ตลท. ปปง. ก.ล.ต. ผนึกกำลังป้องปรามความผิดซื้อขายหุ้น ตัดวงจรทุจริต สร้างความเชื่อมั่นตลาดทุนไทย  

0
23

สำนักงาน ปปง. ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU)  ยกระดับการป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อตัดวงจรการประกอบอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนให้การดำเนินการบังคับใช้กฎหมายและการทำงานร่วมกันของแต่ละหน่วยงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทย 

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานสักขีพยานลงนามความร่วมมือ (MOU)  เปิดเผยว่า  กระทรงการคลังร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน สนับสนุนและส่งเสริมฟื้นความเชื่อมั่นตลาดทุนไทยอย่างต่อเนื่อง  มีมาตรการต่างๆที่ทยอยออกมา เพื่อทำให้กระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดในตลาดทุนมีความรวดเร็ว ไม่สร้างความเสียหายให้เกิดแก่ผู้ลงทุน และกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนในตลาดทุนไทย

“นอกเหนือจากความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและมาตรการต่างๆที่ทยอยออกมาแล้ว  ความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในการตรวจสอบ และเร่งดำเนินการกับผู้กระทำความผิดเห็นผลเป็นรูปธรรม  เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เสริมสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน และส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยฟื้นตัว และเห็นทิศทางที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไปได้”

ปัจจุบันดัชนีตลาดหุ้นไทย (Set Index) ลดลงมากจากระดับสูงสุดเดิม  มาอยู่ที่ 1,300 จุด ความมั่งคั่งของนักลงทุนไทยจึงลดตามไปด้วย  อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา  และเริ่มเห็นแนวโน้มว่าจะกลับเสริมสร้างความมั่งคั่งได้อีกครั้ง  เพราะทุก ๆ 100 จุดที่ดัชนีปรับเพิ่มขึ้น  หมายถึงความมั่งคั่งที่คิดจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap)  1.2 ล้านล้านบาท  หากเห็นดัชนีกลับขึ้นไปที่ระดับ 1,800 จุด ตามที่กระทรวงการคลังคาดหวัง  จะคิด Market Cap ได้กว่า 20 ล้านล้านบาท  เป็นโอกาสที่ความมั่งคั่งของนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะกลับมา

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน  (ปปง.) กล่าวว่า ปปง. เป็นหน่วยกำกับดูแลบริษัทสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ  และเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำความผิดมูลฐานที่เกิดขึ้นในตลาดทุน การดำเนินการกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งการปั่นหุ้น และ อินไซเดอร์ เทรดดิ้ง 

โดย ปปง.จะได้รับการประสานจากสำนักงาน ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลบริษัทหลักทรัพย์ ถึงข้อมูลของการกระทำความผิด  และข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นด่านแรกในการตรวจสอบราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นว่ามีความผิดปกติหรือไม่ จากนั้น ปปง. จึงรับช่วงต่อในส่วนของการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินเพื่อนำไปสู่การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินต่อไป ภายใต้กรอบกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

ที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆถูกมองว่าทำงานล่าช้า ไม่สามารถป้องปรามอาชญากรรมในตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  กระทบต่อภาพลักษณ์ของตลาดทุนไทย ส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากความผิดมีความซับซ้อนและมีธุรกรรมจำนวนมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสำนักงาน ปปง.จึงต้องพิจารณาดำเนินการอย่างรอบคอบภายใต้กรอบกฎหมายเพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคธุรกิจ

“การลงนาม MOU ครั้งนี้  เป็นสัญญาณจากรัฐบาลที่ยืนยันกับนักลงทุนว่า หากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับซื้อขายหลักทรัพย์  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมประสานข้อมูล  เพื่อลดความซ้ำซ้อนในกระบวนการทำงาน  และส่งไม้ต่อระหว่างหน่วยบังคับใช้กฎหมายภายใต้กรอบกฎหมายของตน เพื่อทำงานได้อย่างรวดเร็ว”

นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กล่าวว่า มาตรการในการดำเนินการ ความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มุ่งเน้นการตัดวงจรการประกอบอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ  และเพื่อให้การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการทำงานเชิงบูรณาการของ 3 หน่วยงาน  จึงมีการตั้งคณะทำงาน  กำหนดตัวผู้รับผิดชอบ  เน้นการประสานการปฏิบัติงานอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ในกรณีที่เกิดเหตุหรือการทุจริตในตลาดทุน  เพื่อให้ตลาดทุนไทยโปร่งใส ได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นจากนักลงทุน    

ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ประธานกรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  กล่าวว่า  ปัจจัยสำคัญในการยกระดับความเชื่อมั่นในตลาดทุนคือการดูแลธรรมาภิบาล ซึ่งจะต้องมีกลไกกำกับดูแลที่ชัดเจนและทันต่อเหตุการณ์  มีนโยบายให้ความสำคัญกับการป้องปราม และบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดในตลาดทุนให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วเท่าทันกับสถานการณ์  ซึ่งการ MOU ครั้งนี้ กลต. สามารถเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ แบบไร้รอยต่อ  ช่วยลดระยะเวลาในการทำงาน  และสามารถจัดการปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ (Early Detection)  และทำงานร่วมกับ ปปง. ในการจัดการปัญหากับคดีทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“การประสานความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายในตลาดทุน เป็นก้าวสำคัญในการลดช่องว่างในการปฏิบัติงานของหน่วยงาน  และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย   การเชื่อมข้อมูลแบบไร้รอยต่อกับ ตลท. และเชื่อมต่อระบบการทำงานกับ ปปง. จะเป็นกลไกช่วยให้ Trust and Confidence ในตลาดทุนไทยกลับคืนมา กระตุ้นให้ตลาดทุนฟื้นตัวได้ดีในเร็ววัน”  

ศาสตราจารย์ ดร. พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมามีบันทึกข้อตกลงแบบทวิภาคีระหว่าง ก.ล.ต. กับสำนักงาน ปปง. และ ก.ล.ต. กับตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการบังคับใช้กฎหมายระหว่างกัน  ดังนั้นการลงนาม MOU ระหว่าง 3 หน่วยงานในครั้งนี้ จะช่วยให้การป้องปรามและบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล การประสานงาน และการพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน  อีกทั้งช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดทุน และพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

“MOUวันนี้ เป็นหนึ่งจิ๊กซอว์ในการสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทย  ซึ่งก่อนหน้านี้งมีจิ๊กซอว์อื่นๆที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น มาตรการกำกับการซื้อขายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมโปร่งใส  และเห็นผลแล้วอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งมาตรการอื่นๆที่จะสร้างเม็ดเงินลงทุนระยะยาว เช่น กองทุน Thai ESG, กองทุนวายุภักษ์  เพื่อให้ตลาดทุนไทยเป็นกลไกสร้างเสริมเศรษฐกิจประเทศ  ซึ่งคาดว่าปีหน้า 2568 เราจะก้าวกระโดดไปสู่กิจกรรมที่ตอบรับกับนโยบายภาครัฐ ทั้งการระดมทุน การออม  โดยไม่ต้องพูดถึงเรื่อง Trust and Confidence  กันแล้ว”

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การลดความซ้ำซ้อนในกระบวนการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการใช้กระบวนการทางกฎหมาย ปปง. เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในคดีที่่มีผลกระทบต่อสังคมและผู้ลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ   สามารถดึงความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุนกลับมาได้ และป้องปรามให้ผู้ที่คิดจะกระทำความผิดเกิดความเกรงกลัว  การ MOU ครั้งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้สามารถดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็วและเข้มข้น 

 ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียนในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ  โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้หารือและประสานกับสำนักงาน ก.ล.ต. สำนักงาน ปปง. และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด นำมาสู่การลงนามบันทึกความตกลงของทั้ง 3 หน่วยงาน  ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการกำกับดูแลตลาดทุนไทย  และเชื่อมั่นว่าจะนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งของตลาดทุนไทยได้อย่างยั่งยืน 

“MOU ครั้งนี้ มีกระบวนการทำงานที่ชัดเจนในการแลกเปลี่ยนข้อมูล การตรวจสอบที่เป็นระบบ โดยทั้ง 3 หน่วยงาน สามารถทำงานได้พร้อมกัน  มีกระบวนการจัดการปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ (Early Detection) มีการส่งมอบข้อมูลต่าง ๆ ให้กับนักลงทุน มีระบบการตรวจสอบต่างๆที่เชื่อมโยงกัน จึงทำงานได้อย่างรวดเร็ว  ซึ่งจากนี้ไปการทุจริตจะทำได้ยากขึ้น  และในอนาคตอาจจะมีโทษหนักขึ้นด้วย”