เงินประกันชีวิตไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย

0
2296

ตอนที่แล้วได้กล่าวถึง ขณะทำสัญญาประกันภัย วัตถุที่เอาประกันภัยคือรถยนต์ได้รับความเสียหาย มาก่อนแล้ว

กรณีนี้ ศาลฎีกาโดยคำพิพากษาที่ 2513/2518 วินิจฉัยว่า บริษัทไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย เหตุผลเกิดเนื่องจาก วินาศภัย ได้เกิดขึ้นแล้ว มิใช่ภัยที่อาจมีขึ้นในอนาคต

ในตอนนี้ จะได้พิจารณาถึงขณะที่สัญญาประกันภัยได้เกิดขึ้น  คือวันที่บริษัทสนองตอบรับคำเสนอของผู้เอาประกันภัย  วัตถุที่เอาประกันภัย ที่จะนำมาให้ผู้รับประกันภัยรับเสี่ยง สูญหายหรือบุบสลายอย่างสิ้นเชิงหรือไม่มีตัวตนอยู่แล้ว ในขณะบริษัทสนองตอบคำเสนอของผู้เอาประกันภัย

ถามว่าสัญญาประกันภัยเช่นนี้ จะเป็นโมฆียะหรือโมฆะหรือไม่ เพราะเหตุใด

กรณีวัตถุที่เอาประกันภัยได้สูญหาย เสียหายสิ้นเชิง หรือกรณีประกันชีวิต ผู้ถูกเอาประกันชีวิต ได้เสียชีวิตไปก่อนที่บริษัทจะสนองรับคำเสนอของผู้ขอเอาประประกัน

กรณีเช่นนี้ การรับเสี่ยงภัยอันเป็นวัตถุแห่งหนี้ของทางฝ่ายผู้รับประกันภัยก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้

หากคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ทราบดีอยู่แล้ว ยังขืนทำสัญญากันไป สัญญาประกันภัยก็เกิดขึ้นไม่ได้ ผู้รับประกันภัยจะไม่สามารถเรียกประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยได้

แต่ถ้าได้มีการทำสัญญาประกันภัยกันไปโดยเข้าใจผิดว่า วัตถุที่เอาประกันภัย ยังคงมีอยู่ แท้จริงแล้ว วัตถุที่เอาประกันภัยนั้น ไม่มีอยู่แล้ว กรณีเช่นนี้ ย่อมเป็นการสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม  ทำให้สัญญาประกันภัยนั้นเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150

เงินประกันชีวิต ที่ไม่มีผู้รับประโยชน์ ถือเป็นมรดกของผู้เอาประกันภัยหรือไม่

สัญญาประกันภัย หรือสัญญาประกันชีวิต ที่ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ลงไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ถือเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 374 ซึ่งผู้รับประโยชน์มีสิทธิเรียกร้องเอากับผู้รับประกันภัยได้โดยตรง

โดยทั่วไปแล้วสัญญาประกันชีวิตที่อาศัยความมรณะของผู้เอาประกันภัยเป็นเงื่อนไขในการใช้เงิน จะระบุชื่อผู้รับประโยชน์ลงไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อผู้เอาประกันภัยถึงแก่มรณะลงเมื่อใด  ผู้รับประโยชน์ก็มีสิทธิเรียกร้องเอากับ ผู้รับประกันภัยได้เมื่อนั้น

มีปัญหาเกิดขึ้น เนืองๆ ก็คือ ในระหว่างที่สัญญาประกันชีวิต ยังมีผลบังคับอยู่ ผู้รับประโยชน์ได้ถึงแก่มรณะไปก่อนที่ผู้เอาประกันภัยจะถึงแก่มรณะ (ผู้รับประโยชน์เสียชีวิตก่อนผู้ทำประกันชีวิต)

โดยผู้เอาประกันภัยไม่ได้แจ้งเปลี่ยนตัวผู้รับประโยชน์ ไปยังผู้รับประกันภัย

ต่อมาผู้เอาประกันภัยถึงแก่มรณะ ปัญหามีว่า เงินประกันชีวิตจะตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้เอาประกันภัยหรือไม่

คำตอบก็คือ เงินประกันชีวิตไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย  (คำพิพากษาศาลฎีกาที่132/2507)

ดังนั้น ผู้รับประโยชน์ ตามสัญญาประกันชีวิตถึงแก่มรณะก่อนผู้เอาประกันภัย เงินประกันชีวิตจะตกได้แก่ใคร

ในกรณีเช่นนี้ ผู้เอาประกันชีวิต ควรแสดงเจตนาตั้งผู้รับประโยชน์คนใหม่

ในระหว่างที่ยังไม่มีการตั้งผู้รับประโยชน์คนใหม่ ผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่มรณะความลำบากในการที่จะจ่ายเงินประกันชีวิต

เหตุก็เพราะ เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดกของผู้เอาประกัน เพราะไม่ใช่เงินที่ผู้เอาประกันมีอยู่ในขณะที่ถึงเขาถึงแก่มรณณะ

ในกรณีนี้ต้องอาศัยการอุดช่องว่างของกฎหมาย ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 4 กล่าวคือเมื่อไม่มีกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้ก็ให้ใช้จารีตประเพณี ถ้าจารีตประเพณีก็ไม่มี ก็ให้ใช้กฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้ากฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งก็ไม่มีก็ให้ใช้กฎหมายทั่วไป

ในกรณีนี้มีกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งก็คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599, 1600

ดังนั้น จำนวนเงินที่ผู้รับประกันพึงต้องใช้จึงตกได้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้เอาประกันชีวิต
ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2401/2515
รายละเอียดของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจะได้นำมาเสนอให้ทราบในตอนต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่