คปภ. ลงพื้นที่เชียงคาน จ.เลย เล็งนำระบบประกันช่วยผู้ประกอบการธุรกิจ SME 

0
183

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เป็นประธานเปิดการสัมมนาในหัวข้อ “ประกันภัยถูกทางสร้างเกราะให้ SME” ณ โรงแรมเชียงคาน ริเวอร์ เมาท์เทน รีสอร์ท จังหวัดเลย จัดโดยสายกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงานคปภ.) เพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจด้านประกันภัยในเชิงรุกแก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ได้เข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ความคุ้มครอง  ข้อยกเว้น  ของกรมธรรม์ประกันภัยประเภทต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของบุคคลหรือธุรกิจของตนเอง

ทั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ ประกอบด้วย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีจังหวัดเลย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเลย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตัวแทน นายหน้าประกันภัย อาสาสมัครประกันภัย และผู้ประกอบการธุรกิจ SME หลากหลายประเภท จำนวนกว่า 150 คน โดยได้รับเกียรติจากนายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ให้การต้อนรับ

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ประกันภัยถูกทางสร้างเกราะให้ SME”  โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า สำนักงาน คปภ. มีความมุ่งมั่นในการให้ความรู้ด้านประกันภัยกับผู้ประกอบการธุรกิจ SME มาอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันภัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SME ในรูปแบบของกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME Package  ซึ่งเป็นกรมธรรม์ที่รวมความคุ้มครองหลักสำหรับการประกันอัคคีภัยอาคาร ทรัพย์สินภายในอาคาร สต๊อกสินค้า เครื่องจักร การประกันภัยเงินทดแทนการสูญเสียรายได้ การประกันภัยโจรกรรม การประกันภัยสำหรับเงินภายในสถานที่เอาประกันภัย การประกันภัยสำหรับกระจก การประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกและการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการ SME ลดภาระค่าใช้จ่าย เช่น ในกรณีที่สถานประกอบการเกิดเหตุเพลิงไหม้ ภัยพิบัติ น้ำท่วม นอกจากค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมตัวอาคารและปรับปรุงภายในอาคารแล้ว ในระหว่างที่กำลังซ่อมแซมอยู่นั้น ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ไม่สามารถประกอบกิจการได้เป็นระยะเวลาเท่าไรและขาดรายได้จากการที่ไม่สามารถประกอบกิจการเป็นจำนวนเงินเท่าใด ตัวกรมธรรม์ประกันภัยที่ผู้ประกอบการ SME ทำไว้จะเข้ามาบริหารความเสี่ยงในจุดนี้ทันที

สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดในการทำประกันภัย คือ ผู้ประกอบการธุรกิจ SME จะต้องมีความเข้าใจว่าธุรกิจของตนเองมีความเสี่ยงในเรื่องใดบ้าง เพื่อที่จะสามารถเลือกการประกันภัยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงภัยที่ธุรกิจของตนที่จะต้องเผชิญเนื่องจากการประกันภัยมีความคุ้มครองที่หลากหลาย เช่น การประกันอัคคีภัย เป็นการให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินเมื่อเกิดเพลิงไหม้ การประกันภัยความรับผิด เป็นการให้ความคุ้มครองกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมีความรับผิดต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลอื่น การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก เป็นการให้ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากกรณีที่ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ เป็นต้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการสร้างความรู้และความเข้าใจที่ดีของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SME ในมุมมองของการทำประกันภัย ไม่ว่าจะเป็นในแง่มุมของการทำกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประกันภัยว่ามีทั้งประเภทที่กฎหมายบังคับให้ต้องทำ และประเภทสมัครใจ เพื่อทราบข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้เหมาะสมกับการบริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงความเข้าใจเกี่ยวกับเงื่อนไขความคุ้มครอง และข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ประกันภัยของผู้ประกอบการ เพื่อเป็นการยกระดับการประกอบธุรกิจ SME ให้มีความมั่นคง ยั่งยืน อย่างแท้จริง

“การประกันภัยเป็นเรื่องใกล้ตัว และถ้ากลุ่มธุรกิจ SME ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีสายป่านไม่ยาวมาก รู้จักใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำนักงาน คปภ. มีภารกิจสำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านประกันภัย ตลอดจนช่วยให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยได้ ในขณะเดียวกันถ้าหากทำประกันภัยแล้วไม่ได้รับความเป็นธรรม สำนักงาน คปภ. ก็มีหน่วยงานคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัย โดยมีระบบการรับเรื่องร้องเรียน การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยโดยผู้ไกล่เกลี่ยที่เป็นบุคคลภายนอกที่มีความรู้ความสามารถในการประกันภัย โดยไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายแก่ผู้ใช้บริการแต่อย่างใด รวมทั้งยังมีกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน คปภ. ทั้งนี้หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลด้านประกันภัยเพิ่มเติม ได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่