เคทีซี ผนึกสมิติเวช เปิดเวที KTC FIT Talk ครั้งที่ 14 ภายใต้หัวข้อ “สร้างภูมิ-ปลดล็อกภาระการเงินและปัญหาสุขภาพ ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ” ส่งเสริมแนวคิดการวางแผนชีวิตอย่างสมดุล ทั้งสุขภาพและการเงิน รับมือเศรษฐกิจผันผวน
นางสาวสิรีรัตน์ คอวนิช ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต หมวดสุขภาพและความงาม “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิต สะท้อนจากยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเคทีซีในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและจำนวนสมาชิกที่ใช้บัตร โดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิด-19 เติบโตมากขึ้นกว่า 50% โดยเฉพาะกลุ่มคนอายุ 20-29 ปี มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ทั้งในกลุ่มโรงพยาบาล สปอร์ตและฟิตเนส ชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคสนใจการดูแลสุขภาพตั้งแต่อายุยังน้อย
ในปี 2568 เคทีซีจึงขยายความร่วมมือไปยังพันธมิตรด้านสุขภาพทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เพื่อเข้าถึงกลุ่มสมาชิกและผู้บริโภคให้มากที่สุด โดยจับมือกับพันธมิตรกลุ่มโรงพยาบาล ฟิตเนส รวมถึงผู้จำหน่ายอุปกรณ์ออกกำลังกาย และเทคโนโลยีสวมใส่ (Wearable Devices) และกลุ่ม Wellness Lifestyle ด้วยสิทธิพิเศษต่างๆ เพื่อตอบรับพฤติกรรมที่เน้นการดูแลสุขภาพตัวเองและครอบครัว
“ บัตรเคทีซีไม่ใช่เพียงเครื่องมือในการใช้จ่าย แต่เป็นเพื่อนคู่คิดช่วยให้สมาชิกวางแผนการใช้เงิน มีเป้าหมายและมีความรับผิดชอบ ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ เพื่อสมาชิกใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการใช้จ่าย จากใช้เพื่อความสะดวก เป็นใช้เพื่อคุณภาพชีวิต ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การตรวจสุขภาพ การทานอาหารเสริมภูมิคุ้มกันต่างๆ”
สุขภาพดีเริ่มจากออกกำลังกาย
การเงินแข็งแกร่งได้เริ่มจากการออม
นายอภิเชษฐ์ เกียรติวรคุณ, CFA ผู้อำนวยการ – การเงิน “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวคิดวางแผนการเงิน-สุขภาพอย่างสมดุล รับมือเศรษฐกิจผันผวนครึ่งหลังของปี 2568 ว่า ในภาวะเศรษฐกิจเปราะบาง คนไทยต้องวางแผนชีวิตอย่างรอบด้าน ทั้งเรื่องการเงิน สุขภาพและจิตใจ เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอน แม้ว่าปัจจุบันคนไทยมีความรู้ทางการเงินดีขึ้น มีการคิดก่อนซื้อและออมมากขึ้น แต่ควรเพิ่มในเรื่องการวางแผนเกษียณในระยะยาวและแผนรับมือกับเหตุฉุกเฉิน
ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า คนไทยกว่า 80% ยังไม่มีแผนเกษียณที่ชัดเจน ยังมีภาระหนี้สิน และสิ่งสำคัญที่อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายคนอาจมองข้าม คือ การโรคประจำตัวเรื้อรังที่ต้องใช้เงินจำนวนมากในการดูแลรักษา
“สถานการณ์เศรษฐกิจผันผวนและไม่แน่นอน ผู้บริโภคจำเป็นต้องวางแผนด้านการเงินและสุขภาพอย่างรอบคอบมากขึ้น วัยทำงานควรเริ่มต้นจากการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ตั้งเป้าหมายทางการเงินตามสูตร 50-30-20 หรือ 60-20-20 (สิ่งจำเป็น – สิ่งที่ต้องการ -เงินออม) มีเงินสำรองฉุกเฉิน และลงทุนให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของตนเอง รวมถึงฝึกวินัยทางการเงินผ่านระบบออมอัตโนมัติ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และทบทวนแผนทุก 6 เดือน”
สำหรับการลงทุนเพื่อการออมปี 2568 ในกล่มหุ้น (Selective Underweight) ควรเน้นกลุ่มสาธารณูปโภค สินค้าอุปโภคและสุขภาพ หรือหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ที่มีตลาดกระจายหลายประเทศ หุ้นบริโภคในประเทศที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน โดยลดหุ้นส่งออกไปสหรัฐฯ โดยเฉพาะที่ไม่มีสิทธิยกเว้นภาษี ในส่วนของตราสารหนี้ เพิ่มน้ำหนักพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางและระยะยาว เลี่ยงตราสารหนี้เอกชนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น อสังหาริมทรัพย์ และลดการถือพันธบัตรอิงเงินเฟ้อจากแนวโน้มเงินเฟ้อต่ำ ขณะที่ทองคำ แนะนำถือทองในรูปแบบ USD รับมือค่าเงินบาทผันผวน และค่อยๆเพิ่มการลงทุนระยะยาวเพื่อป้องกันความเสี่ยง หรือชื้อแบบทยอยเพื่อเฉลี่ยต้นทุน
