หน้าแรก Featured กรุงเทพประกันภัย ย้ำการเงินแข็งแกร่ง แม้เจ็บหนัก จาก “ประกันโควิด เจอจ่ายจบ” นับเป็นบทเรียนราคาแพง

กรุงเทพประกันภัย ย้ำการเงินแข็งแกร่ง แม้เจ็บหนัก จาก “ประกันโควิด เจอจ่ายจบ” นับเป็นบทเรียนราคาแพง

0
กรุงเทพประกันภัย ย้ำการเงินแข็งแกร่ง  แม้เจ็บหนัก จาก “ประกันโควิด เจอจ่ายจบ” นับเป็นบทเรียนราคาแพง

                “ทุกอย่างพลิกผันไปหมด จากเจตนาที่ดีของ การคิดแบบประกันภัยโควิด เจอจ่ายจบ ด้วยหวังให้เป็นที่พึ่งสำหรับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนในระดับรากหญ้า หากติดเชื้อ ต้องพักรักษาตัวไม่สามารถออกไปทำงานได้ ขาดรายได้ ให้ได้รับเงินจากความคุ้มครองจากกรมธรรม์ เพื่อจุลเจือครอบครัวช่วงรักษาตัว

แต่กลับมีประชาชนจำนวนหนึ่งแสวงหาผลประโยชน์ โดยคำแนะนำของผู้รู้หลากหลายจำพวก ทำให้เห็นภาพการติดเชื้อทั้งครอบครัว บางรายมีการออกรถใหม่ป้ายแดง สามารถปลดหนี้บ้านได้หมด ซึ่งต้องยอมรับว่า เราวางกับดักตัวเราเอง ประเมินสถานการณ์โควิดได้ไม่ครอบคลุม แม้จะคิดถึงการทุจริตเพื่อหวังเงินประกัน (moral hazard) เป็นปัจจัยพื้นฐานไว้แล้วก็ตาม แต่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นมากขนาดนี้ ในการแสวงหาผลระโยชน์จากการประกันภัย

นี่คือผลเรียบราคาแพงมากๆ ของอุตสาหกรรมประกันภัย ว่า ในการจะทำอะไรกับประชาชนระดับที่เป็น ไมโครอินชัวรันส์ และระดับนาโนอินชัวรันส์ บริษัทประกันภัยต้องใส่ใจและระวังอย่างยิ่งยวดในการรับประกันภัย” ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน์   ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพประกัน ได้เล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปี กับวิกฤติสถานการณ์โควิด

ดร.อภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ภาพรวมประกันภัยโควิด ตั้งแต่ ปี 2564  ต่อเนื่องมาถึง 2565 นั้น มีการคาดการว่า ความเสียหายของ สินไหมประกันภัยโควิดโดยภาพรวมอุตสหกรรม อาจจะสูงเฉียดแสนล้านบาท  อย่างบริษัทใหญ่ๆ อย่างอาคเนย์ประกันภัยนั้นคาดว่าจะมีสัดส่วนความเสียหายอาจจะมากกว่าที่เห็นตัวเลข แต่เผอิญถูกถอนใบอนุญาตไปก่อน เพราะฉะนั้นกรมธรรม์จึงสิ้นผลบังคับไปก่อนหน้าที่จะเกิดผลของความเสียหาย

ส่วนบริษัทใหญ่ๆ ที่ยังเหลืออยู่ คือ วิริยะประกันภัย สินมั่นคงประกันภัย กรุงเทพประกันภัย และเล็กๆ อีกไม่กี่แห่ง ซึ่งถือว่าได้รับความเสียหายมาก

สำหรับกรุงเทพประกันภัย  หากคิดเป็นเบี้ยประกันภัยโควิด ที่เริ่มมีการขายในเดือนมีนาคม  2564  จบใน พฤษภาคม 2565  ซึ่งมีเบี้ยประกันภัย ที่ 670 ล้านบาท ส่วนการเคลมสินไหมเกิดขึ้นไปแล้วในปี  2564  หลังจากหักประกันภัยต่อแล้วอยู่ที่  3,400 ล้านบาท   ซึ่งเราคิดว่าในปี 2564 หนักแล้ว ในปี 2565  มีเคลมสินไหมประกันภัยโควิด ที่หนักกว่ามาก ทั้งนี้มีเหตุผลเนื่องจาก มีการความคุมค่าสินไหมได้ยากมาก และสินไหมจำนวนไม่น้อยเลยเกิดจาก การทุจริตเพื่อหวังเงินประกัน (moral hazard) เพราะ เชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์โอมิครอน ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ ต้นปี 2565  แทนสายพันธุ์ เดลต้า  กับ อัลฟ่า  ซึ่งตอนนั้นความรุนแรงค่อนข้างสูง ที่คนมีความกลัว และยังมีการฉีดวัคซีนที่ยังไม่ครอบคลุม ซึ่งเมื่อ Covid สายพันธุ์โอมิครอน เข้ามาระบาด ประชาชนมีการฉีดวัคซีนไปแล้วเกือบ 80% มีการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว  แต่โอกาสทื่เชื้อลงปอดน้อย และโอกาสในการเสียชีวิตก็ต่ำทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งตั้งใจติด หวังเคลมประกันภัย

