ทิสโก้ สัมมนา “Fight for Opportunties” รับมือสงครามการค้าระอุ! ชู 3 ทางรอด สู้ศึกด้วย 6 กองทุนจาก 5 บลจ.  

0
19

ทิสโก้ จัดสัมมนา “Fight for Opportunties :เปิดศึก Battle กองทุนหมัดเด็ด” ให้ลูกค้าและผู้สนใจ ชู 3 ทางเลือกสู้ศึกลงทุนครึ่งหลัง  2568 

เชิญ 6 ผู้จัดการกองทุน และผู้เชี่ยวชาญ จาก 5 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ร่วมดีเบตจุดเด่นของกองทุนรวม ภายใต้การบริหารที่ทิสโก้เลือกมาแล้วว่าเหมาะจัดพอร์ตครึ่งปีหลัง  

โดย บลจ.ที่เข้าร่วมดีเบต ได้แก่ บลจ.กรุงศรี บลจ.ทิสโก้ บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) บลจ.วรรณ และ บลจ. อีสท์สปริง (ประเทศไทย) ร่วมดีเบตจุดเด่นของกองทุนรวมภายใต้การบริหารที่ธนาคารทิสโก้เลือกมาแล้วว่าเหมาะสำหรับจัดพอร์ตครึ่งปีหลัง ได้แก่ กองทุนรวม TGOLD, UGIS-N, KF-HJAPAND, TISCOINA-A, ONE-UGG-RA และ ES-GCORE

เจาะ 3 ทางเลือกลงทุน โอกาสท่ามกลางสงครามการค้า 

นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ Head of Wealth Advisory ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) และนายภาคภูมิ พีรยวัฒนา Senior Wealth Manager ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สงครามการค้าทำให้เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง ทิสโก้ประเมินเป็น 2 ทางคือ 1. กรณีเจรจาการค้าไม่สำเร็จใน 90 วัน และสหรัฐฯ ยังคงจัดเก็บภาษีนำเข้าในระดับสูง เศรษฐกิจทั่วโลกจะเข้าสู่ภาวะ “ถดถอย”  2. กรณีเจรจาการค้าเป็นไปในทิศทางที่ดีในกรอบ 90 วัน เศรษฐกิจในปี 2568 จะเติบโตแบบ “ชะลอตัว” และไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย  

หากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะ “ถดถอย” แนะนำให้ลงทุนด้วยทางเลือกที่ 1 คือ “ทางรอดเมื่อโลกแย่” โดยลงทุนใน 2 สินทรัพย์ คือ กองทุนทองคำ และกองทุนตราสารหนี้โลก ซึ่งข้อมูลในอดีตพบว่าในช่วงเศรษฐกิจถดถอยตราสารหนี้โลกมีโอกาสสร้างผลตอบแทน 3-6% ขณะที่ทองคำจะสร้างผลตอบแทนประมาณ 5-16%    

หากการเจรจาการค้าเป็นไปในทิศทางที่ดี เศรษฐกิจแค่ชะลอตัว ธนาคารทิสโก้แนะนำ 2 ทางเลือกคือ 1. กำไรไม่แคร์สงครามการค้า แนะนำกองทุนที่เน้นลงทุนในประเทศญี่ปุ่นและอินเดีย เพราะเป็นประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีน้อยกว่าประเทศอื่น ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับ GDP และเศรษฐกิจเติบโตดีจากการบริโภคในประเทศ 2. MEGATRENDS โตดี…ไม่ต้องลุ้น แนะนำลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในธุรกิจที่เติบโตสูง เช่น ธุรกิจ AI เทคโนโลยีด้านสุขภาพ และเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน  

ทองคำ – ตราสารหนี้โลก ทางรอดเมื่อโลกแย่  

นายกันติพัฒน์ วงศ์สุคนธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายงานกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์และการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า กองทุนเปิด ทิสโก้ โกลด์ ฟันด์ (TGOLD) ความเสี่ยงระดับ 8 (เสี่ยงสูงมาก) ลงทุนในกองทุน SPDR Gold Trust (กองทุนหลัก) เน้นลงทุนในทองคําแท่ง เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของราคาทองคําหักด้วยค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายทั้งหมดของกองทุนหลัก  

โดยมองว่า เป็นช่วงเหมาะที่จะเพิ่มสัดส่วนกองทุนทองคำ TGOLD เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี ซึ่งสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน พอร์ตการลงทุนที่มีทองคำประมาณ 10% หุ้นโลก 60% และตราสารหนี้โลก 30% มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าพอร์ตการลงทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นโลก 60% และตราสารหนี้โลก 40% นอกจากนี้ ในอนาคตราคาทองคำมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นตามแรงซื้อทองคำของธนาคารกลางทั่วโลก 

