงทุนอยู่สม่ำเสมอ เหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในกองทุนหุ้น และยอมรับความเสี่ยงได้สูง  

และ 3) กองทุนเปิดกรุงไทย ESG A Grade (ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืน) (KTAG-ThaiESG) (ความเสี่ยงกองทุนระดับ 6) เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ที่มี SET ESG Ratings ระดับ A ขึ้นไป หรือได้รับการจัดอันดับในระดับที่สามารถเทียบเคียงได้กับระดับ A ขึ้นไป จากองค์กรหรือสถาบันอื่นที่สำนักงาน ก.ล.ต. ยอมรับว่ามีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม หรือด้านความยั่งยืน โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV 

ปัจจัยความเสี่ยงของกลุ่มกองทุน KRUNGTHAI Thailand ESG Fund ที่สำคัญ : ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนที่คำนึงถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ บรรษัทภิบาล ความเสี่ยงจากการดําเนินงานของผู้ออกตราสาร ความเสี่ยงจากการผิดนัดชําระหนี้ของผู้ออกตราสาร ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องของหลักทรัพย์ ความเสี่ยงจากการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง  

คำเตือน : ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ หากลงทุนไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนด อาจต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีและเสียเงินเพิ่ม