อย่างไรก็ตาม การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะในสภาวะที่เศรษฐกิจยังมีความผันผวน และอยากสนับสนุนให้ผู้บริโภคและสมาชิกเคทีซีให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการเงินและสุขภาพอย่างสมดุลและมีวินัย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ยั่งยืนให้กับชีวิตและครอบครัว
“อยากแข็งแรงต้องเริ่มจากการออกกำลังกาย การเงินจะแข็งแกร่งได้ต้องเริ่มจากการออม นักวิ่งตอนอายุน้อยๆก็วิ่งได้เต็มที่ ลงทุนตอนอายุน้อยก็มีความอดทนต่อการสูญเสียเงินลงทุนได้สูง การทยอยลงทุนก็เปรียบเหมือนการออกกำลังกายทุกวัน แรกๆอาจจะยาก แต่ถ้าทำไปเรื่อยๆจากการมีวินัยจะกลายเป็นนิสัย ช่วยให้ลงทุนในระยะยาวได้ดีขึ้น”
สมิติเวช รุกบริการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน
ตั้ง Wearable Clinic ประเมินสุขภาพจาก Wearable Devices
นายแพทย์นรศักดิ์ สุวจิตตานนท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจและการกีฬา โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญนำไปสู่นวตกรรมและแนวคิดใหม่ในการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน โดยเฉพาะ Wearable Devices อย่างนาฬิกาอัจฉริยะ (Smartwatch) หรือแหวนอัจฉริยะ (Smart Ring) ที่ทางการแพทย์สามารถนำมาใช้ในการวินิจฉัยและติดตามข้อมูลสุขภาพของผู้บริโภค ยกระดับการดูแลสุขภาพเชิงรุก เปลี่ยนจากการรักษาเมื่อป่วยเป็นการตรวจจับความเสี่ยงและสัญญาณผิดปกติในระยะเริ่มต้น (Early Detection)
โดยสมิติเวช ได้จัดตั้ง “Samitivej Wearable Clinic” บริการปรึกษาข้อมูลสุขภาพจาก Smartwatch และ Smart Ring ที่ผู้ใช้งานสามารถเชื่อมต่อข้อมูลจากอุปกรณ์ผ่านแอปพลิเคชัน Well by Samitivej เพื่อประเมินสุขภาพเบื้องต้น (Pre-Screening) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ครอบคลุมทั้งการนอนหลับ (Sleep) สุขภาพหัวใจ (ECG & Heart) โภชนาการ (Nutrition) การออกกำลังกาย (Sport) และสภาวะอารมณ์ (Emotion) ซึ่งข้อมูลจาก Wearable Devices เป็นดัชนีสำคัญที่ช่วยให้แพทย์เข้าใจสุขภาพของผู้ใช้งานได้ดีขึ้น เช่น เห็นอัตราการเต้นของหัวใจ ระดับออกซิเจนในเลือด เป็นต้น
“ในอนาคตSmartwatch จะเป็นอุปกรณ์ดูแลสุขภาพประจำตัว ข้อมูลจะถูกนำมาใช้กับระบบ Telemedicine เพื่อการรักษาเฉพาะบุคคลแบบเรียลไทม์ ทำให้การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องใกล้ตัว ทำได้ทุกวัน ไม่ต้องรอให้ป่วย โดยโรงพยาบาลสมิติเวช มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ข้อมูลจาก Wearable Devices พร้อมให้คำปรึกษาเฉพาะบุคคล ทั้งที่โรงพยาบาลและผ่านช่องทางออนไลน์ (Virtual Hospital) เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงคำแนะนำจากแพทย์ได้ง่ายยิ่งขึ้น”นายแพทย์นรศักดิ์ กล่าวสรุป
สำหรับสมาชิกเคทีซีที่ต้องการใช้บริการรับคำปรึกษาสุขภาพเชิงป้องกันผ่านนวัตกรรมเทคโนโลยี หรือดูแลรักษาสุขภาพที่โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท รับโค้ดส่วนลด SMVxKTC เมื่อรับบริการปรึกษาแพทย์ที่ Samitivej Wearable Clinic มูลค่า 800 บาท (ไม่รวมค่าบริการโรงพยาบาล) และชำระค่าบริการด้วยบัตรเครดิตเคทีซีผ่านแอปฯ Well by Samitivej ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2568 – 31 สิงหาคม 2568
นอกจากนี้สมาชิกบัตรเคทีซียังได้รับส่วนลด 10% สำหรับค่าห้อง และรับเครดิตเงินคืนไม่จำกัด เมื่อใช้บริการด้านสุขภาพต่างๆ ที่โรงพยาบาลสมิติเวช และมียอดใช้จ่ายตามกำหนด ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธันวาคม 2568
หมายเหตุ : บัตรเครดิตใช้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้เต็มจำนวนตามกำหนดจะได้ไม่เสียดอกเบี้ย 16% ต่อปี