BBL ชวนพันธมิตรจุดประกาย SME รุก Digital Transformation 

0
24

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผนึกกำลังองค์กรธุรกิจ แชร์ผลสำเร็จหลังนำเทคโนโลยีปรับใช้ในองค์กร จุดประกายให้ลูกค้าเอสเอ็มอี รุก Digital Transformation เพิ่มศักยภาพแข่งขัน-ลดต้นทุน เสริมแกร่งผู้ประกอบการทั้งความรู้และเงินทุนปรับตัวเพื่อเติบโตอย่างยั่งยืน 

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงเทพ  ต่อยอดความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรธุรกิจขนาดใหญ่ ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในองค์กร ให้แก่ลูกค้าเอสเอ็มอี  มุ่งหวังให้ปรับตัวไปสู่องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล  (Digital Transformation) ความท้าทายสำคัญของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กที่อาจยังไม่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลง 

โดยธนาคาร มีจุดแข็งด้านเครือข่ายความร่วมมือกับลูกค้าองค์กรธุรกิจหลากหลายระดับ  ซึ่งมีศักยภาพและความพร้อมมา แบ่งปันประสบการณ์ ให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อผลักดันให้ปรับตัว  อีกทั้งยังมีชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี เพื่อรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการให้แข็งแกร่งมาตั้งแต่ปี 2546  ปัจจุบันมีสมาชิกเอสเอ็มอีจากทั่วประเทศกว่า 2,000 ราย ภายใต้สโลแกน ‘สัมพันธ์ดี มีเครือข่าย ได้ความรู้ อุ้มชูธุรกิจ’ ที่ตอกย้ำบทบาทการเป็น ‘เพื่อนคู่คิด’ที่พร้อมเติบโตเคียงข้างลูกค้าอย่างยั่งยืนในระยะยาว” ดร.พิเชฐ กล่าว 

นายวิทิต วิวัฒน์ ประธานผู้บริหารสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มธุรกิจ ทีซีพี ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภค แนะนำผู้ประกอบการเอสเอ็มอีว่าDigital Transformation เป็นการปรับตัวเชิงกลยุทธ์ ซึ่งหัวใจของการปรับตัวดังต้องให้ความสำคัญกับ 3 องค์ประกอบ คือ

บุคลากร ผู้เป็นกำลังสำคัญ ที่ต้องมีเป้าหมายชัดเจนที่จะสร้างความร่วมมือทั้งภายในและภายนอกเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และทรัพยากรในการแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์นวัตกรรม

การเลือกเครื่องมือและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย

ขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่โลกดิจิทัล ไม่ใช่เพื่อทดแทนบุคลากร แต่เป็นการใช้เครื่องมือช่วยเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพในการทำงาน การอำนวยความสะดวก ลดความซ้ำซ้อน ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย  และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า

 “ปัญหาหลักที่ทำให้ Digital Transformation ไม่สำเร็จ มักเริ่มคิดจากวิธีการหรือเครื่องมือที่จะนำมาใช้ ซึ่งอาจจะไม่เหมาะสมเป้าหมายที่ต้องการจะปรับเปลี่ยน  ดังนั้นผู้นำองค์กรต้องสำรวจความต้องการที่แท้จริง และวางเป้าหมายใน 3-5 ปีว่าองค์กรจะเดินไปในทิศทางใด โดยคำนึงถึงผลลัพธ์ ทั้งต่อลูกค้า องค์กร และพนักงาน แล้วจึงหาวิธีหรือเครื่องมือที่จะดำเนินไปจนถึงผลลัพธ์นั้น  ซึ่งการเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ หรือมีผู้ให้คำปรึกษาเป็นตัวช่วยสำคัญ  ธนาคารจึงให้สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง” นายวิทิต กล่าว  

นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับตัวและเพิ่มขีดแล้วความสามารถในการแข่งขัน ธนาคารกรุงเทพ ยังสนับสนุนด้านเงินทุนผ่านบริการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ ได้แก่ 

  • สินเชื่อ “Bualuang Green” วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ผ่อนชำระได้นานสูงสุด 8 ปี สำหรับเอสเอ็มอีที่ต้องการลงทุนปรับปรุงธุรกิจและกระบวนการที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่างๆ รวมถึงนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ 
  • สินเชื่อ “Bualuang Green Solar Energy” ให้วงเงินกู้สูงสุด 100 % ของเงินลงทุน พร้อมเงื่อนไขพิเศษ เพื่อช่วยลดต้นทุนให้ต่ำลง ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น 
  • สินเชื่อบัวหลวงเพื่อการปรับตัวธุรกิจ (Bualuang Transformation Loan) วงเงิน 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 5 ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 5 ปี สำหรับธุรกิจที่ต้องการปรับปรุงกิจการในยุคดิจิทัลและภาวะปกติใหม่ (Next Normal) เช่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือใช้นวัตกรรมแห่งโลกอนาคต 

ผู้ประกอบการที่สนใจ ทั้งลูกค้าปัจจุบันหรือลูกค้าใหม่ ติดต่อสมัคร สินเชื่อบัวหลวงเพื่อการปรับตัวธุรกิจ (Bangkok Bank Transformation Loan) ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 – 31 มกราคม 2568 (หรือเมื่อมีลูกค้าใช้สินเชื่อเต็มวงเงินของโครงการ) ได้ที่เจ้าหน้าที่ธุรกิจสัมพันธ์ สำนักธุรกิจ หรือ สาขาธนาคารทั่วประเทศ