            อันนี้เป็นสิ่งที่มีการพูดคุยกันในวงการประกันภัย และนอกจากการตั้งใจติด ยังมีเรื่องของ Fraud Claim  เข้ามาเกี่ยวข้องอีก ด้วยการทำเอกสารเท็จขึ้นมาเพื่อเคลมประกันภัย จะเห็นว่ามีเว็บไซด์โปรโมท “ศูนย์ออกเอกสาร RTPCR”  ในโซเชี่ยลมีเดีย ซึ่งเราได้มีการส่งให้กับสำนักงานคปภ.  จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ปี 2565  เป็นปีที่ความเสียหายจากเจอจ่ายจบ ของผู้รับประกันภัยสูงมาก

            สำหรับกรุงเทพประกันภัย อาจจะไม่ได้สูงมากเหมือนกับบริษัทอื่น เนื่องจากในหลักการของการรับประกันภัย เวลาที่รับงานไม่ใช่ว่าจะ Aggressive หรือมุ่งสร้างเบี้ยประกันจนเกินไปเพราะฉะนั้นวงเงินความคุ้มครองส่วนใหญ่ ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท  ทำให้ปี 2565  ณ สิ้นมิถุนายน 2565  กรมธรรม์ประกันภัยโควิด เจอ จ่าย จบ หมดครบเกือบ 99% เมื่อสิ้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว

ทั้งนี้ กรมธรรม์ประกันภัยโควิดของบริษัทมีจำนวนกว่า 1.35 ล้านฉบับ ซึ่งมีการทยอยหมดมาตั้งแต่กลางเมษายน 2565  ทำให้บริษัทกรุงเทพประกันภัยมีเคลมสินไหมประกันภัยโควิด อยู่ที่ประมาณ 8,700 ล้านบาท  ซึ่งหากเทียบกับค่าประมาณการสินไหมประกันภัยโควิด ของทั้งอุตสาหกรรมที่มีการประมาณการว่าจะสูงเฉียดแสนล้านบาทนั้น ถือว่ากรุงเทพประกันภัยก็เจ็บ แต่ไม่หนักจนเกินไป

            ส่วนผลของการบันทึกความเสียหาย เคลมสินไหมประกันภัยโควิด ส่วนใหญ่จะถูกบันทึกตั้งแต่ในไตรมาสที่ เพราะความรุนแรงอยู่ในช่วงประมาณเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งในการบันทึกค่าสินไหมทางบัญชี จะบันทึกเฉพาะเคลมที่มีการเรียกร้องค่าสินไหมเข้ามาแล้ว  พร้อมทั้งมีการประมาณการ เหตุที่เกิดแล้วแต่ยังไม่ได้แจ้งเคลม หรือ IBNR  ซึ่งได้มีการบันทึกในไตรมาส 1 อีก  1,500 ล้านบาท  รวมแล้วเป็นเคลมที่มีการบันทึกไปในไตรมาส ที่ 5,800 ล้านบาท    เพราะฉะนั้น จากสินไหม 8,700 ล้านบาท จะเหลือมาในไตรมาส 2  เหลืออยู่ประมาณ 3,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ในไตรมาส 1 จะได้รับผลกระทบจากสินไหมประกันภัยโควิด ส่งผลให้บริษัทขาดทุนจากการรับประกันภัย แต่โชคดีมีผลตอบแทนจากการลงทุนเข้ามาช่วย ทำให้ขาดทุนประมาณ 3,500 ล้านบาท จากการขาดทุนครั้งนี้ บริษัทยังสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ที่ 3.50 บาทต่อหุ้น เพราะมีกำไรสะสมอยู่ประมาณ 6,000 กว่าล้านบาท  ซึ่งเพียงพอสำหรับการตัดขาดทุนในไตรมาส 1 และยังมีส่วนเหลือในการจ่ายปันผลได้อีกด้วย