นายกุลฉัตร จันทวิมล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายพัฒนาธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล อินคัม สตราทีจิค บอนด์ ฟันด์ ชนิดหน่วยลงทุนแบบปกติ (UGIS-N) ความเสี่ยงระดับ 5 (เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง) ลงทุนในกองทุน PIMCO GIS Income Fund (Class I) กองทุนอาจพิจารณาลงทุนใน Derivatives เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน มุ่งหวังให้ผลประกอบการเคลื่อนไหวตามกองทุนหลัก โดยกองทุนหลักใช้กลยุทธ์การบริหารกองทุนเชิงรุก 

จุดเด่นคือ กองทุนหลักบริหารกองทุนเชิงรุกจึงมีความยืดหยุ่นในการเลือกประเภทสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับภาวะตลาด กระจายการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลกเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอ มากกว่าการลงทุนในตราสารหนี้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในระยะยาว ปัจจุบันกองทุนหลักเน้นลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพสูงที่มีลำดับการจ่ายชำระหนี้เป็นลำดับแรกๆ เพื่อลดความเสี่ยงในช่วงที่ตลาดผันผวน และเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอ 

ญี่ปุ่น – อินเดีย กำไรไม่แคร์สงครามการค้า 

นายเกียรติศักดิ์ ปรีชาอนุสรณ์ CFA ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนทางเลือก บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด เปิดเผยว่า กองทุนเปิดกรุงศรีเจแปนเฮดจ์ปันผล (KF-HJAPAND) ความเสี่ยงระดับ 6 (เสี่ยงสูง) ลงทุนในกองทุน JPMorgan Japan (Yen) Fund, Class (acc) – JPY (กองทุนหลัก) กองทุนหลักลงทุนในหลักทรัพย์ของประเทศญี่ปุ่นและหลักทรัพย์อื่น ๆ ซึ่งมีผลตอบแทนเกี่ยวเนื่องกับภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่น โดยกองทุนหลัก มุ่งหวังให้ได้รับผลประกอบการเคลื่อนไหวสูงกว่าดัชนีชี้วัด  

จุดเด่นคือ กองทุนหลักบริหารจัดการกองทุนเชิงลึก ค้นหาหุ้นน้ำดีซึ่งที่ราคายังไม่สะท้อนพื้นฐานที่แท้จริง ซึ่งปัจจุบันยังมีหุ้นคุณภาพดีในตลาดหุ้นญี่ปุ่นจำนวนมากที่ไม่มีบทวิเคราะห์เจาะลึกงบการเงิน การเฟ้นหาหุ้นแบบเชิงลึกทำให้กองทุนมีโอกาสลงทุนในหุ้นคุณภาพดีที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก  นอกจากนี้ยังเน้นลงทุนหุ้นที่มีคุณภาพดี เช่น หุ้นที่สร้างผลตอบแทนได้มากกว่าต้นทุนทางการเงิน และมีสัดส่วนหนี้ค่อนข้างต่ำ โดยข้อมูลจาก J.P. Morgan Asset Management วันที่ 31 มีนาคม 2568 พบว่า บริษัทส่วนใหญ่ที่กองทุนเข้าลงทุนมักจะเป็นหุ้นที่มีศักยภาพเติบโตดีตามโครงสร้างระยะยาว เช่น   เจ้าของแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก, กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรอัตโนมัติและเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ 

นายสวภพ ยนต์ศรี ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายงานกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์และการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า กองทุนเปิด ทิสโก้ อินเดีย แอคทีฟ อิควิตี้ (TISCOINA-A) ความเสี่ยงระดับ 6 (เสี่ยงสูง) ลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุนต่างประเทศ และ/หรือกองทุนรวมอีทีเอฟตราสารทุนต่างประเทศ ที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารทุนของบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศอินเดีย หรือบริษัทที่มีการดําเนินธุรกิจในประเทศอินเดียหรือบริษัทที่มีรายได้หลักจากการประกอบกิจการในประเทศอินเดียมุ่งหวังให้ผลประกอบการสูงกว่าดัชนีชี้วัด 

