SCB เดินหน้าภารกิจ “อยู่ อย่าง ยั่งยืน” เคียงข้างลูกค้าพาสู่เป้าหมาย Net Zero  

0
27

ธนาคารไทยพาณิชย์ ชูแนวคิด “อยู่ อย่าง ยั่งยืน” (Live Sustainably) ผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมขับเคลื่อนธุรกิจและสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน ทั้งธนาคาร ลูกค้า และสังคม  วางกรอบ 3 ระยะสู่ความยั่งยืน ตั้งธงเป็นพันธมิตรนำพาลูกค้าฝ่าความท้าทายสู่เป้าหมาย Net Zero ควบคู่กับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในสังคม เพื่อให้คนไทยได้อยู่ อย่าง ยั่งยืน  

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า  ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ทุกคน ต้องร่วมกันตั้งเป้าหมาย สร้างแรงกระเพื่อม และประสานความร่วมมือ โดยธนาคารพร้อมสนับสนุนลูกค้าด้วยการจัดสรรเงินทุน (Sustainable finance) กำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ (Responsible lending) และความแข็งแกร่งทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งนี้ธนาคารวางเป้าหมายสู่ความยั่งยืนใน 3 ระยะ คือ 1)สนับสนุนลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้วยสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนจำนวน 150,000 ล้านบาท ภายใน 2025  ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาสที่ 2/2024  สนับสนุนสินเชื่อไปแล้วกว่า 1.11 แสนล้านบาท 2) ปรับการดำเนินงานองค์กรสู่ Net Zero ภายในปี 2030 และ 3) เป็นธนาคารไทยแรกที่ตั้งเป้า Net Zero 2050 จากการให้สินเชื่อและการลงทุนตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ หรือ Science-Based Targets Initiative (SBTi) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลก ด้วยแผนการเปลี่ยนผ่านพอร์ตสินเชื่อทั้ง 2.3 ล้านล้านบาทสู่พอร์ตสินเชื่อสีเขียว 

เพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมาย ธนาคารได้วางกรอบการดำเนินงานเพื่อส่งต่อความยั่งยืน เป็น 3 แกน ประกอบด้วย  

1) Sustainable Banking สนับสนุนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน  ช่วยลูกค้าลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจกับคู่ค้า สร้างสรรค์พัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆที่ตอบสนองระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และความต้องการของผู้บริโภค โดยไทยพาณิชย์เป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ตั้งเป้า Net Zero 2050 จากการให้สินเชื่อและการลงทุนตามหลักทางวิทยาศาสตร์ (SBTi) และเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมอีเควเตอร์ หรือ Equator Principles (EP) Association ในการนำหลักการ EP มาใช้กำหนดนโยบายและพัฒนากระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม 

โดยธนาคารเตรียมเงินทุนสนับสนุนการเงินยั่งยืนระหว่างปี 2023-2025 กว่า 150,000 ล้านบาท ปัจจุบันอนุมัติไปแล้วกว่า 111,000 ล้านบาท พร้อมนำจุดแข็งทางเทคโนโลยีมาให้บริการด้วยโซลูชั่นทางการเงินที่สอดคล้องกับธุรกิจของลูกค้า รวมถึงการเป็นที่ปรึกษาและจัดหาพาร์ทเนอร์ทางเทคโนโลยีอื่นๆเพื่อช่วยบริหารการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดต้นทุนระยะยาว  

2) Corporate Practice Excellence สร้างองค์กรแห่งความยั่งยืน  ธนาคาคารมุ่งเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืนในทุกมิติ   มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน และกำหนดเป้าหมาย Net Zero 2030 โดยปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานในองค์กรให้เป็นระบบประหยัดพลังงาน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด  พัฒนาบุคลากรด้วยการสร้างวัฒนธรรมความยั่งยืน ปลูกฝัง DNA ความยั่งยืนให้พนักงานด้วยหลักสูตรต่างๆ ขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนในองค์กรและช่วยเหลือลูกค้า ควบคู่ไปกับแผนการเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถของธนาคารตามยุทธวิธี AI-First Bank และการยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์   

3) Better Society พัฒนาสังคมที่ดียิ่งขึ้น  ธนาคารส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคม ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและการพัฒนาแบบองค์รวมมากว่า 3 ทศวรรษ ผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ  เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ ด้วยการพัฒนาเยาวชน ผสานด้วยเทคโนโลยีของธนาคารที่เข้าไปร่วมสร้างระบบนิเวศทางด้านการเงินและดิจิทัล  อาทิ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เกิดเป็นโครงการ Smart University และ Smart Hospital โดยมีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ แล้วกว่า 400,000 ราย 

