KBTG ร่วมกับ AI Singapore และ Google Research พัฒนาโมเดล LLM

0
19

KBTG ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ระดับโลก AI Singapore และ Google Research พัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model: LLM) ในภูมิภาค ตอกย้ำยุทธศาสตร์ Human First x AI First ของ KBTG และผู้นำด้าน AI ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้โครงการซีลด์ (Project SEALD) เสริมแกร่งเทคโนโลยีทางการเงินและผลผลิตด้านไอทีที่เป็นประโยชน์ให้กับลูกค้าทั่วภูมิภาค

ดร. ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล Managing Director กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เปิดเผยว่า โครงการซีลด์  (Southeast Asian Languages in One Network Data: SEALD) ริเริ่มโดย AI Singapore และ Google Research เมื่อเดือนมีนาคม 2024 เพื่อฝึกฝน พัฒนา และประเมินโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model: LLM) สำหรับภาษาที่ใช้ในอาเซียน เช่น ภาษาไทย อินโดนีเซีย ทมิฬ ฟิลิปปินส์ และพม่า  โดยจับมือกับพันธมิตรในประเทศต่างๆ ที่เชี่ยวชาญด้าน LLM  ซึ่งโครงการนี้จะช่วยขยายขีดความสามารถของ LLM และความเข้าใจบริบททางวัฒนธรรม ไปจนถึงส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้ LLM ตลอดทั้งภูมิภาคเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม

ด้วยจุดประสงค์ของโครงการ SEALD ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ Human First x AI First ของ KBTG ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี AI โดยยังคงมนุษย์ไว้ซึ่งศูนย์กลาง KBTG จึงจับมือกับ AI Singapore และ Google Research เข้าร่วมโครงการ SEALD ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ LLM ที่ใหญ่ที่สุดในระดับภูมิภาค โดยเชื่อว่าความรู้ความเชี่ยวชาญของบุคลากรในองค์กร ประกอบกับทรัพยากรที่สร้างขึ้นจาก ThaLLE by KBTG โมเดล LLM อัจฉริยะด้านการเงิน จะช่วยส่งเสริมโครงการให้พัฒนาและเติบโตยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้ KBTG ได้เรียนรู้และทำงานอย่างใกล้ชิดกับพาร์ทเนอร์ชั้นนำด้าน AI ระดับโลก รวมถึงเป็นแนวหน้าในการขับเคลื่อนการเติบโตของ LLM ในภูมิภาค

สำหรับเป้าหมายของโครงการในปีนี้ KBTG จะเน้นการร่วมสร้างชุดข้อมูลในภาษาไทยคุณภาพสูง ซึ่งขณะนี้ยังมีปริมาณไม่เพียงพอ (Underrepresented) และในอนาคตจะมีการส่งนักวิจัยจากแล็บไปร่วมพัฒนาและประเมินโมเดลในโครงการต่อไป 

“ความรู้ที่ได้จากความร่วมมือครั้งนี้  จะพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินให้ธนาคารกสิกรไทย และองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ที่ KBTG ให้บริการทั่วทั้งภูมิภาค  และช่วยให้ชุมชน LLM มีโมเดลที่ไม่เพียงแค่เข้าใจภาษาและบริบททางวัฒนธรรมของไทย แต่ยังรวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน นำไปสู่การสร้างชุดข้อมูลที่มีความหลากหลายและคุณภาพสูง เพื่อนำไปเทรนโมเดลต่าง ๆ ในเครือข่าย SEA-LION  (Southeast Asian Languages in One Network) ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงชุดข้อมูลและโมเดลต่างๆ ของโครงการนี้ได้โดยทั่วกันผ่าน Open Source ร่วมขับเคลื่อนระบบนิเวศ LLM ในภูมิภาคให้พัฒนาไปอีกขั้น”