เงินฝากลดลง 2 แสนล้าน หดตัวครั้งแรกในรอบ 10 ปี สคฝ. เร่งยุทธ์ศาสตร์สร้างสุขภาวะการเงินที่ดีให้คนไทย  

0
151

สคฝ. รายงานสถิติปี 2566 จำนวนผู้ฝากเติบโต 3.37% สวนทางกับจำนวนเงินฝากที่เติบโตต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยเติบโตลดลงกว่า 2 แสนล้านบาท เหตุเศรษฐกิจชะลอตัว ภาวะสงคราม ราคาพลังงานปรับตัวสูง และการถอนเงินไปหาผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก  เร่งเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ระยะที่ 4 ปี 2566 – 2570 ย้ำเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินของประเทศแข็งแกร่ง

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) รายงานสถิติเงินฝาก ณ สิ้นเดือน ส.ค. 2566  ขณะที่จำนวนผู้ฝากที่ได้รับการคุ้มครองมี 93.46 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 3.05 ล้านราย โต 3.37% แต่จำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง 15.96 ล้านล้านบาท กลับลดลงจากปี 2565 ถึง 212,688 ล้านบาท หรือลดลง 1.32% เติบโตลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี

และสถิติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2562 – ส.ค. 2566) แม้จำนวนผู้ฝากที่มีเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยในเดือน ส.ค. 2566 โต 4.45% แต่จำนวนเงินฝากกลับเริ่มหดตัวตั้งแต่ปี 2565 -0.63% และในเดือนส.ค. 2566 -3.61% ขณะที่ผู้มีเงินฝากมากกว่า 50,000 บาทแต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ปรับตัวลงทั้งจำนวนเงินฝากและจำนวนผู้ฝาก

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) อธิบายถึงสถิติดังกล่าวว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ผู้ฝากที่มีเงินฝากไม่มากต้องนำเงินออมมาใช้จ่าย แม้แต่ในกลุ่มผู้ฝากรายใหญ่ก็เริ่มมีตัวเลขเงินฝากลดลงในปีนี้  เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แรงกดดันจากภาวะสงคราม ราคาพลังงานปรับตัวสูง รวมไปถึงการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก เช่น ทองคำ หุ้นกู้ และบัญชีเงินฝากสกุลต่างประเทศ   ซึ่งในช่วงที่ผ่านธนาคารพาณิชย์บางแห่งนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากสกุลดอลลาร์ อัตราดอกเบี้ย 5% กว่าๆ แต่ก็ต้องรับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน  รวมไปถึงไม่ได้รับการคุ้มครองจาก สคฝ.

“เงินฝากในเดือนสิงหาคม ปี 2566 เติบโตลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี ในภาพรวมตั้งแต่ปี 2565 ถึง 2566 จำนวนผู้ที่มีเงินฝากระหว่าง 200,000 ถึง 500,000 บาท ลดลง 3.3% ขณะที่ผู้ที่มีเงินฝากน้อยกว่า 50,000 บาท เพิ่มขึ้น 6.37% รวมทั้งสิ้น 81 ล้านราย โดยในจำนวน 50,000 บาทนี้ มีผู้ที่มีเงินในบัญชีน้อยกว่า 5,000 บาทอยู่ด้วย  และหากดูสถิติ 5 ปีย้อนหลัง พบว่าแต่ละปีมีการเติบโตประมาณ 3-5% จนในปี 2566 ที่จำนวนเงินฝากลดลงไป 1.3% เป็นสถานการณ์การไหลตัวของคนที่มีฐานะแย่ลง 

นอกจากนี้ บริการ “Buy Now Pay Later” ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่น่ากังวล เพราะทำให้เกิดการก่อหนี้ระยะยาวเป็นเดือนหรืออาจเป็นปี แม้ความสามารถในการหารายได้จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่สถานการณ์ยังทรงตัว และจากสถิติข้างต้นคนไทยมีเงินเก็บน้อยลง หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น สงครามที่ยังยืดเยื้อ จะทำให้ไม่มีเงินออมพอที่จะรองรับแรงกระแทก  ดังนั้นหากจำเป็นต้องก่อหนี้ ก็ควรเป็นนี้ที่ทำให้เกิดรายได้หรือหนี้ที่เป็นความจำเป็น แต่หากเป็นหนี้ที่ “ใช้แล้วหมดไป” ควรมีให้น้อยลง และออมเงินให้มากขึ้น

นายทรงพล กล่าวเพิ่มเติมว่า สถิติเงินฝากและปัจจัยความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม ทำให้ สคฝ.ต้องเร่งขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2566 – 2570) รวมถึงถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาให้เกิดความเข้าใจถึงการบริหารจัดการและแนวทางในการกอบกู้สถานการณ์เหตุการณ์วิกฤตสถาบันการเงิน พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและผู้ฝากเงิน โดยพัฒนาประสิทธิภาพการจ่ายเงินคุ้มครองและชำระบัญชี สนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาวะทางการเงินที่ดีให้กับประชาชน ด้วยความรู้ทางการเงินเกี่ยวกับการคุ้มครองเงินฝาก

โดยวางเป้าหมายการดำเนินงานปี พ.ศ. 2567 ที่สำคัญ อาทิ การประมวลผลข้อมูลผู้ฝากจากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝากให้มีความถี่ขึ้นและความร่วมมือกับธนาคารเฉพาะกิจในการเป็น Paying Agent, การเตรียมกระบวนการด้านชำระบัญชีและบริหารสินทรัพย์ รวมถึงการพัฒนาสัญลักษณ์คุ้มครองเงินฝากให้ครอบคลุมการแสดงบนช่องทางบริการทางการเงินดิจิทัล และรองรับการจัดตั้งสถาบันการเงินในรูปแบบธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต