กรุงศรี พัฒนาผลิตภัณฑ์หนุน ESG -ธุรกรรม FX พาลูกค้าขยายธุรกิจต่างประเทศ

0
22

กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์พัฒนาผลิตภัณฑ์สนับสนุน ESG ผลิตภัณฑ์ปริวรรตเงินตราต่างประเทศ และบริการผ่านช่องทางดิจิทัล ดันธุรกรรมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศโต 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า  แม้มูลค่าการส่งออกและนำเข้าเติบโตไม่สูงนัก

นายฮิโรทากะ คุโรกิ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2566 กรุงศรีมีกำไรจากธุรกรรมเพื่อการค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศสูงถึง 5,732 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากปี 2565 และเพิ่มขึ้นถึง 13% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 แม้มูลค่าการส่งออกจะโตขึ้นเพียง 1%  สะท้อนถึงความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้งการสนับสนุนเรื่อง ESG การขยายธุรกิจสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ การเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัล และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของลูกค้าและประเทศไทย  

สนับสนุนการดำเนินงานด้าน ESG 

ในปี 2566 กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ ได้ออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล (Green & Blue Bond) จำนวน 400 ล้านเหรียญสหรัฐ  โดยเงินทุนที่ได้นำไปสนับสนุนสินเชื่อให้ลูกค้าในกิจการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในช่วงต่อมา 

“กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ ผสานความร่วมมือกับ MUFG นำเสนอผลิตภัณฑ์และโซลูชันทางการเงิน เพื่อสนับสนุนลูกค้าในการขยายการลงทุนและธุรกิจและการดำเนินการด้าน ESG ในอาเซียน เช่น ESG-Linked Derivatives ช่วยให้ลูกค้าบริหารความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยจากการกู้ยืม และเพิ่มเติมตามระดับความสำเร็จของเป้าหมาย ESG ที่ลูกค้าตั้งไว้ ซึ่งได้รับการความสนใจจากลูกค้า 
นิติบุคคลเป็นอย่างดี และปีนี้ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนการดำเนินการด้าน ESG ต่อไป” นายคุโรกิ กล่าวย้ำ 

เสริมแกร่งผลิตภัณฑ์และบริการปริวรรตเงินตราต่างประเทศ 

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ความต้องการของลูกค้าในการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในสกุลเงินอื่นนอกเหนือจากเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นมาก กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ จึงได้ขยายการให้บริการเงินสกุลเงินดีร์แฮมสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (AED) เมื่อต้นปี 2567 เพิ่มเติมจากสกุลเงินแรนด์แอฟริกาใต้ (ZAR) และดองเวียดนาม (VND) ที่ได้เริ่มให้บริการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว  

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาและขยายการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ปริมาณและยอดธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยจำนวนลูกค้านิติบุคคลที่ทำธุรกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศผ่านช่องทาง e-platform FX@Krungsri ในปี 2566 เพิ่มขึ้นถึง 129% และเพิ่มขึ้นอีก 66% ในครึ่งปีแรกของปีนี้ 

ปัจจุบัน ธุรกรรมการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ทำรายการผ่าน FX@Krungsri มีจำนวนเพิ่มขึ้น 54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา และการทำธุรกรรมของลูกค้ารายย่อยผ่านแอปพลิเคชัน KMA krungsri app ที่อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมโอนเงินต่างประเทศได้ถึง 15 สกุลเงิน ยังเติบโตอย่างมั่นคง โดยในปี 2566 มียอดธุรกรรมมากกว่า 35,000 รายการ 

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อํานวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน) กล่าวถึงภาพรวมของสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ว่าสัญญาณชะลอตัวของเงินเฟ้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะชัดเจนมากขึ้น เอื้อให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ตัดสินใจเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายไตรมาสสามของปีนี้  โดยมุมมองอัตราแลกเปลี่ยนอยู่บนสมมติฐานหลักที่ว่าเฟดจะหันมาใช้นโยบายที่เข้มงวดน้อยลงและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลดความร้อนแรงตามวัฏจักร (Soft Landing)

อย่างไรก็ตามปัจจัยลบนอกสหรัฐฯ อาทิ ความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับสถานะการคลังของประเทศแกนหลักในกลุ่มยูโรโซน และอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงติดลบอย่างมีนัยสำคัญในญี่ปุ่น อาจส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ได้แรงหนุนต่อไปในระยะสั้น ซึ่งค่าเงินบาทจะสามารถฟื้นตัวได้ก่อนสิ้นปีนี้จากการกลับทิศของนโยบายเฟด และแรงส่งจากภาคท่องเที่ยว 

ทั้งนี้ประมาณการค่าเงินบาทในไตรมาสสุดท้ายของปี ผันผวนในกรอบ 34.50-36.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยการแข็งค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัดท่ามกลางศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ขาดความโดดเด่น กระแสเงินทุนไหลออกต่อเนื่อง รวมถึงประเด็นความท้าทายจากทิศทางการค้าโลกในระยะถัดไป

“แม้การกลับมาของนักท่องเที่ยวหลังวิกฤติโรคระบาดจะช่วยพยุงเงินบาทไม่ให้อ่อนค่ารุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ รวมถึงทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่ำ แต่หากปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งฉุดรั้งขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ระดับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะโน้มต่ำลงในระยะยาว บั่นทอนภูมิคุ้มกันค่าเงินบาทในที่สุด สำหรับนโยบายการเงินของไทย โดยประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.50% ตลอดปีนี้” นางสาวรุ่ง กล่าวสรุป