“ปัจจุบันธุรกิจขับเคลื่อนด้วยความท้าทายใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลมาถึงการดำเนินธุรกิจและการดำเนินชีวิตของผู้คน ที่ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับทิศทางสังคมคาร์บอนต่ำ”

“อย่างไรก็ตามการปรับตัวของภาคธุรกิจ คือโอกาสขยายตัวของเศรษฐกิจครั้งใหม่  ซึ่งธนาคารกำหนดกลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่ครอบคลุมมิติด้านความยั่งยืน และดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมมาตลอด 3 ปี  ด้วยแนวคิด “อยู่ อย่าง ยั่งยืน” มุ่งมั่นเป็นธนาคารชั้นนำแห่งความยั่งยืน ที่จะนำการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในสังคม” นายกฤษณ์ กล่าวสรุป

ดร. ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า  ธนาคารวางเป้าหมาย Net Zero สำหรับพอร์ตสินเชื่อและการลงทุน (Scope 3 Category 15 Investment) ภายในปี 2050 ตามมาตรฐาน SBTi (Science Based Targets Initiative) มาตรฐานแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด สะท้อนจาก 8,800 องค์กรธุรกิจชั้นนำของโลกที่ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ตามกรอบ SBTi 

โดยธนาคารมุ่งมั่นเป็น True partner ให้ลูกค้า ทั้งสนับสนุนด้านการเงินที่ยั่งยืนผ่านผลิตภัณฑ์ (Sustainable Finance) ที่ครบถ้วนทุกกลุ่มลูกค้าและอุตสาหกรรม  และให้ความรู้คำแนะนำการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ผ่านการจับมือกับองค์กรพันธมิตรมีความเชี่ยวชาญในมิติต่างๆ ในการสร้างระบบนิเวศน์เพื่อสนับสนุนการลงมือปฏิบัติได้จริง และนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน  โดยธนาคารดำเนินการผ่านกลยุทธ์ 3 ด้าน ดังนี้  

1)  การบริหารพอร์ตสินเชื่อของธนาคารให้สอดคล้องกับ Net Zero Target (Net Zero Financed Portfolio Management) ด้วยการวางกลยุทธ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มลูกค้ารายอุตสาหกรรม (Sector Decarbonization Strategy) ซึ่งธนาคารเป็นผู้นำด้านการปล่อยสินเชื่อโรงงานไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของไทย วงเงินอนุมัติสินเชื่อกว่า 1.98 แสนล้านบาทระหว่างปี 2011 ถึงปัจจุบัน สัดส่วนสินเชื่อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน 61% ของพอร์ตโรงไฟฟ้า เทียบเคียงธนาคารชั้นนำของโลก และทำให้ความเข้มข้นของการปล่อย GHG ต่อหนึ่งหน่วยการผลิตไฟในพอร์ตโรงไฟฟ้าของธนาคาร (ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหลักภายใต้วิธี Sectoral Decarbonization Approach (SDA))  ปรับตัวลดลง และอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าทั่วโลกและต่ำกว่าเส้นทางในการบรรลุ Net Zero 2050 ตาม Paris Agreement

โดยธนาคารจะยังคงเพิ่มวงเงินสินเชื่อโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ เพื่อสนับสนุนความต้องการไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่เพิ่มมากขึ้น ควบคู่กับการลดการสนับสนุนพลังงานถ่านหิน  โดยทยอยลดสินเชื่อคงค้าง (Coal Phasing Out) และไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่ให้แก่การขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน 

สำหรับกลุ่มธุรกิจอื่นๆได้นำวิธี Implied Temperature Rise (ITR) ตามกรอบ SBTiมาใช้ในการวัดเป้าหมายและความคืบหน้าในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยระดับสินเชื่อของลูกค้าแต่ละรายขึ้นอยู่กับ Commitment ในการกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกที่เปิดเผยต่อสาธารณะ โดยผลสำรวจในกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่จำนวน 218 ราย คิดเป็น 84% ของสินเชื่อในกลุ่ม ITR (ยอดสินเชื่อ4.99 แสนล้านบาท) พบว่า ระดับการตั้งเป้าหมายของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่มีความหลากหลาย โดย 77 ราย สินเชื่อรวม 47% ของยอดสินเชื่อในกลุ่มสำรวจ มีการกำหนดและประกาศเป้าหมายครบถ้วน   ขณะที่อีก 100 ราย มีสินเชื่อรวม 35% ยังไม่มีการเก็บข้อมูล GHG และไม่มีการตั้งเป้าหมายแต่อย่างใด  

