กสิกรไทยจัด AFTERKLASS Business KAMP ปีที่ 4 สอนเยาวชนต่อยอดไอเดียนวัตกรรมเพื่อสังคมยั่งยืน

0
87

ธนาคารกสิกรไทย ตอกย้ำผลสำเร็จในการจัดโครงการ AFTERKLASS Business KAMP ผู้นำแคมป์แข่งขันสร้างไอเดียธุรกิจและนวัตกรรมสตาร์ทอัพในรูปแบบแฮคกาธอน (Hackathon) ให้กับนักเรียนมัธยมปลายทั่วประเทศ เดินหน้าจัดต่อเนื่องปีที่ 4 ร่วมกับมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา  ในธีม Innovation for a Sustainable Society Hackathon 2023 ให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้วิธีการพัฒนาและต่อยอดไอเดียนวัตกรรมเพื่อช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมให้เกิดขึ้นจริง เงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 200,000 บาท เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึง 10 กันยายน 2566

นายรวี อ่างทอง ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบูรณาการความยั่งยืนองค์การ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า AFTERKLASS เป็นโครงการส่งเสริมการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยผ่านหลักสูตรและแคมป์การเรียนรู้ด้านการเงินและทักษะที่หลากหลาย  ด้วยรูปแบบที่แตกต่างจากการเรียนในห้องเรียน นำไปสู่โครงการ AFTERKLASS Business KAMP ที่สอนเยาวชนระดับมัธยมปลายได้เรียนรู้ทุกมิติของการเป็นสตาร์ทอัพและแข่งขันในรูปแบบแฮคกาธอน (Hackathon) เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2563 และในปี 2565 มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการกว่า 700 คน หรือ 140 ทีม สามารถยกระดับทักษะทางธุรกิจของเยาวชนทั้งด้านการเงิน อาชีพ และการเรียนรู้ ตอบสนองความต้องการของเยาวชนรุ่นใหม่

สำหรับ AFTERKLASS Business KAMP ปีที่ 4  จัดขึ้นในธีม “Innovation for a Sustainable Society Hackathon 2023”  เน้นการสร้างแผนธุรกิจด้วยโปรแกรมบ่มเพาะนวัตกรรม (Incubation Program) ที่สามารถพัฒนาต่อให้เกิดขึ้นจริง สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน

โดยผู้เข้าร่วมแคมป์สามารถเลือกธีมไอเดียให้ตรงกับโจทย์ด้านความยั่งยืนที่สุดใน 3 ด้าน ได้แก่

            ด้านสุขภาพ และความเป็นอยู่ของผู้คน (Health and well-being of people) ไอเดียนวัตกรรมที่มุ่งมั่นจะส่งเสริมการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ส่งผลให้ผู้คนและสังคมมีความแข็งแรงสมบูรณ์ จนยกระดับเป็นสังคมที่ผู้คนมีวิถีชีวิตดีทั้งกายและใจ  

            ด้านคุณภาพชีวิต ชุมชน สังคม และเมืองอัจฉริยะ (Quality of life, community, society, and smart city) ไอเดียนวัตกรรมที่จะยกระดับการอยู่อาศัยและความเป็นอยู่ของชุมชนให้น่าอยู่ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

            ด้านสิ่งแวดล้อม และธรรมชาติ (Environment and nature) ไอเดียนวัตกรรมที่มุ่งมั่นจะสร้างความยั่งยืนให้สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ โลก สรรพชีวิต และระบบนิเวศที่ดีแข็งแรง

สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ จะได้เรียนรู้งกระบวนการสร้างนวัตกรรม ทั้งจากความต้องการของผู้ใช้ และความเป็นไปได้ในแง่มุมธุรกิจ ทั้งด้านความคุ้มทุน การวิเคราะห์ตลาด และความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี รวมถึงพัฒนาไอเดียนวัตกรรมจนเกิดเป็นแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ MVP (Minimum Viable Product) เพื่อนำไปทดสอบคุณสมบัติกับผู้ใช้จริง  

รวมไปถึงการเรียนรู้วิธีการนำเสนอนวัตกรรมต่อหน้านักลงทุนในการขอเงินทุนนำไอเดียไปพัฒนาให้สำเร็จตามแผนจากผู้เชี่ยวชาญ จากบริษัทเงินร่วมทุนของธนาคารกสิกรไทย (Beacon VC) รวมถึงเรียนรู้วิธีการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในมุมของการผลิตและการดำเนินงาน การตลาด และการเงิน จากผู้มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจนวัตกรรมสตาร์ทอัพหลากหลายวงการ และได้พบกับที่สุดของวงการ Tech และ Business จาก KBank และ KBTG มาร่วมแชร์ประสบการณ์สุดท้าทาย                        

โดยทีมที่ผ่านเข้ารอบ 6 ทีมสุดท้าย ได้เข้าร่วมกิจกรรมแข่งขันสร้างธุรกิจนวัตกรรมตอบโจทย์ความยั่งยืน (Hackathon Day) จะได้รับการสนับสนุนทุนเรียนรู้วิธีการพัฒนาไอเดียนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริง พร้อมสร้างแผนธุรกิจเพื่อต่อยอดนวัตกรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืนจากมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา และได้รับสนับสนุนเงินรางวัลในโครงการ AFTERKLASS มูลค่ารวมกว่า 200,000 บาท พร้อมวุฒิบัตรจากธนาคารกสิกรไทยย

สำหรับคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นสมาชิกเว็บไซต์ AFTERKLASS กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 หรือเทียบเท่า และไม่เคยเข้าร่วมโครงการได้ถึงรอบชิงมาก่อน โดยรับสมัครในรูปแบบทีมเท่านั้น ในแต่ละทีมประกอบด้วยสมาชิก 4 คน จากทั้งหมด 3 สาย ได้แก่ สาย Business วางแผนธุรกิจและการจัดการ สาย Tech พัฒนาระบบดิจิทัล และสาย Design ออกแบบเพื่อตอบโจทย์การใช้งานและความสวยงาม  ทั้งนี้สมาชิกในทีมไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน  เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึง 10 กันยายน 2566 ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและสมัครผ่านเว็บไซต์ https://www.afterklass.com/post/detail/7058/ หรือ Line official account: @afterklass

“ธนาคารมุ่งหวังให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ AFTERKLASS Business KAMP ได้เรียนรู้ในการสร้างแผนธุรกิจที่สามารถนำแนวคิดไปประยุกต์ใช้ได้จริง ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ แยกแยะอย่างมีระบบแบบแผน พร้อมสำหรับการก้าวไปเป็นผู้ประกอบการธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยกระดับธุรกิจที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงต่อไป” นายรวี กล่าวสรุป