KTAM  ดันผลิตภัณฑ์หลากหลาย ตอบโจทย์นักลงทุน มองตลาดเริ่มแกร่ง…เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ย ผ่านจุดสูงสุดแล้ว  

0
82

KTAM เดินหน้าผลักดันผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการนักลงทุน  รับภาพรวมเศรษฐกิจไทยและต่างประเทศเริ่มแข็งแกร่ง เงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว เริ่มลดลงช้าๆ ส่งผลอัตราดอกเบี้ยยังสูงต่ออีกระยะ ก่อนปรับลดกลางปีหน้า  

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวเติบโตอย่างช้าๆ (Soft Landing) โดยอัตราเงินเฟ้อน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว  แต่จะค่อยๆลดลง ทำให้อัตราดอกเบี้ยคงระดับสูงไปอีกระยะหนึ่ง  ซึ่งไม่ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ก่อนที่ธนาคารกลางจะลดอัตราดอกเบี้ยประมาณกลางปีหน้า  

อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยง ด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risk) ที่อาจนำไปสู่การใช้กำแพงภาษี การย้ายฐานการผลิตเพื่อลดปัญหาอุปทานขาดแคลนจากการกีดกันทางการค้า สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ศักยภาพในการเติบโตระยะยาวด้อยลง

เศรษฐกิจเริ่มฟื้น ตลาดหุ้นไทยไปต่อได้

ด้านเศรษฐกิจไทย คาดว่าจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป จากนักท่องเที่ยวจีนที่อาจเข้ามามากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังต่อเนื่องถึงปีหน้า  ขณะที่เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทาน (Supply push) แต่ไม่เป็นปัญหายืดเยื้อเหมือนประเทศอื่นๆ ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายไม่สูงนัก  โดยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยเล็กน้อยมาอยู่ที่ประมาณ 2.50% เพื่อปรับเข้าสู่ระดับ “สมดุล” ไม่ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยกับต่างประเทศสูงจนเกินไป   

อย่างไรก็ตามในภาพระยะยาว ประเทศไทยยังมีความท้าทายในด้านความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และประเด็นประชากรสูงวัย

หากพิจารณาปัจจัยต่างประเทศ จะเห็นว่าวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้สิ้นสุด  ขณะที่ปัจจัยเชิงบวกภายในประเทศจะค่อยๆ ดีขึ้น จากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เข้าสู่ High season ในไตรมาส 4  รวมไปถึงภาพการเมืองที่ชัดเจนขึ้น  โดยเฉพาะเมื่อจัดตั้งรัฐบาลได้  จะช่วยสนับสนุนบรรยากาศการลงทุนให้ผันผวนน้อยลง  

สำหรับตลาดหุ้นไทย  7 เดือนที่ผ่านมามีความผันผวน ให้ผลตอบแทนติดลบและต่ำกว่าเมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นสำคัญๆทั่วโลก เป็นผลจากความไม่แน่นอนทางการเมือง และประมาณการเศรษฐกิจไทยที่เติบโตน้อยกว่าคาด จากการส่งออกที่ถูกกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวน้อยกว่าคาด  รวมถึงดอกเบี้ยโลกที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้เงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทย

โดย KTAM คาดการณ์กำไรเติบโตประมาณ 10-12%  อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield)  3.2-3.4% เป็นระดับที่ Valuation ไม่แพงนัก ปัจจุบัน P/E อยู่ที่ 15-16 เท่า โดยประเมิน SET Target ที่ 1,640 จุด ณ สิ้นปี 2566   

ทั้งนี้ตลาดหุ้นไทยได้สะท้อนความกลัวและความกังวลของนักลงทุนในประเด็นความเสี่ยงจากการเมือง และการปรับประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนไปแล้ว ขณะที่สัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติอยู่ในระดับต่ำจากการขายออกมาอย่างต่อเนื่อง   รวมไปถึงแนวโน้มค่าเงินบาทที่คาดว่าจะกลับมาแข็งค่าจากเศรษฐกิจที่คาดว่าจะดีขึ้น  เป็นปัจจัยช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติให้กลับเข้าตลาดตราสารทุนไทยได้

โดยกลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่เหลือ จะเลือกสรรหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ หุ้นที่เกี่ยวกับการบริโภค และภาคบริการภายในประเทศ หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการออกมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ รวมถึงหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกประคองตัวได้ (ไม่เป็น Recession รุนแรง) และหุ้นที่ผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ลงทุนต่างประเทศผลตอบแทนดี แม้มีความผันผวนสูง
สำหรับการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ  ปีนี้ให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างดี จากเศรษฐกิจที่ไม่ได้เกิดภาวะถดถอยดและทนทานต่อดอกเบี้ยสูงได้ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาด  ซึ่งนักวิเคราะห์ทยอยปรับประมาณการกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น รวมถึงเงินเฟ้อที่สูงส่งผลดีต่อตัวเลขรายได้และกำไรของบริษัทจดทะเบียน กระแสการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ส่งผลดีต่อกลุ่มเทคโนโลยีค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ KTAM ประเมินภาพการลงทุนมีแนวโน้มดีขึ้นแต่ตลาดหุ้นยังคงมีความผันผวนสูง การเลือกลงทุน (Selection) จึงมีความสำคัญ โดยเลือกลงทุนเป็นประเทศๆ  ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าในประเทศเกิดใหม่ซึ่งมีอัตราเงินเฟ้อต่ำและดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำได้  ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นในครึ่งปีหลัง ดังนั้นต้องเน้นในกลุ่มประเทศ/อุตสาหกรรมที่มีความสามารถในการเติบโตที่มีคุณภาพในระยะยาว รวมถึงลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดีและมีอายุเฉลี่ยที่ยาวขึ้น

“นักลงทุนที่รับความเสี่ยงจากความผันผวนได้ ควรลงทุนหุ้นในสัดส่วนที่สูงกว่าตราสารหนี้ เนื่องจากดอกเบี้ยตราสารหนี้อาจใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว  โดยควรลงทุนในหุ้นประมาณ 70% และลงทุนในตราสารหนี้เพียง 30% ในทางกลับกัน นักลงทุนที่รับความผันผวนได้ต่ำ ควรลงทุนในหุ้น 30% และลงทุนในตราสารหนี้ถึง 70%”

KTAM เสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย

เน้นความปลอดภัย ด้วยกองทุน Structure Product


KTAM เฟ้นหาโอกาสการลงทุนจากผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุน  โดยมีแผนนำเสนอกองทุนประเภท Structure Product มากขึ้น ซึ่งเป็นการลงทุนที่เน้นความปลอดภัยของเงินลงทุน และอ้างอิงกับผลตอบกับกับดัชนีต่างๆ ตามสภาวะตลาด รวมถึงจะทยอยเปิดกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) โดยจะเน้นรายประเทศ หรือกลุ่มประเทศที่น่าสนใจ และมีโอกาสสร้างการเติบโตในระยะยาว

นอกจากนี้ ยังนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนและการบริการให้กับนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งพัฒนาแอปพลิเคชั่น KTAM Smart Trade  ซึ่งล่าสุดได้เพิ่มบริการหักเงินค่าซื้อกองทุนเพื่ออำนวยความสะดวกนักลงทุนที่ใช้บริการธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์   รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์  เพื่อสร้างความมั่นใจว่าข้อมูลของลูกค้าถูกเก็บไว้อย่างปลอดภัย โดยปัจจุบันมีนักลงทุนที่ใช้บริการผ่าน KTAM Smart Trade กว่า 44,000 บัญชี 

อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุน ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ  11 ช่องทาง ได้แก่ Facebook, YouTube, Line, TikTok, Instagram, Twitter, Threads, Blockdit, Clubhouse, PodBean, และ Spotify ให้นักลงทุนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว โดยมีฐานลูกค้าในทุกดิจิทัลแพลตฟอร์มรวม PVD online และ Krungthai NEXT กว่า 1.53 ล้านราย (ข้อมูล ณ 31 ก.ค. 2566)