ทั้งนี้ ด้วยกลยุทธ์ในการ engage กับลูกค้าเพื่อนำไปสู่การตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสม ควบคู่กับการสนับสนุนด้านสินเชื่อเพิ่มเติมให้ลูกค้าที่มีการประกาศเป้าหมายที่ชัดเจน ทำให้ระดับอุณหภูมิพอร์ตโฟลิโอของลูกค้ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง กว่า 0.19 องศาเซลเซียส จาก 2.84 องศาเซลเซียส จากปีฐาน 2021 มาอยู่ที่ 2.65 องศาเซลเซียส ในปี 2023 โดยธนาคารมีเป้าหมายจะทำให้ระดับอุณหภูมิของพอร์ตสินเชื่อลดลงสู่ระดับ 2.35 องศาเซลเซียส ภายในปี 2028 และ 1.50 องศาเซลเซียสในปี 2040  ซึ่งจะช่วยให้ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบรรลุ Net Zero ได้ในปี 2050 

2) การสนับสนุนลูกค้าตลอดเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืน (Partner for Client’s Sustainability Journey) ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเงินยั่งยืนที่ครบถ้วน และตอบโจทย์ลูกค้าทุกขนาด พร้อมให้ความรู้และนำเสนอ Technical Solutions ที่นำไปใช้ได้จริง ด้วยการผนึกกับองค์กรพันธมิตรที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ ควบคู่กับการยกระดับศักยภาพบุคลากร  การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและกระบวนการบริหารงานภายในต่างๆ เพื่อเป็น True Partner ให้กับลูกค้าบนเส้นทางการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของลูกค้าที่ต่างกัน ดังนี้

  • ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ นำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อสีเขียว (Green Loan) ที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยอัตราดอกเบี้ย ขึ้นกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกหรือเป้าหมายด้าน Sustainability อื่นๆ ของโครงการ ตลอดจนสินเชื่อโครงการพลังงานทดแทน รวมถึงผลิตภัณฑ์ตลาดทุนและการเงินอื่นๆ เช่น การจัดจำหน่ายตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน และ เงินฝากยั่งยืน เป็นต้น   
  • ลูกค้าเอสเอ็มอี เน้นสนับสนุนสินเชื่อเพื่อปรับตัวธุรกิจที่สอดคล้องกับบริบทความพร้อมและความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม อาทิ โซลูชันเพื่อธุรกิจรักษ์โลกเพื่อผู้ประกอบการ SMEs (SCB SME Green Finance)  โครงการสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนและเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจสำหรับธุรกิจโรงแรม โครงการสินเชื่อลดฝุ่น PM 2.5 ในภาคธุรกิจอ้อยและน้ำตาล  รวมไปถึงการสนับสนุนให้ความรู้ ผ่านหลักสูตรระยะยาว งานสัมมนา และงาน Bootcamp กิจกรรม Business Matching  การสร้าง Ecosystem ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจให้ผู้ประกอบการทั้งหน่วยงานราชการ สมาคม สมาพันธ์ และ พันธมิตรทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง 
  • ลูกค้าบุคคล นำเสนอสินเชื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์รักษ์สิ่งแวดล้อม อาทิ สินเชื่อเพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งพัฒนาช่องทางดิจิทัลของธนาคารให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์เพื่อการปรับตัวสู่ความยั่งยืนผ่าน SCB EASY เป็นต้น  

3) การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมตามหลักการ Equator Principles (EP)  (EP adoption and implementation)  ซึ่งเป็นกรอบการบริหารความเสี่ยงสำหรับสถาบันการเงิน ที่นำมาตรฐานสากล Best Practices มาใช้เป็นกรอบแนวทางในการระบุ ประเมิน และจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมควบคู่กับการให้สินเชื่อในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2022 จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินการประเมินโครงการตามหลักการ EP ไปแล้วทั้งสิ้น 53 โครงการ คิดเป็นมูลค่าโครงการรวมกว่า 75,500 ล้านบาท