ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics มองว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัว โดยประเมินปี 2568 สร้างรายได้ราว 3.3 แสนล้านบาท จากจำนวนผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์เริ่มอิ่มตัว และแรงกดดันจาก Copayment อาจส่งผลกระทบในระยะยาว หนุนทำธุรกิจเชิงรุกเพิ่มโอกาสสร้างรายได้เพิ่มและขยายฐานตลาดใหม่ ๆ
ช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยมีความเสี่ยงต่ำและเติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านผลประกอบการของกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่ขยายตัวเฉลี่ย 11.6% ต่อปี (2555-2565) อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัว โดยปี 2566 ผลประกอบการหดตัวลง 0.6% YoY และในปี 2567 เติบโตเพียง 4% และเติบโตจากราคาเป็นหลัก จากการวิเคราะห์ผ่านงบการเงินกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนในตลาดหลักทรัพย์พบว่า ค่าใช้จ่ายบริการทางการแพทย์ของผู้ป่วยนอกต่อครั้งเฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว 5-6% ต่อปี
มองในระยะถัดไป จำนวนผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์ในประเทศเริ่มเข้าสู่จุดอิ่มตัวมากขึ้น จากข้อจำกัดด้านโครงสร้างประชากรที่มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ค่ารักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นกดดันให้ผู้บริโภคจะต้องหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบเน้นการรักษาที่ผ่านมาไม่ตอบโจทย์ในการขยายตลาดเพื่อรองรับกลุ่มอุปสงค์ใหม่ๆได้อย่างมีนัย
โดยในปี 2568 ttb analytics จะเป็นปีที่ท้าทายมากขึ้นสำหรับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน คาดว่าธุรกิจจะขยายตัวในอัตราต่ำเพียง 3% ด้วยรายได้ 3.3 แสนล้านบาท บนแรงกดดันจากผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในลักษณะการเข้ารับการรักษา โดยเป็นความต้องการที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ (Unpredictable Demand) ซึ่งจะใกล้เข้าสู่ภาวะที่ตลาดอิ่มตัวจากโครงสร้างประชากรที่คนวัยทำงานและผู้สูงอายุเริ่มตระหนักในการดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น และกลุ่มเด็กมีอัตราการเกิดลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมา
ttb analytics จึงคาดว่าแผนการดำเนินกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเชิงรุกในปี 2568 จะแตกต่างไปจากเดิม ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่ในการสร้างรายได้บนตลาดใหม่ ๆ โดยทิศทางการทำตลาดเชิงรุกที่ยังมีศักยภาพในการเติบโต สามารถแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้
1.ขยายตลาดผู้ป่วยชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นตลาดที่ยังเติบโตได้ดี โดยรายได้จากผู้ป่วยชาวต่างชาติย้อนหลัง 5 ปี (2562-2566) ขยายตัวเฉลี่ย 7.6% ต่อปี ในขณะที่รายได้จากผู้ป่วยชาวไทยขยายตัวเฉลี่ย 4.9% ต่อปี เนื่องจากประเทศไทยมีข้อได้เปรียบด้านมาตรฐานคุณภาพของสถานพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ บนราคาค่ารักษาพยาบาลที่สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับคุณภาพการรักษา
นอกจากนี้กลุ่มลูกค้าต่างชาติยังเป็นกลุ่มที่ธุรกิจโรงพยาบาลส่งผ่านราคาได้มากกว่าผู้ป่วยในประเทศ จากส่วนต่างค่ารักษาพยาบาลในไทยกับค่ารักษาพยาบาล ณ ประเทศต้นทางที่มีส่วนต่างที่มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามการทำตลาดในรูปแบบนี้อาจจำกัดเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลเครือข่ายขนาดใหญ่เท่านั้น
2.สร้างอุปสงค์เพิ่มเติมผ่านการให้บริการในรูปแบบเฉพาะทางมากขึ้น เพื่อพยายามเพิ่มสัดส่วนอุปสงค์ที่คาดเดาได้ (Predictable Demand) โดยแนวทางการขยายรูปแบบการให้บริการในลักษณะเฉพาะทางสามารถแยกย่อยออกเป็น 2 รูปแบบหลัก ๆ ประกอบด้วย
2.1 การรักษาทางการแพทย์เฉพาะด้าน (Specialized Medical Treatments) เพื่อตอบสนองและสอดคล้องกับโครงสร้างประชากรของไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ที่มีความต้องการในอุปสงค์เฉพาะด้านสูง (เช่น โรคหัวใจ ฟอกไต กระดูกและข้อ) โดยตลาดบริการทางการแพทย์เฉพาะทางขยายตัวต่อเนื่อง 45% ในปี 2566 สร้างรายได้รวมกว่า 3.9 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มที่ตลาดจะขยายตัวต่อเนื่องแตะ 4.7 หมื่นล้านบาท ในปี 2567
นอกจากนี้บริการเฉพาะทางในรูปแบบเสริมความงามมีแนวโน้มเติบโตดีเช่นกัน สอดคล้องกับปัจจัยเชิงพฤติกรรมศาสตร์ของคนในยุคปัจจุบันที่กระแส Beauty Privilege กำลังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านตลาดเสริมความงามของไทยขยายตัวเฉลี่ย 14% ต่อปี (2562-2566) โดยเฉพาะตลาดกลุ่มผู้ชายที่ยังเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มการขยายตัวในอัตราเร่ง (ขยายตัว 65% ในปี 2566)
- 3.เวชศาสตร์เชิงป้องกันและสุขภาพองค์รวม (Wellness & Preventive Care) เป็นรูปแบบการให้บริการที่ สามารถสร้างอุปสงค์ได้เองผ่านการทำการตลาด เพื่อลดข้อจำกัดจากอุปสงค์ของกลุ่มผู้รับบริการที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ อีกทั้งยังเป็นรูปแบบการให้บริการที่มีความถี่สูงและสามารถสร้างรายได้ในรูปแบบรายได้ประจำ (Recurring Income) ให้เติบโตอย่างสม่ำเสมอได้ในระยะยาว รวมถึงยังสอดคล้องกับเทรนด์ในยุคปัจจุบันที่ผู้บริโภคเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาดูแลสุขภาพและป้องกันการเจ็บป่วยมากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่บริการด้านเวชศาสตร์เชิงป้องกันและสุขภาพองค์รวมจะมีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
4.เพิ่มพื้นที่การให้บริการไปยังตลาดภูมิภาคโดยเฉพาะจังหวัดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง จากข้อจำกัดของกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่อุปสงค์ไม่สามารถคาดเดาได้ ดังนั้น พื้นที่ศักยภาพสำหรับขยายตลาดจึงกระจุกตัวอยู่ใน กรุงเทพฯ ปริมณฑล ซึ่งเริ่มถึงจุดอิ่มตัว จากรายได้ในปี 2566 หดตัว 2.1% ในขณะที่ตลาดภูมิภาคยังขยายตัว 4.7% จึงเป็นโอกาสในการขยายพื้นที่ไปจังหวัดท่องเที่ยวหรือจังหวัดในหัวเมืองใหญ่ของแต่ละภูมิภาค รวมถึงยังเป็นตลาดที่ยังสามารถรองรับชาวต่างชาติได้และสามารถรักษาการเติบโตได้ดีในปี 2566 ตัวอย่างเช่น ภูเก็ต (+23.3%), ระยอง (+10.2%), นครราชสีมา (+9.8%), เชียงใหม่ (+9.1%) เป็นต้น
โดยสรุป สถานการณ์ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบันเริ่มเผชิญกับข้อจำกัด ผ่านผลประกอบการที่เติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าในอดีต โดยปี 2568 เริ่มมีความท้าทายมากขึ้นจากการเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่เข้าสู่จุดอิ่มตัว การทำธุรกิจแบบเน้นการรักษาอาจไม่เป็นปัจจัยเติบโต ดังนั้นการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในรูปแบบเชิงรุกอาจช่วยเพิ่มโอกาสขยายฐานตลาดใหม่ ๆ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก ๆ
ซึ่งแนวโน้มการขยายตลาดที่คาดว่ายังรักษาการเติบโตได้ดีประกอบด้วย 1) ตลาดผู้ป่วยชาวต่างชาติ 2) ตลาดบริการทางการแพทย์เฉพาะทาง และ 3) ตลาดภูมิภาคโดยเฉพาะกลุ่มเมืองใหญ่
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่กำลังจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ คือ การเริ่มใช้นโยบาย Copayment ซึ่งเป็นการเปลี่ยนเงื่อนไขการเคลมประกันสุขภาพไปเป็นรูปแบบผู้เอาประกันต้องมีส่วนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลในแต่ละครั้ง ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 2568 และมีโอกาสที่จะเกิดผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่มีสัดส่วนรายได้จากประกันและผู้ป่วยในสูง อีกทั้งจากการสำรวจพบว่าโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่มีรายได้จากกลุ่มผู้ป่วยในเฉลี่ย 50-55% ก็เป็นกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากประกันในรูปแบบ Copayment ทำให้โรงพยาบาลเอกชนอาจต้องเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาโมเมนตัมการเติบโตในอนาคตต่อไป