“ทรีนีตี้” ชี้เศรษฐกิจและตลาดทุนไทยแกร่งขึ้น คาด Q 4 เงินทุนไหลเข้า รับเฟดลดดอกเบี้ย

0
13

 “ทรีนีตี้” มองตลาดหุ้นไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง และครบ 27 ปี ลอยตัวค่าเงินบาท เศรษฐกิจและตลาดทุนไทยแข็งแกร่งขึ้น มาร์เก็ตแคปทะยานสู่ 97% ของ GDP เชื่อครึ่งปีหลังเงินทุนไหลออกน้อยลงและจะไหลเข้ามาช่วงปลายไตรมาส 4 หลังเฟด ลงดอกเบี้ย ส่วนดัชนีหุ้นไทยช่วงที่เหลือของปีจะเคลื่อนไหวในกรอบ SET 1240-1430 จุด บนพื้นฐาน EPS ตลาดที่ 107 บาทต่อหุ้น และ PE ที่ 13.8 เท่า

ดร. วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า  วาระครบ 27 ปี วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 และครบรอบลอยตัวค่าเงินบาทวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เศรษฐกิจและตลาดทุนไทยมีความแข็งแกร่งขึ้นมาก จากมูลค่าตลาดทุน (Market Capitalization) ต่อGDP เพิ่มขึ้นจาก 24% มาสู่ 97% ของ GDP 

ตลาดตราสารหนี้มีการพัฒนาจากมูลค่าต่ำกว่าล้านล้านบาทในปี 1997 มาสู่ระดับ 17 ล้านๆบาท หรือ 95% ของ GDP  การระดมทุนมีความสมดุลมากขึ้นทั้งตราสารหนี้ ตราสารทุนและสินเชื่อธนาคาร ขณะที่ทุนสำรองต่อ GDP มีความแข็งแกร่งขึ้นมาอยู่ที่ 44%  เมื่อเทียบกับระดับ 18% ของ GDP ในปี 1997 ดุลเดินสะพัดมีความแข็งแกร่ง (บางปีถึง 10% ของ GDP)  แต่ในส่วนของดุลบัญชีทุนเริ่มอ่อนแอลงนับตั้งแต่ปี 2556

ด้านหนี้สินภาคธุรกิจแข็งแกร่งขึ้นจาก 175% ลงมาสู่ 95% ของ GDP ในปี 2552 ก่อนเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับ 197% GDP ในปีกลางปี 2567 จากสถานการณ์ Covid-19 ที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องก่อหนี้เพิ่ม ส่วนกำไรสุทธิต่อหุ้นดีขึ้นจากที่ขาดทุนสุทธิช่วงปี 2540 มาสู่ระดับ 80-90 บาทต่อหุ้นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤต แต่บางภาคส่วนอ่อนแอลงมากในเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจาก 40% ของ GDP มาสู่ระดับ 91% ของ GDP ในปัจจุบัน และนำไปสู่ความอ่อนแอของการออมภาคครัวเรือน

ทางด้านมูลค่าการซื้อขายของตลาดทุนไทย เมื่อเทียบกับ Market Cap ของตลาดหุ้น อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี  นักลงทุนรายบุคคลไทยลดลงจาก 47% มาสู่ 31%  อย่างไรก็ตามมองว่าตลาดทุนไทยครึ่งปีแรก  ได้ผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายสุดในด้านเงินทุนไหลออก ที่ไตรมาส 1 และ 2 ไหลออกไปกว่า 1.1 แสนล้านบาท ไปแล้ว

ซึ่งนอกจากต่างชาติจะขายหุ้นไทยแล้ว  ยังมีเม็ดเงินของคนไทยที่ไหลออกไปลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนต่างประเทศ และฝากเงินในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) กว่า 825,000 ล้านบาท ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงมาถึง 37 บาท/ดอลลาร์  และแนวโน้มระยะสั้นในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้า ค่าเงินเหรียญสหรัฐ จะยังคงแข็งค่าจากการเพิ่มขึ้นของส่วนต่าง (Gap) ของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และธนาคารกลางอื่นทั่วโลกยังอยู่สูง

ดร.วิศิษฐ์  กล่าวเพิ่มเติมว่า ในไตรมาส 3  Fund Flow ทั้งการซื้อและขายของนักลงทุนต่างชาติจะเบาบางทั้งภูมิภาค จากการรอสัญญาณธนาคารกลางสหรัฐ (Fed)ลดดอกเบี้ย และการเลือกตั้งสหรัฐฯ  ซึ่งตลาดหุ้นไทย  จะถูกขับเคลื่อนโดยนักลงทุนสถาบัน  โดยเคลื่อนไหวในกรอบ 1240-1430 บนสมมุติฐาน EPS ตลาดที่ 107 บาทต่อหุ้น และ PE ที่ 13.8 เท่า  โดยมองตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในลักษณะ  K shape และเป็น sector selection โดยแนะนำให้ลงทุนใน sector ที่กำไรเติบโต เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอาหาร กลุ่มโทรคมนาคม กลุ่มโรงไฟฟ้า และกลุ่มโรงพยาบาล

สำหรับนักลงทุนต่างชาติ จะเริ่มสนใจหุ้นไทยเมื่อ Earning yield gap เปรียบเทียบกับ Bond Yield 10 ปี ของสหรัฐมีค่าเฉลี่ยที่ 3.24% หรือระดับดัชนี SET ที่ 1250  โดยคาดว่า Fund Flow  จะไหลเข้าตลาดหุ้นไทยในปลายไตรมาส 4 ในหุ้นในกลุ่มธนาคารที่ให้ปันผลสูง  หลังความชัดเจนของFed ลดดอกเบี้ย   ซึ่งวันนี้ตลาดหุ้นไทยมีอีกกว่า 100 บริษัท ที่ให้ผลตอบแทนเป็นเงินปันผลในอัตรา 6-8%    

ทั้งนี้ ดร.วิศิษฐ์ คาดการณ์ว่า Fed อาจจะคงหรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25%  ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยทั้งปี  หากความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ล่าช้า จะนำไปสู่การลดลงของกำไรสุทธิต่อหุ้นของตลาดหุ้นไทย และตลาดหุ้นโลกมักปรับตัวลดลงกว่า 10% โดยเฉลี่ยก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 4 เดือน (สถิติจากการเลือกตั้ง 25 ปีย้อนหลัง)