Virtual Bank…เรียนรู้จากประสบการณ์ต่างประเทศ

0
192

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ถอดบทเรียนกรณีศึกษา Virtual Bank ในต่างประเทศ  เผยในไทยแม้เป็นโอกาสของผู้เล่นรายใหม่ แต่ต้องเผชิญหลากหลายโจทย์ท้าทาย  ทั้งการหารายได้ การบริหารต้นทุน ความเสี่ยงจากการผิดชำระหนี้  และการแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ผู้เล่นในตลาดดั้งเดิม  ที่มีทั้งเงินกองทุน ฐานลูกค้า และพัฒนา Mobile banking ตอบโจทย์ผู้บริโภคไปมากแล้ว  

ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาในไทย  ถูกคาดหวังว่าจะเกิดการพัฒนารูปแบบการให้บริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ที่ตอบโจทย์กลุ่มรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน (Unbanked) และกลุ่มที่ไม่เคยใช้บริการทางการเงินจากสถาบันการเงินในระบบ (Underbanked) รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ไปจนถึงกลุ่มผู้ประกอบการระดับไมโคร (Micro enterprises)

ตลอดระยะเวลาประกาศนโยบายการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา มีกลุ่มผู้เล่นรายใหม่ๆ ให้ความสนใจอย่างมาก อาทิ กลุ่มโทรคมนาคมและการสื่อสาร กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กลุ่มผู้ให้บริการเทคโนโลยีด้านการเงิน โดยหลายรายน่าจะทำความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมหรือเป็นผู้ให้บริการทางการเงินรายใหญ่ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการเสริมศักยภาพการแข่งขันในฐานะผู้เล่นใหม่ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีทั้งเงินทุน ความเชี่ยวชาญทางด้านการเงินและเทคโนโลยีดิจิทัล รวมไปถึงมีฐานลูกค้าเดิมจำนวนมาก  

ถือเป็นข้อได้เปรียบด้านการมีข้อมูลทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากข้อมูลรายได้ ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นเงินกู้  ซึ่งน่าจะเป็นข้อบ่งชี้เบื้องต้นถึงความเสี่ยงจากการผิดชำระหนี้ได้  และน่าจะเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงกลุ่ม Unserved และ Underserved ได้ดี ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมจะมีข้อมูลด้านรายได้ของลูกค้าเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี ผู้เล่นใหม่ต้องพิจารณาเงื่อนไขและปัจจัยแวดล้อมหลายๆ ด้านก่อนยื่นขอใบอนุญาต เพราะการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาในไทย  จะต้องเผชิญกับความท้าทายอีกมาก ทั้งด้านการหารายได้ การบริหารต้นทุนดำเนินการ ความเสี่ยงจากการผิดชำระหนี้ และที่สำคัญคือการแข่งขันกับผู้เล่นอย่างธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมในตลาด ซึ่งได้ทำการพัฒนา Mobile banking ที่ตอบโจทย์การทำธุรกรรมของผู้บริโภคไปมากแล้ว

อีกทั้ง รายได้จากค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมการเงินก็ลดลงมาก ท่ามกลางการหารายได้จากการปล่อยสินเชื่อที่มีโจทย์เฉพาะที่ท้าทาย โดยเฉพาะในประเด็นการบริหารความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อรายย่อยกลุ่ม Unserved และ Underserved ตลอดจนการบริหารติดตามและทวงถามหนี้

ขณะที่ผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่คุ้นชินกับการใช้แอปพลิเคชั่น Mobile banking ของธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม ตั้งแต่การทำธุรกรรมถอนเงินไม่ใช้บัตร โอนเงิน ชำระค่าสินค้าและบริการ ไปจนถึงการขอสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชั่น จึงเป็นไปได้ว่าแพลตฟอร์มของธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาอาจไม่ได้สร้างความแตกต่างให้ผู้บริโภคในมุมของการทำธุรกรรมหลัก แต่คาดว่าน่าจะเป็นแพลตฟอร์มทางเลือกให้ผู้บริโภคในการใช้บริการทางการเงิน หากมีแรงจูงใจในการใช้งานที่มากพอ เช่น มีโปรโมชั่นลดราคาค่าสินค้าและบริการ หรือมีการ์ตูนสีสันสดใสให้เลือกอย่างหลากหลายและสามารถตั้งค่าเป็นธีมการใช้งานของตัวเอง เป็นต้น

ถอดบทเรียน Virtul Bank จากต่างประเทศ

ดังนั้นการถอดบทเรียนจากกรณีศึกษาในต่างประเทศ ไม่ว่ากรณีประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว น่าจะเป็นแนวทางสำคัญเพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจถึงปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อันจะนำมาสู่การปรับใช้ให้เข้ากับบริบทในประเทศไทย ทั้งนี้ ผู้ให้บริการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศล้วนมีที่มาที่ไปที่แตกต่างกัน ท่ามกลางการดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์การออกใบอนุญาตของทางการในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน  โดยสรุปเป็นข้อสังเกตสำคัญได้ดังนี้

ฐานลูกค้าจากแพลตฟอร์มออนไลน์เดิมเป็นจำนวนมาก  เป็นจุดตั้งต้นความได้เปรียบ เพราะสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินให้สอดคล้องกับลักษณะของกลุ่มตัวอย่างได้ เช่น WeBank จากจีน และ Kakao Bank จากเกาหลีใต้ ที่มีฐานลูกค้าเดิมมาจากแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่าง WeChat/ QQ และ Kakao talk ซึ่งมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย การต่อยอดการให้บริการมาสู่ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาจึงมุ่งเป้าไปที่การให้บริการลูกค้ารายย่อย ขณะที่ MYbank จากจีน ที่มีฐานลูกค้าเดิมมาจากแพลตฟอร์ม e-Commerce ชื่อดังอย่าง Alibaba ที่มีผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการต่อยอดการให้บริการไปยังกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยเป็นหลัก

การดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาภายใต้วัตถุประสงค์การออกใบอนุญาตของทางการที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ เป็นอีกปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้เล่นมีจุดขาย รวมถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แตกต่างกัน เช่น ทางการจีนต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขามาช่วยให้เกิดการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial inclusion) เนื่องจากประชากรจีนบางส่วน โดยเฉพาะในเขตชนบท  และกลุ่มผู้ประกอบการระดับไมโครอีกมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินจากสถาบันการเงินดั้งเดิมในระบบได้  

ดังนั้น การออกแบบรูปแบบการให้บริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินของ WeBank และ MYbank จึงมุ่งตอบโจทย์แก่กลุ่มลูกค้ารายย่อย Unbanked และ Underbanked และกลุ่มผู้ประกอบการระดับไมโครเป็นหลัก ขณะที่ทางการเกาหลีใต้มีวัตถุประสงค์ให้ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขามาช่วยตอบโจทย์การแข่งขันธุรกิจบริการทางการเงินในประเทศ จึงทำให้ Kakao bank มีการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเป้าการให้บริการไปยังกลุ่มลูกค้ารายย่อยทั่วไปเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงานที่มีอายุ 25 – 50 ปี ซึ่งเป็นลูกค้ารายย่อยกลุ่มเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม

-ระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่พร้อม ทำให้ผู้เล่นได้เปรียบ และสามารถต่อยอดไปสู่การให้บริการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาได้ไม่ยาก  และอาจนำไปสู่การต่อยอดในกลุ่มธุรกิจอื่นๆ  ทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืนมากขึ้นจากการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มใหม่ๆ และยังแชร์ต้นทุนการบริหารงานบางอย่างได้ โดยเฉพาะด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

กรณี WeBank, MYbank และ Kakao Bank ที่ประสบความสำเร็จ มาจากการสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่ง เริ่มจากการให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์คและ e-Commerce แล้วต่อยอดไปยังการให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ให้บริการชำระค่าสินค้าและบริการ (Digital payment) ลูกค้าจึงมีความคุ้นชินและให้ความไว้วางในการใช้บริการด้านการเงิน  ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการใช้บริการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ด้านการเงินและการลงทุนอื่นๆ อาทิ กองทุน หลักทรัพย์ และประกัน เป็นต้น

นอกจากนี้ การต่อยอดพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการออนไลน์อื่นๆ เช่น บริการเรียกรถแท๊กซี่ การบริหารเงินทุนและหลักทรัพย์ การจัดการด้านภาษี การจัดการระบบร้านค้าออนไลน์ เป็นต้น ย่อมเป็นการขยายฐานลูกค้าในวงกว้างยิ่งขึ้น โดยการต่อยอดหรือขยายไลน์ธุรกิจต่างๆ ดังกล่าว น่าจะทำให้ผู้เล่นสามารถบริหารต้นทุนดำเนินงานดีขึ้นจากการแชร์ต้นทุนด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั้งที่เป็นฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์

ขณะเดียวกัน การมีระบบนิเวศที่พร้อม จะเป็นตัวช่วยในการคัดกรองและทำความรู้จักลูกค้าให้ลึกขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการผิดชำระหนี้ เช่น ร้านอาหารหรือร้านค้าที่ดำเนินการอยู่ในแพลตฟอร์มให้บริการออนไลน์อื่นๆ ในระบบนิเวศของธนาคารพาณิชย์ร้สาขา มีส่วนทำให้ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาสามารถหักรายได้จากการดำเนินงานของร้านอาหารหรือร้านค้าดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ก่อนได้ หรืออาจพิจารณาวงเงินในการปล่อยสินเชื่อจากฐานรายได้ในแพลตฟอร์ม เป็นต้น

การพัฒนา User Interface ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ สร้างประสบการณ์ที่ดีให้มีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง เช่น มีการออกแบบหน้าตาแอปพลิเคชั่นหรือฟังก์ชั่นการใช้งานให้ง่าย ไม่ซับซ้อน ตัวหนังสือน่าอ่าน มีธีมรูปภาพและสีที่น่าสนใจ  มีการวางตำแหน่งฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน เช่น วางตำแหน่งรายการทำธุรกรรมที่ใช้บ่อยๆ ไว้ที่หน้าแรก มีข้อความที่น่ามอง อ่านง่าย สีสันสะดุดตา โดยผู้ใช้สามารถเลือกธีมได้ตามต้องการ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้งานกลับมาใช้งานซ้ำและมีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง

การจับกลุ่มลูกค้า Unbanked และ Underbanked ทั้งที่เป็นลูกค้ารายย่อยและกลุ่มผู้ประกอบการระดับไมโคร ภายใต้เงื่อนไขการให้บริการที่ยืดหยุ่นกว่าธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม ทำให้ผู้ให้บริการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาที่ประสบความสำเร็จมักมีส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่สูงกว่า ท่ามกลางอัตราการเติบโตของสินเชื่อ (Loan growth) ที่อยู่ในระดับสูง โดยกลุ่มตัวอย่างอย่าง WeBank และ MYbank มีอัตราการเติบโตของสินเชื่อสูงถึงร้อยละ 30.2 (YoY) และร้อยละ  34.9 (YoY) ตามลำดับ

ทั้งนี้ เงื่อนไขการให้บริการขอสินเชื่อที่ยืดหยุ่นสำคัญ ได้แก่ ผู้ขอสินเชื่อไม่จำเป็นต้องมีรายได้ประจำหรือมีการกำหนดรายได้ขั้นต่ำต่อเดือนที่อยู่ในระดับต่ำมากๆ หรือไม่จำเป็นต้องมีการแสดงรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีกับธนาคาร ส่งผลให้ผู้ให้บริการสามารถรับรายได้ดอกเบี้ยที่สูงจากการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มดังกล่าว เนื่องจากมีความเสี่ยงจากการผิดชำระหนี้สูงกว่า อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการจำเป็นต้องมีโมเดลในการบริหารความเสี่ยงด้านการให้สินเชื่อ รวมถึงมีกระบวนการในการติดตามและทวงถามหนี้อย่างเป็นระบบด้วย

– การประกอบธุรกิจ Virtul Bank ต้องแบกรับต้นทุนการดำเนินงาน จากอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวม (Cost-to-Income Ratio: CIR) ที่อยู่ในระดับสูง เนื่องจากน่าจะมีต้นทุนด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั้งที่เป็นฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ รวมถึงค่าแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อาทิ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software developer) ที่มีค่าแรงอยู่ในระดับสูง ยกตัวอย่างเช่นในกรณีของ Kakao bank ที่มีต้นทุนค่าแรงงานสูงกว่าค่าแรงเฉลี่ยของแรงงานเกาหลีใต้ราว 3.5 เท่า นอกจากนี้ ก็ยังมีต้นทุนสำหรับค่าการตลาดและคอมมิชชั่นต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจหันมาใช้บริการหรือดึงดูดให้เกิดการใช้บริการธนาคารพาณิชย์ไร้สาขามากขึ้น

ความสามารถในการทำกำไรเป็นเรื่องท้าทาย สะท้อนได้จากอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity: ROE) และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวม (Return on Asset: ROA) อยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิมที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก  จากการแบกรับต้นทุนในการดำเนินงานสูง  บางกรณีเป็นผลจากการเพิ่มทุน เช่น Kakao bank ที่มี ROE อยู่ที่ร้อยละ 4.69 ขณะที่ธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิมอย่าง KB Kookmin Bank มี ROE สูงถึงร้อยละ 9.12

ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาจึงจำเป็นในการต้องเร่งทำรายได้ให้เติบโตสูงขึ้น และคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุด ไม่เช่นนั้น ผลตอบแทน ROE หรือ ROA ที่ได้ ก็จะยังไม่สามารถดึงดูดความน่าสนใจในการลงทุนเมื่อเทียบกับธนาคารแบบดั้งเดิม

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ว่าการเกิดธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาเป็นโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างให้กลุ่มผู้เล่นรายใหม่ให้สามารถเข้ามาแข่งขันในธุรกิจธนาคาร  แต่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจอีกมากในระยะข้างหน้า โดยโมเดลธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาในไทย ต้องรอการพิสูจน์อีกระยะเวลาหนึ่ง ภายใต้นโยบายการออกใบอนุญาตและการกำกับดูแลจากทางการ เพื่อให้เข้ากับบริบทและโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศ ตลอดจนพฤติกรรมของผู้บริโภคไทย ขณะที่ประสบการณ์ต่างประเทศตามที่กล่าวมาข้างต้น น่าจะยังเป็นเพียงแนวการศึกษาให้เรียนรู้เท่าทัน เพื่อจะสามารถนำมาปรับใช้ในกับไทยในบางบริบท