BBL หนุน SMEไทย ปรับตัวรับความท้าทายยุคดิจิทัล  ดึงพันธมิตรเสริมความรู้ เปิดประตูสู่ตลาดโลก

0
24

ธนาคารกรุงเทพ หนุนเอสเอ็มอีไทย เร่งปรับตัวรับมือ 4 ความท้าทาย ท่ามกลางยุคดิจิทัล การตลาด-เทคโนโลยี-แบรนด์-เงินทุน ผนึกพันธมิตรเสริมความรู้ ดันขายสินค้าในตลาดโลกผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมชี้ปัจจัยเสี่ยงและข้อกีดกันด้านการค้าให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมปรับตัวอย่างยั่งยืน  

นายรชฏ เสกตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้อำนวยการลูกค้าธุรกิจรายปลีก นครหลวง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า  การปรับตัวในยุคดิจิทัลของผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีในปัจจุบัน โดยเฉพาะเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Intelligence Economy) ที่นำเอาความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ดำเนินธุรกิจ ช่วยวางแผนและจัดการด้วยระบบต่าง ๆให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะธุรกิจยังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายหลักถึง 4 เรื่อง  ไม่ว่าจะเป็นการตลาดสมัยใหม่ Digital Commerce ทักษะด้านเทคโนโลยีของแรงงาน การสร้างแบรนด์อย่างเข้มแข็ง และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อยกระดับศักยภาพธุรกิจ 

เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมสำหรับการปรับตัวยุคดิจิทัล ธนาคารกรุงเทพ จึงร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Alibaba.com จัดสัมมนา  “โอกาสใหม่ สู่ตลาดโลก ผ่าน Cross Border E-commerce” เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการก้าวสู่โอกาสใหม่ๆ ในตลาดโลกผ่าน E-Commerce ตลอดจนสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องรับมือพร้อมเครื่องมือที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจปรับตัวได้อย่างราบรื่น 

“การเข้าสู่ตลาด E-Commerce อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้และเตรียมพร้อมหลายด้าน ทั้งการศึกษาวิจัยตลาด การพัฒนาสินค้า ช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสม ทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งข้อกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและจะเริ่มเห็นกฎเกณฑ์จากประเทศต่างๆ ชัดเจนมากขึ้นในปี 2568”

ธนาคารตั้งใจเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ให้ได้รับคำปรึกษงตรงจุดกับธุรกิจ รวมถึงช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถรับมือกับปัจจัยความท้าทายต่างๆ ทั้งการตลาดและกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านดิจิทัล การส่งเสริมทักษะด้านเทคโนโลยีของแรงงาน และการสร้างแบรนด์ให้พร้อมก้าวเข้าสู่ตลาดโลกได้อย่างแข็งแกร่ง ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ที่ผ่านมาธนาคารมีโครงการช่วยเหลือลูกค้า SME ด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษภายใต้โครงการ “สินเชื่อบัวหลวงเพื่อการปรับตัวธุรกิจ (Bualuang Transformation Loan)” วงเงินโครงการ 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษคงที่ 5% ต่อปี ระยะเวลาสินเชื่อ 5 ปี วงเงินสินเชื่อสูงสุด 10 ล้านบาทต่อราย เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน

โดยผู้ประกอบการที่สนใจ ทั้งลูกค้าปัจจุบันหรือลูกค้าใหม่ สามารถติดต่อสมัคร สินเชื่อบัวหลวงเพื่อการปรับตัวธุรกิจ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 – 31 มกราคม 2568 (หรือเมื่อมีลูกค้าใช้สินเชื่อเต็มวงเงินของโครงการ) 

นางสาวเรขา ศรีสมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์สถานการณ์ และเตือนภัยทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีผู้ประกอบการ SME อยู่ราว 3.2 ล้านราย โดยอยู่ในกลุ่มภาคการค้ามาก 1.34 ล้านราย  ภาคบริการ 1.30 ล้านราย และภาคการผลิต 5.15 แสนราย ซึ่งมีกลุ่มธุรกิจเพียง 22,429 ราย (ปี 2566) ที่ส่งออกสินค้าไปขายในต่างประเทศ  เป็นกลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ, น้ำตาลและผลไม้ โดยตลาดส่งออกสำคัญยังคงเป็นตลาดอาเซียน ขณะที่ตลาดสหรัฐฯและจีนขยายตัวขึ้นมาก โดยไทยได้อานิสงส์ในการส่งออกหลังจากทั้งสองประเทศกีดกันทางการค้าระหว่างกัน 

“กลุ่ม SME มีจำนวนมากที่สุดในประเทศ แต่สัดส่วนที่ส่งออกสินค้าไปขายต่างประเทศกลับมีเพียง 0.7% เพราะผู้ประกอบการขาดการเข้าถึงข้อมูล แหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจ ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าอยู่แล้วก็ยังขาดการอัพเดทเทรนด์การค้า แรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีในการใช้แพลตฟอร์มการผลิตและการค้าต่างๆ  รวมทั้งการปรับเปลี่ยนกฎข้อบังคับการส่งออกสินค้าและแหล่งเงินทุนในการปรับปรุงธุรกิจ” นางสาวเรขา กล่าว  

ทั้งนี้ ในปี 2566 มูลค่าการส่งออกของกลุ่ม SME ขยายตัว 26.3% และช่วง 5 ปี (2562-2566) มูลค่าการส่งออกขยายตัว 5.2% ซึ่งจากการอสนับสนุนทั้งจากภาครัฐ เอกชน และสถาบันการเงิน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการพัฒนาศักยภาพธุรกิจในภาวะการแข่งขันที่ท้าทาย  เชื่อว่าในปี 2567 มูลค่าการส่งออกของกลุ่มผู้ประกอบการ SME จะเพิ่มขึ้นได้ 8-10 %