SCB ตั้งเป้าผู้นำ Private Banking ชู 3 กลยุทธ์ ดัน AUM ทะลุ 1 ล้านล้าน

0
596

นโยบายการเงินที่ประเทศต่างๆนำมาใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ  ทำให้เกิดสภาพคล่องล้นตลาดนำไปสู่อัตราดอกเบี้ยต่ำ กลุ่มลูกค้า Wealth และผู้มีสินทรัพย์สูง (HNWIs: มีสินทรัพย์ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป) ที่คุ้นชินกับเงินฝากหรือพันธบัตร จึงมองหาการลงทุนรูปแบบอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า  แต่ด้วยภาวะตลาดมีความผันผวนสูง ผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีความหลากหลายและซับซ้อน การใช้บริการบริหารความมั่งคั่ง หรือ  Wealth Management จากผู้ให้บริการ Private Banking จึงเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์  

สารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์

นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ธนาคารมีฐานลูกค้าบุคคลมากกว่า 16 ล้านคน  ฐานเงินฝากติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศ  เป็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ Wealth Management หนึ่งในยุทธศาสตร์องค์กรที่สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนทดแทนธุรกิจรูปแบบเดิมๆ  และเมื่อเทียบอัตราการลงทุนและการบริหารความมั่งคั่งของไทยกับประเทศอื่นๆ ถือว่าของไทยอยู่ในระดับที่ไม่สูง  SCB จึงมุ่งเน้นด้าน Weath Management อย่างจริงจัง  โดยทำแผน Wealth Transformation  และเดินตามแผนมาตั้งแต่ปี 2560

จนถึงปี 2563  SCB Wealth โตสวนกระแสทั้งธุรกิจการลงทุนและธุรกิจประกัน  สร้างผลกำไรให้กับธนาคารกว่า 15% คิดเป็นสัดส่วน 56% ของรายได้ที่มาจากค่าธรรมเนียม และคาดว่าจากนี้จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 10-12% จะเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์สุทธิที่อยู่ภายใต้การบริหาร (AUM) ของกลุ่มลูกค้ากลุ่ม Wealth ที่ 1 ล้านล้านบาท ในปี 2566 ภายใต้แนวคิด “BEAT THE BENCHMARK”  ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลให้คำปรึกษาด้านการบริหารพอร์ตการลงทุน  คัดสรรผลิตภัณฑ์ โซลูชันด้านการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดและเหนือกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาด (Beat the market) 

“ เรามุ่งมั่นพัฒนาการให้บริการ Wealth Management  เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้คำปรึกษา ยกระดับการให้บริการที่สร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้กับลูกค้า SCB Wealth และนำไปสู่การสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Set the new benchmark) โดยเป้าหมายหลัก คือ การเป็นที่หนึ่งในใจลูกค้า  และการรับผิดชอบต่อสังคม ให้คนไทยมีความรู้ ความเข้าใจ และเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเงินและการลงทุนอย่างเหมาะสม” 

2564 SCB Private Banking โฉมใหม่

ณรงค์ ศรีจักรินทร์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์

นายณรงค์ ศรีจักรินทร์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์  เปิดเผยถึง การปรับกลยุทธ์การบริหารธุรกิจ Wealth Management  ด้วยยุทธศาสตร์ Wealth Transformation เมื่อปี 2560 ว่า เป็นการสร้างรากฐานใหม่ โดยเน้นการสร้างขีดความสามารถในการให้คำปรึกษา (Advisory Capability) ควบคู่ไปกับการปรับ Operating Model พัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นด้านการลงทุนในรูปแบบของ Open Architecture ที่คัดสรรจากพันธมิตรด้านการลงทุนและประกันกว่า 35 แห่ง เพื่อให้ลูกค้าได้มีทางเลือกด้านการลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีและเพิ่มความมั่งคั่ง

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการสร้างศักยภาพของ RM (Relationship Manager) ให้มีความรู้ ความสามารถในการให้คำปรึกษาและดูแลลูกค้าอย่างมืออาชีพ ในฐานะ “Trusted Partner” มีการนำระบบ Ai มาช่วยในการบริหารจัดงาน  รวมไปถึง ทีมงาน SCBS Wealth Research  มาเติมเต็มมุมมองการลงทุนแบบเจาะลึกทั้งในและต่างประเทศ  ส่งผลให้รายได้จาก SCB Wealth ในปี 2563 เติบโตกว่า 25%  และในปี 2564 จะโฟกัสการเติบโตด้วยการเปิดตัวโฉมใหม่ของธุรกิจ SCB Private Banking กับกลยุทธ์ในการให้คำปรึกษาจากทีมผู้เชี่ยวชาญครบวงจรและเต็มรูปแบบ

