ม.อ.รวมพลังนักวิจัยร่วมกับภาคเอกชนครั้งแรกของไทยพัฒนาชุดตรวจ PSU COVID-19 รู้ผลรวดเร็ว

0
237

        มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ เครือข่ายภาคเอกชน บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ บมจ.ทิพยประกันภัย บมจ.โสมาภา อินฟอเมชั่น บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น บมจ.บีซีพีจี ธนาคารกรุงไทย การบินลาว และ พิโซน่า กรุ๊ป  พัฒนาชุดทดสอบเพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นำโดย ผศ.ดร.ธีรกมล เพ็งสกุล, ดร.จิดาภา เซคเคย์, ดร.ปิยะวุฒิ แสวงผล, ดร.ธีรภัทร นวลน้อย, ดร.ท่าท่าณัฏฐาภรณ์ ณ นคร และ ดร.ปวีณา วงศ์วิทย์วิโชติ จากคณะเทคนิคการแพทย์และคณะเภสัชศาสตร์ เพื่อใช้สำหรับตรวจคัดกรองผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว ใช้เวลาตรวจประมาณ 15 นาที

       จากการที่โลกพบการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อธันวาคม 2562 ที่เมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน และระบาดไปทั่วโลก การวินิจฉัยการติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 ที่ถือเป็นวิธีมาตรฐานคือ การตรวจหาสารพันธุกรรม(RNA) ของไวรัส โดยตรวจจากสิ่งส่งตรวจที่เป็นสารคัดหลั่งบริเวณทางเดินหายใจ ซึ่งต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญในการปฏิบัติงานและแปลผลการตรวจ การตรวจใช้เวลานานประมาณ 2-3 ชั่วโมง เครื่องมือมีราคาสูงไม่เหมาะกับงานภาคสนาม อีกทั้งบุคลากรที่ทำหน้าที่เก็บตัวอย่างจะมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อไวรัส

       ผศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า  มหาวิทยาลัย มีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ฝ่าวิกฤตโควิด-19 เราเฟ้นหาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ทั้งนักเทคนิคการแพทย์ และเภสัชกร การพัฒนาชุดตรวจ PSU COVID-19 ครั้งนี้ สามารถช่วยคัดกรองเบื้องต้น ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่จะสัมผัสกับเชื้อ ซึ่งสามารถระบุเบื้องต้นได้ว่า ผู้ป่วยอยู่ในระยะใดของการติดเชื้อ หากเคยได้รับเชื้อและหายแล้วก็ยังตรวจได้ ขอขอบคุณในความมุ่งมั่น ความอดทน ความเสียสละ ของผู้วิจัยทุกท่าน และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เป็นกำลังยิ่งใหญ่ในการดูแลสังคม ให้หายจากโรคระบาดโควิด-19 เพื่อให้เราผ่านวิกฤตไปด้วยกัน

        ผศ.ดร.ธีรกมล เพ็งสกุล คณะเทคนิคการแพทย์ หัวหน้าโครงการชุดทดสอบเพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 เปิดเผยว่า “โครงการพัฒนาชุดทดสอบเพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ชุดตรวจนี้ ใช้สำหรับตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว โดยการตรวจหา immunoglobulin ทั้งชนิด IgM และ IgG ที่จำเพาะต่อโปรตีนของเชื้อ COVID-19 เป็นประโยชน์ต่อทั้งการตรวจการติดเชื้อในเบื้องต้นและตรวจติดตามการพัฒนาภูมิคุ้มกันของร่างกาย ชุดตรวจนี้ใช้หลักการ immunochromatography (อิมมูโนโชมาโตกราฟฟี) (ICT)  เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการตรวจ ใช้เวลาในการตรวจเพียง 15 นาที ชุดตรวจมีความไวและความจำเพาะสูง   มีความคงตัวสูง สามารถเก็บรักษาได้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลาหลายเดือน อีกทั้งตัวอย่างที่ใช้ในการตรวจมีปริมาตรน้อย ประมาณ 15-20 ไมโครลิตร (1-2 หยด) ใช้ได้กับตัวอย่างเลือดที่เจาะจากปลายนิ้ว พลาสมาหรือซีรัม ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้มีปริมาณของเชื้อไวรัสที่น้อยมาก ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากรจากผู้ป่วย”

         ด้านนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด(มหาชน) ผู้แทนเครือข่ายกลุ่มช่วยกันและหนึ่งในผู้สนับสนุนโครงการ กล่าวว่า ทางบริษัทมีความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทย โดยได้ชักชวนพันธมิตรเพื่อมาร่วมมือกันในชื่อ “กลุ่มช่วยกัน” ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา รวมพลังสมอง เทคโนโลยี เงินทุน รวมถึงกำลังคน เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยไม่หวังผลประโยชน์ใด ขณะเดียวกันทางบริษัทมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เป็นผู้ร่วมสนับสนุนโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มต้น จนสามารถผลิตชุดตรวจ PSU COVID-19 ที่มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากลสำเร็จได้ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจยืนยันโรคได้มากขึ้น ด้วยต้นทุนการตรวจที่ต่ำลง แต่รวดเร็ว ถูกต้องและแม่นยำ

         ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย หนึ่งในองค์กรภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุน โครงการวิจัยและพัฒนา ชุดทดสอบเพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กล่าวว่า ทิพยประกันภัย ได้เห็นถึงประโยชน์ของเครื่องมือนี้ที่จะสามารถตรวจคัดกรองเบื้องต้นของผู้มีความเสี่ยงหรือมีประวัติใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ หากสามารถตรวจพบได้เร็ว โอกาสในการได้รับการรักษาก็จะเร็วขึ้น การแพร่ระบาดของเชื้อก็จะน้อยลง จำนวนผู้ติดเชื้อก็จะลดลง ซึ่งก็เป็นผลดีในขณะที่ทั่วโลกกำลังพยายามคิดค้นวัคซีนเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 อยู่ เราก็ควรช่วยกันควบคุมลดจำนวนของผู้ที่จะติดเชื้อใหม่และช่วยหยุดการแพร่ระบาดในวงกว้าง เพราะไวรัสโควิด-19 นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว ยังได้ได้ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิต รวมทั้งเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ของคนทั้งโลกอีกด้วย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่