วีซ่าฟรี ปัจจัยบวกต่างชาติเที่ยวไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ภาพชัดในปี 2567

0
98

ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการวีซ่าฟรี 2 ประเทศ คือ จีนและคาซัคสถาน โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวจีนซึ่งกำลังเผชิญแรงกดดันจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว และด้วยข้อจำกัดด้านเส้นทางการบิน รวมถึงจังหวะการทำตลาดที่อาจค่อนข้างกระชั้น ทำให้ผลบวกในช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะค่อนข้างจำกัด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2566 นักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยอาจจะเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยประมาณ 3.5-4.0 แสนคนต่อเดือนเทียบกับช่วง 8 เดือนแรกของปีที่เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2.8 แสนคนต่อเดือน แต่ผลบวกคงจะชัดเจนมากขึ้นในปี 2567 โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตุรษจีน ขณะที่นักท่องเที่ยวจากคาซัคสถาน แม้ขนาดตลาดมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของจำนวนชาวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งหมด แต่เป็นตลาดใหม่และกำลังเติบโต มาตรการดังกล่าวจึงน่าจะช่วยให้ไทยเป็นทางเลือกในการท่องเที่ยวอันดับต้นๆ

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในช่วงที่ผ่านมาต่ำกว่าที่ประเมินในช่วงต้นปี 2566  จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจของตลาดนักท่องเที่ยวหลักที่ชะลอตัว และค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวยังสูงโดยปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาแล้วประมาณ 67% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในช่วงเดียวกันของปี 2562 และพบว่าตลาดนักท่องเที่ยวหลักของไทย อาทิ จีน สปป.ลาว และญี่ปุ่น สัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวยังกลับมาไม่ถึง 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 

ขณะที่มองไปข้างหน้า การท่องเที่ยวยังมีประเด็นเฉพาะของตลาด อาทิ รัฐบาลอินเดียเพิ่มเพดานจัดเก็บภาษีการโอนเงินออกนอกประเทศจากอัตราจัดเก็บเดิมที่ 5% เป็น 20% ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวจากอินเดียบางส่วน การแข่งขันในภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศมีความรุนแรงมากขึ้น และมาตรการเฉพาะของแต่ละประเทศในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งปี 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 27.6 ล้านคน ขณะที่ในปี 2567 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 31 ล้านคน แต่หากเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวอย่างมีศักยภาพ และทางการมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ก็น่าจะส่งผลบวกต่อตลาดต่างชาติเที่ยวไทยมากขึ้นได้ในปีหน้า

นอกจากมาตรการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวแล้ว โจทย์ระยะยาวที่สำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไป คือ การเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปให้สูงขึ้น ด้วยการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะยาวและดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง เช่นการท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการรักษาพยาบาล และการท่องเที่ยวเชิงอาหารหรือ Gastronomy Tourism ซึ่งไทยเองก็มีจุดแข็งในด้านอาหารเป็นที่ยอมรับทั่วโลก  รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ คงความเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่น พร้อมๆ กับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมาตรการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เพื่อรองรับการแข่งขันในกาคการท่องเที่ยวที่สูงขึ้น