สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA เผยสถิติเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองปี 2567 รวม 99.25 ล้านราย เติบโต 4.75% หรือ 4.50 ล้านราย เงินฝากรวม 16.32 ล้านล้านบาท โต1.40% หรือ 0.22 ล้านล้านบาท พร้อมเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ระยะที่ 4 (2566–2570) ผ่านแนวคิด READY & Prompt
ดร. มหัทธนะ อัมพรพิสิฏฐ์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก กล่าวว่า รายงานสถิติเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองปี 2567 พบว่าอัตราการเติบโตของเงินฝากในกลุ่มผู้ฝากที่เงินฝากน้อยกว่า 50,000 บาท เพิ่มสูงที่สุดถึง4.84% เป็นผลจากโครงการเงินช่วยเหลือภาครัฐ ทำให้อัตราเงินฝากในเดือนกันยายน 2567 พุ่งขึ้นถึง 6.83% สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีในช่วงเดือนเดียวกันที่ 2.50%
ขณะที่กลุ่มที่มีเงินฝากมากกว่า 100 ล้านบาท มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นรองลงมาอยู่ที่ 2.70% คาดว่าเพิ่มขึ้นในบัญชีประเภทเงินฝากประจำ จากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงการนำเงินมาพักเพื่อรอความชัดเจนของสภาพเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวน ภายใต้วงเงินคุ้มครองไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อ 1 รายผู้ฝากต่อ 1สถาบันการเงิน อยู่ที่ 97.46 ล้านราย คิดเป็นอัตราส่วน 98.20% ของผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองทั้งระบบ สะท้อนอันดับความสามารถในการคุ้มครองผู้ฝากส่วนใหญ่ของประเทศไทย อยู่อันดับ 2 ในเอเชียและอันดับที่ 31 ของโลก
สำหรับแนวโน้มการเติบโตของเงินฝากในปี 2568 คาดว่าจะอยู่ระหว่าง 1-3% สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างช้าๆ จากปัจจัยความไม่แน่นอนจากทั้งภายในและนอกประเทศ ขณะที่การบริหารเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝาก ตั้งเป้าอัตราผลตอบแทนการลงทุน ที่ 2.2% จากปี 2567 ที่อัตราผลตอบแทนการลงทุนอยู่ที่ 2.17%
ชูแนวคิด READY &Prompt มุ่งสู่ “DPA พร้อม”
ดร.มหัทนะ กล่าวว่า เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ฝากและประชาชน DPA ต้องมีความพร้อมในการเป็นองค์กรคุ้มครองเงินฝากที่น่าเชื่อถือและทันสมัย โดยปรับกลยุทธ์การดำเนินงานภายใต้แนวคิด READY &Prompt มุ่งสู่ยุทธศาสตร์ระยะที่ 4 (ปี 2566 – 2570) “DPA พร้อม” โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพองค์กรทั้งในด้านการจ่ายเงินคุ้มครอง และการชำระบัญชีและบริหารสินทรัพย์เพื่อให้ผู้ฝากเงินได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
โดย DPA ตั้งเป้าการจ่ายเงินคุ้มครองให้กับผู้ฝากส่วนใหญ่ภายใน 7 วันทำการสำหรับผู้ฝากที่ผูกบัญชี Prompt Pay กับหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน โดยจากผลศึกษาและเก็บข้อมูลสถิติในช่วง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2557 – 2566 ของสมาคมสถาบันประกันเงินฝากระหว่างประเทศพบว่า ค่าเฉลี่ยของจำนวนวันในการจ่ายเงินคุ้มครองให้กับผู้ฝาก ทำได้เร็วขึ้นจาก 28 วันเหลือเพียง 14 วัน และพบว่ามีเหตุการณ์สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาตรวม 13 สถาบันการเงินที่สถาบันประกันเงินฝากในต่างประเทศดำเนินการจ่ายเงินคุ้มครองให้กับผู้ฝากส่วนใหญ่ได้ภายใน 7 วันทำการ