ณรงค์ ศรีจักรินทร์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์

ดร.เมธินี จงสฤษดิ์หวัง รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Private Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปี 2563 ตลาดการเงินการลงทุนทั่วโลกต้องเผชิญกับความผันผวนอย่างสูง ส่งผลให้ธุรกิจ Private Banking แข่งขันกันอย่างดุเดือด ทั้งโซลูชันทางการเงิน ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารความมั่งคั่ง เข้ามาดูแลกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งระดับสูงกันอย่างพร้อมเพรียงทุกสถาบัน

3 กลยุทธ์ก้าวสู่ AUM 1 ล้านล้าน

สำหรับ SCB Private Banking มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิที่อยู่ภายใต้การบริหาร (AUM) กว่า 850,000 ล้านบาท หากพิจารณาเฉพาะ Investment AUM ไม่รวมเงินฝาก จะมีสินทรัพย์อยู่ประมาณ 570,000 ล้านบาท สามารถสร้างผลตอบแทนจากการบริหารพอร์ตการลงทุนให้ลูกค้าได้สูงถึง 14.9% ในระยะเวลา 1 ปี (1 ม.ค. – 31 ธ.ค.63) ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนประเภทความเสี่ยงปานกลาง

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการพัฒนารูปแบบการให้บริการจาก service-led เป็น advisory-led relationship ด้วยแผนบริหารการเงินการลงทุนที่ออกแบบเป็นพิเศษเฉพาะลูกค้าแต่ละรายเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีบนความเสี่ยงที่ลูกค้าสามารถรับได้

โดยในปี 2564  SCB Private Banking ยึด 3 กลยุทธ์แกนหลักอันเป็นหัวใจสู่ความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่

1.Investment Solutions for Wealth Preservation วางแผนต่อยอดความมั่งคั่งส่วนบุคคลให้กับลูกค้า ด้วยทีมที่ปรึกษาด้านการเงินการลงทุนส่วนบุคคลระดับมืออาชีพ จัดพอร์ตการลงทุนให้ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ด้วยเครื่องมืออันชาญฉลาดที่เน้นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (data intelligence and optimization tools) รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลายครบวงจร ทันกับสภาวะตลาดในรูปแบบของ Open Architecture เพื่อเข้าถึงทุกการลงทุนทั้งในและต่างประเทศในสินทรัพย์หลากหลายประเภท กว่า 10,000 หลักทรัพย์และกองทุน ไม่ว่าจะเป็น Public assets หรือ Private assets ซึ่งเชื่อมต่อ 19 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนในไทย 23 ตลาดหลัก ๆ ทั่วโลก รวมไปถึง มี Discretionary Portfolio Management เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดให้ลูกค้า

2.Business Solutions for Wealth Creation บริการที่ปรึกษาด้านธุรกิจอย่างครอบคลุม เน้นการสร้างความมั่งคั่งในทุกโอกาสการลงทุนแบบใหม่ ๆ โดยนำเสนอโซลูชันใหม่ ๆ ที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างสภาพคล่องหรือสร้างเงินใหม่ให้กับลูกค้า เช่น สินเชื่อเพื่อการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ SCB Property Backed Loan สินเชื่อเพื่อใช้ในการบริหารความมั่งคั่ง ที่เปิดตัวเมื่อปลายปี 2563 สำหรับใช้เพิ่มกระแสเงินสด เพื่อให้ลูกค้าไม่พลาดทุกจังหวะการลงทุน

3.SCB Financial Business Group ผสานความแข็งแกร่งของกลุ่มไทยพาณิชย์ ทั้งความรู้ และความชำนาญเพื่อเปิดกว้างด้านการลงทุน โดย SCB Private Banking เป็นตัวแทนทุกกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อยกระดับประสบการณ์การบริหารและสร้างความมั่งคั่งให้แก่ลูกค้าในทุก ๆ ช่องทาง

“ภายใต้ 3 กลยุทธ์หลักของ SCB Private Banking ที่มุ่งพัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำธุรกิจจะช่วยผลักดันให้ภายในสิ้นปี 2566 จะมี AUM แตะที่ระดับ 1 ล้านล้านบาท สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้สูงสุดที่เหมาะกับความเสี่ยงของลูกค้า และนำไปสู่การสร้างมาตรฐานใหม่ที่สามารถครองใจลูกค้า Private Banking ของเมืองไทย” ดร.เมธินี กล่าวสรุป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่