ทิสโก้ ชูกลยุทธ์ “Sustainable Focus” ฝ่าความท้าทายปี 67 ด้วยความเชี่ยวชาญทุกมิติ

0
43

กลุ่มทิสโก้ ชูยุทธศาสตร์ Sustainable Focus ขับเคลื่อนองค์กรสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน  พร้อมนำความเชี่ยวชาญตอบโจทย์ทุกกลุ่มลูกค้า ครบทุกมิติทั้งกองทุน – หุ้น – ประกัน – เงินฝาก – สินเชื่อ รวมถึงการบริหารจัดการหนี้  สินเชื่อมุ่งเติบโตอย่างมีคุณภาพ ขณะที่ธุรกิจให้คำปรึกษาการเงิน – การลงทุน เดินหน้ารุกกลุ่ม Mass Affluent ช่วยลูกค้าบรรลุเป้าหมายทางการเงินและรับมือสังคมสูงอายุได้เร็วขึ้น  เผยผลประกอบการปี 2566 กำไรสุทธิ 7,303 ล้านบาท  จากการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อ และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น   

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในระดับ 3-4% จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว การส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะขยายตัว  และการลงทุนภาครัฐและเอกชนที่เร่งตัวขึ้น แต่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้านจากปัจจัยภายใน ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาภัยแล้ง ภาวะหนี้ครัวเรือน อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูง  และปัจจัยภายนอกจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐฯ จีน และยุโรป   ดังนั้นกลยุทธ์ของกลุ่มทิสโก้ ในปี 2567 จึงดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืน พร้อมนำความเชี่ยวชาญในทุกแขนงของกลุ่มมาพัฒนาต่อยอดเติมเต็มโอกาสทางการเงินที่จะนำมาสู่ความมั่งคั่งอย่างมั่นคงให้แก่ลูกค้า ดังนี้

กลุ่มธุรกิจสินเชื่อ เน้นการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ควบคู่กับการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรัดกุมและดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด โดย

สินเชื่อรายย่อยจะพิจารณาตามความเหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้และภาระหนี้ของลูกค้า (Debt Service Ratio)  เน้นการเติบโตในกลุ่มสินเชื่อที่มีหลักประกัน ได้แก่ สินเชื่อจำนำทะเบียน “สมหวัง เงินสั่งได้”  ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ โดยเน้นกลุ่มสินเชื่อรถมือสอง สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ และสนับสนุนสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ควบคู่กับการควบคุมคุณภาพสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม  ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น อสังหาริมทรัพย์ โรงไฟฟ้า และพลังงานทางเลือก ยังมีโอกาสการเติบโต ซึ่งทิสโก้มีบริการ Total Solution เป็นจุดแข็งตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้า

ธุรกิจธนบดีธนกิจและตลาดทุน เน้นให้บริการให้คำแนะนำอย่างผู้เชี่ยวชาญแบบองค์รวม (Holistic Financial Advisory) ครอบคลุมการวางแผนการเงิน การลงทุน ความคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ  การวางแผนหลังเกษียณ โดยยกระดับความสามารถการให้บริการช่องทางดิจิทัลเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้า  พร้อมขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่ม Mass Affluent ที่มีเงินฝากและ/หรือเงินลงทุนตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป

ธุรกิจนายหน้าประกันภัย จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การวางแผนบริหารความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละกลุ่ม ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ โดยดึงจุดแข็งและความเชี่ยวชาญในการให้บริการประกันภัยอย่างครบวงจรมาขยายพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อให้เกิด Ecosystem ที่ให้บริการแก่ลูกค้าอย่างครบวงจร ตอบโจทย์พฤติกรรมของลูกค้าในยุคปัจจุบัน

“ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน กลุ่มทิสโก้จึงตั้งเป้ารายได้ปี 2567 เติบโตที่ 0-10%  โดยมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการขยายสินเชื่ออย่างระมัดระวัง บริหารจัดการด้วยความรัดกุม เพื่อรักษาสมดุลจากปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนและต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง  โดยดูแลช่วยเหลือลูกค้าอย่างใกล้ชิด ให้คำปรึกษาในการรวมหนี้เพื่อลูกค้ามีภาระดอกเบี้ยที่ลดลง พร้อมนำ Digital Platform for Omni Channel มาปรับใช้ ยกระดับความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลและการบริหารความเสี่ยง และใช้ Smart Assistance and Automation เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ” นายศักดิ์ชัย กล่าว

สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้ในปี 2566 มีกำไรสุทธิ 7,303 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับปี 2565 จากธุรกิจสินเชื่อสมหวัง เงินสั่งได้ ที่ขยายตัวถึง 7.2% ในกลุ่มสินเชื่อบรรษัทขนาดใหญ่ และสินเชื่อรายย่อยในกลุ่มธุรกิจจำนำทะเบียน ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอ่อนตัวลง 6.4% จากธุรกิจตลาดทุนที่ผันผวน ค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ลดลงตามปริมาณการซื้อขายที่ลดลงอย่างมาก  รวมไปถึงค่าธรรมเนียมจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่ชะลอตัวลงตามปริมาณการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ลดลง

ในส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 8.7% ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนตามแผนการเติบโตในระยะยาว ขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss – ECL) อยู่ที่ 0.3% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย โดยมีอัตราส่วนเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Loan Loss Coverage Ratio) ที่ 189.8% เพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงในปัจจุบันและการคาดการณ์ในอนาคต  โดยมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) สำหรับงวดปี 2566 ที่ 17.1%

ด้านเงินให้สินเชื่อรวม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีจำนวน 234,815 ล้านบาท ขยายตัว 7.2% จากปี 2565 จากสินเชื่อบรรษัทขนาดใหญ่ที่เติบโตถึง 33%  โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มธุรกิจพลังงานและอสังหาริมทรัพย์  ส่วนสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อจำนำทะเบียน “สมหวัง เงินสั่งได้” เพิ่มขึ้น 25% จากการเปิดสาขาทั่วประเทศ ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อชะลอตัวจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดรถยนต์

ในส่วนของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.22% ของสินเชื่อรวม  ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์การเติบโตไปยังกลุ่มสินเชื่อที่มีอัตราผลตอบแทนสูง ประกอบกับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง โดยบริษัทยังคงดำเนินนโยบายการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง พร้อมติดตามและดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด ประกอบกับการบริหารความเสี่ยงและตั้งสำรองอย่างรัดกุม