ทั้งนี้จะต้องครอบคลุมผู้ฝากไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ดังนั้นภารกิจเตรียมความพร้อมด้านการคุ้มครองเงินฝากของไทยยิ่งต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่า หากเกิดเหตุการณ์จนส่งผลกระทบถึงขั้นสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต DPA จะสามารถปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำและทันต่อความคาดหวังของผู้ฝากและประชาชน
นอกจากนี้ยังเตรียมความพร้อมรองรับการจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) และเดินหน้าพัฒนาระบบงานที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เพื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการวางยุทธศาสตร์และเป้าหมายองค์กรที่ชัดเจนในระยะยาว เพื่อมอบความมั่นใจในทุกความไม่แน่นอนให้กับผู้ฝากและประชาชนได้อย่างยั่งยืน
โดย DPA กำหนดกลยุทธ์ภายใต้แนวคิด READY & Prompt ผ่าน 5แนวทางหลัก ดังนี้
R = Reimagine Confidence: สร้างความตระหนักรู้ให้ผู้ฝากและประชาชนตื่นตัวในการหาข้อมูลความรู้ทางการเงินและการคุ้มครองเงินฝากผ่านเนื้อหาในสื่อออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อรับมือกับเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงภัยใกล้ตัวจากมิจฉาชีพที่แอบอ้างชื่อสถาบันคุ้มครองเงินฝากหลอกลวงประชาชน
E = Engagement: ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการรับรู้ให้กับผู้มีส่วนได้เสียทั้งสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง ผู้ฝากและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน
A = Agility: ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม DPA Platform เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความยืดหยุ่นและรวดเร็วตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ๆอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบปฏิบัติการต่างๆด้วยนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยเพิ่มความคล่องตัว ลดภาระงานเอกสารและขั้นตอนการทำงานควบคู่ไปกับการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานให้พนักงานมีความพร้อมในการปรับตัวและปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน
D = Digitalization and Data Analytic: มุ่งขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูล (Data-Driven) โดยเฉพาะการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ฝากเพื่อให้เข้าใจแนวโน้มและพฤติกรรมของผู้ฝาก ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการกำหนดกรอบนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานพันธกิจหลักของ DPA และการวางกลยุทธ์แผนปฏิบัติการจ่ายเงินคุ้มครองและการชำระบัญชี รวมถึงการวางกลยุทธ์ด้านการสื่อสารที่ตรงกับความหลากหลายของผู้ฝากและประชาชนมากยิ่งขึ้น
Y = Year-round Trust: มุ่งเป็นองค์กรที่ประชาชนเชื่อมั่นและไว้วางใจ ด้วยระบบคุ้มครองเงินฝากที่มีเสถียรภาพ รองรับความเปลี่ยนแปลงและคุ้มครองผู้ฝากได้ตลอดเวลา
นอกจากการดำเนินงานตามกลยุทธ์ดังกล่าวแล้ว DPA ยังมีการซักซ้อม (Simulation) ด้านการจ่ายเงินคุ้มครองและการชำระบัญชีบนพื้นฐานข้อมูลเสมือนจริงของสถาบันการเงิน เพื่อเตรียมความพร้อมเป็นประจำทุกปี รวมถึงการบริหารเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากให้มีการเติบโต มั่นคงและปลอดภัย โดยมีเป้าหมายรายได้ปี 2568 อยู่ที่ 2.20% ปัจจุบันมูลค่าเงินกองทุนฯ อยู่ที่ 146,466.49 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 28ก.พ. 068) การดำเนินงานเตรียมความพร้อมในทุกด้านของ DPA สะท้อนจุดยืนและเป้าหมายที่สำคัญเพื่อให้สามารถมอบความมั่นใจในทุกความไม่แน่นอนให้กับผู้ฝากและประชาชนได้อย่างแท้จริง