ทั้งนี้แม้กรุงเทพประกันภัยจะเผชิญการเคลมสินไหมประกันภัยโควิดอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา แต่หากดูสถานะทางการเงินของบริษัทนั้นจะเห็นว่า ความเพียงพอของการดำรงเงินกองทุน หรือ CAR Ratio  อยู่ที่ 172.3% สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 140%    นอกจากนี้ในส่วนเงินทุนของเจ้าของ อยู่ที่ 30,800 ล้านบาท   มีสินทรัพย์สภาพคล่อง อยู่ถึง 466%  ณ สิ้นไตรมาส 1 หมายความว่า สินทรัพย์สภาพคล่องได้แก่ เงินสด เงินฝากธนาคาร หลักทรัพย์ที่สามารถแปลงเป็นเงินได้ทันที เทียบกับสำรองค่าสินไหม บวกกับ ค่าสินไหมค้างจ่าย จะเห็นว่า สินทรัพย์สภาพคล่องยังอยู่เหนือสินไหมที่ได้มีการประมาณการถึง 4.66% หรือ เกือบ 5 เท่า ซึ่งแสดงว่าเราไม่ได้มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงินเลย นี่คือผล ณ ไตรมาส 1

สำหรับผลการรับประกันภัยผลิตภัณฑ์อื่นๆ  ในช่วงไตรมาสแรก ที่ผ่านมา หากแยก สินไหมประกันภัยโควิด ออกไป ผลประกอบการจากการรับประกันภัยภัยประเภทอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ประกันภัยรถยนต์ ประกันอัคคีภัย  ประกันภัยขนส่งทางทะเล ประกันภัยเบ็ดเตล็ดที่เป็น IAR และอื่นๆ ปรากฏว่า กรุงเทพประกันภัยมีกำไรเพิ่มขึ้นถึง 40%  เพราะฉะนั้นในไตรมาสที่ 2 การดำเนินงานขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยอื่นๆ จะสามารถทำกำไรได้เพิ่มสูงกว่าไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา ซึ่งจากการประมาณการผลการดำเนินงานไตรมาส 2 คาดว่จะเพิ่มขึ้น และค่าความเพียงพอของการดำรงเงินกองทุน หรือ CAR Ratio  คาดว่าจะกลับไปอยู่เหนือ 200%  อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไม่มีอะไรที่น่ากังวลสำหรับกรุงเทพประกันภัยอีก

ส่วนในไตรมาส 3-4 ของปีนี้ มีแนวโน้มว่าบริษัทจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น กลับสู่ภาวะปกติได้ และสามารถเติบโตก้าวกระโดดได้ เมื่อเทียบไตรมาส 3-4 ของปีที่แล้ว โดยอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) คาดว่าจะกลับไปยืนเหนือ 200% และในอนาคตคาดว่า CAR จะกลับไปสู่ระดับเดิมเหมือนช่วงก่อนโควิดที่ 240-300% สะท้อนถึงสถานะการเงินของบริษัทที่แข็งแกร่ง โดยปีนี้ตั้งเป้าเบี้ยรับโต 5-6% โดยครึ่งปีแรกยังโตไม่ถึง 2% ซึ่งแรงขับเคลื่อนหลักจะมาจากประกันรถยนต์ เนื่องจากคาดว่าในช่วงการระบาดโควิดสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ภาคธุรกิจอาจกลับไปใช้นโยบายทำงานที่บ้าน (WFH) อีกครั้ง

“ การเกิดของเหตุการณ์ที่เรียกว่า การทุจริตเพื่อหวังเงินประกัน (moral hazard) และการฉล้อฉล เคลมประกัน( Fraud Claim )กล่าวได้ว่าเกิดขึ้นมากจริงๆในช่วงที่ผ่านมา สังเกตง่ายคือ การติดเชื้อ ณ สิ้นเดือนมีนาคม กับก่อนสงกรานต์ อัตราการติดเชื้อพุ่งสูงมาก และข่าวจากกระทรวงสาธารณะสุข แจ้งว่าหลังจากสงกรานต์ การติเชื้อจะพุ่งสูงไปอีก เพราะคนเริ่มผ่อนคลาย ออกท่องเที่ยว สถานบันเทิงเริ่มเปิด แต่ในความเป็นจริงอัตราการติดเชื้อลดฮวบ เพราะกรมธรรม์ประกันภัยโควิดหมดอายุไปแล้ว  ซึ่งพอกรมธรรม์หมดอายุ คนก็ไม่ตรวจทำให้ทางการไม่ได้รับรู้ จึงเห็นสถิติการติดเชื้อลดลงอย่างเห็นได้ชัด”

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

Thailand Insurance News

Thailand Insurance News

พูดคุย และ ดูแลด้วยมิตรภาพ

I will be back soon

Thailand Insurance News
สวัสดีค่ะ 👋
ต้องการสอบถาม ข้อมูลด้านไหนดีคะ
Messenger