เคทีซีโชว์กำไรปี 66 พุ่ง 7,295 ล้านบาท โต 3.1%  ปี 67 ลุยพอร์ตโต-คัดกรองหนี้-ช่วยเหลือลูกหนี้

0
42

เคทีซีเผยปี 66 กำไร 7,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.1% พอร์ตสินเชื่อรวม 112,346 ล้านบาท โต 7.8%  ย้ำแผนปี 2567 เน้นพอร์ตสินเชื่อโตอย่างยั่งยืน ควบคุมคุณภาพสินเชื่อ คัดกรองลูกหนี้ พร้อมเดินหน้ามาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ระยะยาวตามประกาศ ธปท. โดยให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกสถานะตามแนวทางของธปท. 1,833 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2566

นางพิทยา  วรปัญญาสกุล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานปี 2566 เทียบกับปีก่อนว่า มีกำไรสุทธิ 7,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.1% ฐานสมาชิก 3,358,926 บัญชี พอร์ตสินเชื่อรวมมีมูลค่า 112,346 ล้านบาท โต 7.8%อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มบริษัท (%NPL) อยู่ที่ 2.2% แบ่งเป็น

สมาชิกบัตรเครดิต 2,637,183 บัตร เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวม 74,441 ล้านบาท ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรในปี 2566 เท่ากับ 265,383 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.4% NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.1%

สมาชิกสินเชื่อบุคคล 721,743 บัญชี แบ่งเป็นเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” และดอกเบี้ยค้างรับ 30,597 ล้านบาท เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” 2,287 ล้านบาท NPL สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 3.0% สำหรับสินเชื่อลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อมูลค่า 3,189 ล้านบาท    ได้หยุดการปล่อยสินเชื่อตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 เพื่อบริหารจัดการคุณภาพพอร์ตสินเชื่อและการติดตามหนี้ เนื่องจากเห็นสัญญาณของหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น

สำหรับรายได้รวมเพิ่มขึ้น 9.4% จากรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียม ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 14.0% จากค่าใช้จ่ายในการบริหารหลักๆ ค่าธรรมเนียมจ่ายจากปริมาณธุรกรรมที่ขยายตัว ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) เพิ่มขึ้นจากการตั้งสำรองสูงขึ้น และต้นทุนทางการเงินที่ปรับขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน

โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566  มีเงินกู้ยืมทั้งสิ้น 66,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.7% แบ่งเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น 32.9% เงินกู้ยืมระยะยาว 67.1% อัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น 2.15 เท่า เทียบกับสิ้นปีก่อนหน้าที่ 2.22 เท่า ต่ำกว่าภาระผูกพัน (Debt Covenants) ที่ 10 เท่า โดยปี 2566 เคทีซีมีต้นทุนทางการเงิน 2.7% เพิ่มขึ้นจาก 2.4% ในปี 2565 ตามอัตราดอกเบี้ยของตลาดที่เพิ่มขึ้น ผลตอบแทนเงินให้สินเชื่อ 14.8% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 14.6% จากการเติบโตของพอร์ตรวม ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิปี 2566 อยู่ระดับเดิมที่ 13.2%

“ปี 2566 ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรโต 11.4% มูลค่าพอร์ตสินเชื่อรวมขยายตัว 7.8% พอร์ตบัตรเครดิตยังขยายตัวได้ที่ 7.2% ตามปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรที่เพิ่มขึ้นจากอุปสงค์การใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ขณะที่พอร์ตสินเชื่อบุคคลรวมขยายตัวที่ 7.5% โดยบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” (KTC PROUD) โต 4.4% และยอดลูกหนี้ใหม่ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” มูลค่า 2,590 ล้านบาท”

สำหรับปี  2567 คาดว่าการขยายตัวภาคการส่งออกและการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยว  จะเป็นแรงส่งให้การบริโภคภาคเอกชนมีใช้จ่ายเพิ่มขึ้น   เคทีซีจึงตั้งเป้าเติบโตใน 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” (KTC PROUD) และสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” ควบคู่กับการขยายพอร์ตลูกหนี้รวม ภายใต้ความเส่ยงที่ยอมรับได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมธุรกิจ “มาย บาย เคทีซี” (MAAI by KTC) บริการระบบบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า  และการพัฒนา 3 องค์ประกอบหลัก คือ คน กระบวนการและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์และบริการ

นอกจากนี้ ยังขานรับประกาศของ ธปท.เรื่องหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending: RL) ด้วยมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ระยะยาว เช่น กรณีปรับเพิ่มอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตจาก 5% เป็น 8% ซึ่งมีผลกับรอบบัญชีตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 – 31 ธันวาคม 2567  เชื่อว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่สามารถจ่ายชำระขั้นต่ำที่สูงขึ้นได้ หากมีลูกหนี้บางส่วนที่ชำระไม่ได้ บริษัทก็มีแนวทางในการให้ความช่วยเหลือ

“เคทีซีจะเสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ที่ยังไม่ด้อยคุณภาพ (non-NPL) ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะเชิงป้องกัน (Pre-emptive DR) ตั้งแต่เริ่มมีสัญญาณว่าลูกหนี้กำลังจะประสบปัญหาการชำระหนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้  รวมทั้งจะเสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) อย่างน้อย 1 ครั้ง เฉพาะก่อนการดำเนินการตามกฎหมาย โอนขายหนี้ บอกเลิกสัญญาหรือยึดทรัพย์  โดยเคทีซีจะพิจารณาให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ ไม่ทำให้ลูกหนี้มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นจากภาระหนี้เดิมเกินสมควร  ซึ่งการช่วยเหลือตามเกณฑ์ดังกล่าว ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาพรวมการดำเนินงานของเคทีซี”

สำหรับแนวทางความช่วยเหลือของ ธปท. ต่อลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt: PD) ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2567 นั้น หากลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์ทุกรายเข้าร่วมโครงการ จะมีผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยของบริษัทฯลดลงประมาณ 18 ล้านบาทต่อเดือน  ส่วนความคืบหน้าด้านแนวคิดให้ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยตามความเสี่ยง (Risk-based Pricing: RBP) ต้องรอให้เปิดเข้าร่วมทดสอบในกลางปี 2567  และกรณีการกำหนดสัดส่วนของภาระหนี้สินเทียบกับรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) ยังไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเป็นการเฉพาะ ตามแผนเดิมของ ธปท. คาดจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2568 ทั้งนี้ ธปท. จะประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจอีกครั้ง “ที่ผ่านมาเคทีซีได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามแนวทางของธปท. ในการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 เคทีซีได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในทุกสถานะเป็นจำนวน 1,833 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.7% ของพอร์ตลูกหนี้รวม” นางพิทยา กล่าวสรุป