จุดเด่นคือ กลยุทธ์ลงทุนเชิงรุกแบบ Fund of Funds สามารถเลือกลงทุนในกองทุนต่างประเทศได้หลากหลาย ปัจจุบันเลือกลงทุนใน 3 กองทุนต่างประเทศที่บริหารงานโดย Goldman Sachs Nomura และ FSSA ไว้ด้วยกัน ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนเลือกลงทุนตามสถานการณ์ได้ทั้งหุ้นขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่  นอกจากนี้ กองทุน TISCOINA-A ยังได้รับการจัดอันดับ 5 ดาว จาก Morningstars (ข้อมูลเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568) ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม ไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต 

หุ้นกลุ่ม MEGATRENDS โตดี…ไม่ต้องลุ้น 

นายรณวร ศุกระกาญจน์ รองผู้อำนวยการ, ฝ่ายกลยุทธ์และนวัตกรรม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนวรรณ จำกัด เปิดเผยว่า กองทุนเปิดวรรณ อัลติเมท โกลบอล โกรว์ธ (ONE-UGG-RA) ความเสี่ยงระดับ 6 (เสี่ยงสูง) มีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Baillie Gifford Worldwide Long Term Global Growth Fund (กองทุนหลัก) ในหน่วยลงทุนชนิด Class B net accumulation เน้นลงทุนในตราสารทุนทั่วโลก นอกจากนั้น กองทุนหลักจะลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนอื่น และ/ หรือเงินฝากไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนหนึ่งโดยเงินลงทุนส่วนที่เหลือจะนำไปลงทุนในหรือมี ไว้ซึ่งตราสารแห่งหนี้ ตราสารทางการเงิน เงินฝาก หลักทรัพย์    

จุดเด่น คือ กองทุนหลักเน้นถือครองหุ้นที่มีความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวเพื่อก้าวข้ามวัฏจักรเศรษฐกิจและพฤติกรรมในช่วงที่ตลาดหุ้นมีความผันผวน สามารถลงทุนในหุ้นทั่วโลก  นอกจากนี้ ผู้จัดการกองทุนหลักจะเน้นลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี รายได้และกำไรมีแนวโน้มเติบโตสูง มีสัดส่วนหนี้ในระดับต่ำ รวมทั้ง มองหาหุ้นที่มีโอกาสเติบโต 2 เท่าใน 5-10 ปี มีนวัตกรรมที่รองรับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคในอนาคต เช่น นวัตกรรมการแพทย์ ค้าปลีกออนไลน์ และกลุ่มเทคโนโลยีด้านการประมวลผล เป็นต้น 

นายบดินทร์ พุทธอินทร์, AISA, CFP หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนอีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า กองทุนเปิดอีสท์สปริง Global Core Equity (ES-GCORE) ความเสี่ยงระดับ 6 (เสี่ยงสูง) ลงทุนในกองทุน Goldman Sachs Global CORE Equity Portfolio Class I Shares (Acc.) (Snap) โดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 NAV กองทุนหลักลงทุนอย่างน้อย 2 ใน 3 ของมูลค่า ทรัพย์สินในตราสารทุนทั่วโลก โดยกองทุนหลักมุ่งหวังให้ผลประกอบการเคลื่อนไหวสูงกว่าดัชนีชี้วัด  

จุดเด่นคือ กองทุนหลักจะเลือกหุ้นโดยนำปัจจัยพื้นฐาน และปัจจัยเชิงสถิติมาประกอบการตัดสินใจ และยังใช้ Big data ช่วยค้นหาโอกาสจากการลงทุน ทั้งในเชิงของการศึกษาหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และด้วยข้อมูลที่ได้มาอย่างรวดเร็วจาก AI ทำให้ผู้จัดการกองทุนสามารถพิจารณาพอร์ตการลงทุนได้ทุกๆ 3 วัน  นอกจากนี้ ยังค้นหาและสร้างมุมมองรายวันของหุ้นทั่วโลกกว่า 15,000 บริษัท ทำให้เพิ่มโอกาสการลงทุนในหุ้นที่หลากหลาย อีกทั้งยังลงทุนพัฒนานวัตกรรมและการวิจัยการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อมองหาผลตอบแทนส่วนเพิ่ม  

กองทุน TGOLD, UGIS-N, TISCOINA-A, ONE-UGG-RA และ ES-GCORE ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน ผู้ลงทุนอาจจะขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ และกองทุน KF-HJAPAND  ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ  

กองทุน ONE-UGG-RA อาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อลดความเสี่ยง (Hedging) จากอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนในต่างประเทศโดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทจัดการ และกองทุน UGIS-N อาจพิจารณาลงทุนใน Derivative เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน โดยกองทุนจะลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ ในกรณีสถานการณ์ไม่ปกติ กองทุนอาจพิจารณาป้องกันความเสี่ยง FX ตามดุลยพินิจผู้จัดการกองทุน

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน