บ้านปู เชื่อมั่นกลยุทธ์ Energy Symphonics ทำให้บ้านปูเป็นบริษัทพลังงานที่แตกต่าง เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและร่วมขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมกับสร้างมูลค่าให้ผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืน เผย 4 แนวทาง ดำเนินธุรกิจ ปี 2568 เน้นเพิ่มกระแสเงินสด บริหารโครงสร้างเงินทุน บริหารพอร์ตโฟลิโอ และรักษาวินัยการเงิน
นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการประเมินการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อทิศทางด้านพลังงานของโลก รวมถึงนโยบายและแผนพลังงานในประเทศ ปี 2568 จึงมุ่งจัดสรรเงินทุนไปยังสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง และปรับโครงสร้างอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอย่างสมดุล เพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเชื่อมั่นว่ากลยุทธ์ Energy Symphonics จะทำให้บ้านปูเป็นบริษัทพลังงานที่หลากหลาย และเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และร่วมขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ ไปพร้อม ๆ กับการสร้างมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นได้อย่างยั่งยืน
โดยแนวทางในการดำเนินธุรกิจในปี 2568 ตามกลยุทธ์ Energy Symphonics ว่า ประกอบด้วย 4 แนวทางหลักๆ คือ
1) บริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มกระแสเงินสดและมูลค่าของธุรกิจ เช่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและ AI และการลดต้นทุนในธุรกิจเหมือง
2) บริหารโครงสร้างเงินทุน พร้อมรักษาระดับหนี้และทุนให้อยู่ในระดับเหมาะสมกับการเติบโต
3) บริหารพอร์ตโฟลิโอเชิงกลยุทธ์ เน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่จะมาสร้างคุณค่าให้บริษัทฯ ในระยะยาว เช่น การสร้างการเติบโตของธุรกิจที่ครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่าของก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ
4) บริหารจัดสรรเงินทุนอย่างมีวินัย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทฯ และผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้น
นอกจากนี้ ในแต่ละธุรกิจเรือธงจะดำเนินงานตามแผน ดังนี้
ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ จะสร้างการเติบโตเชิงกลยุทธ์ทั้งธุรกิจต้นน้ำและกลางน้ำ โดยจัดสรรเงินลงทุนอย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ราคาก๊าซ
ธุรกิจเหมือง มุ่งผสาน AI และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดคาร์บอนผ่านการใช้พลังงานหมุนเวียนและระบบการจัดการอัจฉริยะ
ธุรกิจไฟฟ้า ตั้งเป้าลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมอีก 1,500 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะในประเทศยุทธศาสตร์
ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงาน เน้นลงทุนเชิงกลยุทธ์ที่จะเสริมการทำงานระหว่างระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) และซอฟต์แวร์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อสนับสนุนให้พลังงานหมุนเวียนมีความต่อเนื่องยิ่งขึ้น
นายสินนท์ กล่าวถึงผลประกอบการปี 2567 ว่า มีรายได้จากการขายรวม 5,148 ล้านเหรียญสหรัฐ (**ประมาณ 181,549 ล้านบาท) กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) รวม 1,330 ล้านเหรียญสหรัฐ (**ประมาณ 46,970 ล้านบาท) กำไรจากการดำเนินงาน 83.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (**ประมาณ 2,964 ล้านบาท) และผลขาดทุนสุทธิ 23.67 ล้านเหรียญสหรัฐ (**ประมาณ 682.42 ล้านบาท) ซึ่งเป็นผลกระทบจากการด้อยค่าเงินลงทุนจากการขายสัดส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้านาโกโซ ในประเทศญี่ปุ่น และการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับเงินบาท
โดยความคืบหน้าที่สำคัญในปีที่ผ่านมา คือ การเสนอขายหุ้น IPO ของ BKV Corporation (BKV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบ้านปูในสหรัฐฯ ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) การขายสัดส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้านาโกโซ ประเทศญี่ปุ่น การได้รับเงินสนับสนุน (Subsidy) จากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) ในการพัฒนาโครงการแบตเตอรี่ฟาร์มแห่งใหม่ 2 โครงการ ในญี่ปุ่น ได้แก่ โครงการ Aizu (ไอสึ) และโครงการ Tsuno (ซึโนะ) กำลังการผลิตรวม 208 เมกะวัตต์ชั่วโมง ที่คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 2/2571 และการพัฒนาโครงการ CCUS ของ BKV ที่ชื่อว่าโครงการ Eagle Ford ซึ่งคาดว่าจะสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 90,000 ตันต่อปี และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์อย่างสมบูรณ์ในไตรมาส 1/2569