หน้าแรก Featured คปภ.-ภาคธุรกิจประกันฯ สรุปเพิ่ม 4 มาตรการ ‘คืน-ลดเบี้ย-ขยายเวลาคุ้มครอง’หวังเยียวยาประชาชนจากผลกระทบช่วงโควิด-19

คปภ.-ภาคธุรกิจประกันฯ สรุปเพิ่ม 4 มาตรการ ‘คืน-ลดเบี้ย-ขยายเวลาคุ้มครอง’หวังเยียวยาประชาชนจากผลกระทบช่วงโควิด-19

0
คปภ.-ภาคธุรกิจประกันฯ สรุปเพิ่ม 4 มาตรการ ‘คืน-ลดเบี้ย-ขยายเวลาคุ้มครอง’หวังเยียวยาประชาชนจากผลกระทบช่วงโควิด-19

         ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และรัฐบาลได้ออกมาตรการห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคฯ โดย คปภ.ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล และ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ด้วยการดำเนินมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมในส่วนของภาคธุรกิจประกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระประชาชนและลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะประชาชนที่เป็นกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

         และจากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ประชาชนมีการใช้รถน้อยลง ส่งผลให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ดี แม้ประชาชนจะมีการใช้รถน้อยลง หรือมีการหยุดใช้รถ ความเสี่ยงภัยก็ยังคงมีอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น จึงได้ออกมาตรการด้านการประกันภัย โดยที่ประชาชนหรือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบยังได้รับความคุ้มครองตามความเสี่ยงภัยที่มีอยู่ ดังนี้ 1. มาตรการผ่อนผันในการเรียกเก็บเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันภัยรถยนต์ โดยบริษัทประกันภัยสามารถผ่อนผันให้ผู้เอาประกันภัยผ่อนชำระเบี้ยประกันภัยได้ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่สัญญาประกันภัยมีผลบังคับ หรือวันที่สัญญาประกันภัยเริ่มต้นมีผลคุ้มครอง ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.- 30 มิ.ย.63

         2. มาตรการผ่อนผันเงื่อนไขและอัตราเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ โดยอนุญาตให้บริษัทประกันภัยคิดอัตราเบี้ยประกันภัยเป็นแบบรายวัน รายเดือน หรือรายไตรมาส และใช้อัตราเบี้ยประกันภัยระยะสั้น รวมทั้งกำหนดทางเลือกให้บริษัทประกันภัยคิดเบี้ยประกันภัยแบบเฉลี่ยรายวันได้ ซึ่งจะเป็นการแบ่งเบาภาระและเพิ่มทางเลือกให้กับผู้เอาประกันภัยที่จะสามารถทำกรมธรรม์ประกันภัยให้สอดคล้องกับการใช้รถ โดยผู้เอาประกันภัยอาจตกลงกับบริษัทประกันภัยจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ระยะสั้น ปรับเปลี่ยนกรมธรรม์ประกันภัยให้เหมาะสมกับความเสี่ยงภัย และเลือกชำระเบี้ยประกันภัยตามความสามารถ รวมถึงเลือกความคุ้มครองตามระยะเวลาที่ต้องการ

         3. ผู้เอาประกันภัย อาจตกลงกับบริษัทประกันภัย จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ระยะยาว โดยมีระยะเวลา
เอาประกันภัยเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี และใช้เบี้ยประกันภัยพื้นฐานเดียวกันตลอดระยะเวลาคุ้มครอง โดยปีที่ 2 และปีที่ 3 ใช้เบี้ยพื้นฐาน 95% และ 85% ของปีที่ 1 ตามลำดับ ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ของผู้เอาประกันภัยที่ต้องการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ระยะยาวได้ และรับรู้ค่าเบี้ยประกันภัยล่วงหน้า ทำให้ผู้เอาประกันภัยสามารถวางแผนในการชำระค่าเบี้ยประกันภัยได้ และ 4. ผู้เอาประกันภัยอาจตกลงกับบริษัทประกันภัยจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ ที่มีระยะเวลาเอาประกันภัยเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี โดยให้ใช้อัตราเบี้ยประกันภัยแบบเฉลี่ย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทำให้อัตราเบี้ยประกันภัยไม่เพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลาเอาประกัน

          ทั้งนี้ ตามข้อ 2-4 มีผลบังคับใช้สำหรับการทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.63 – 31 ธ.ค.63

          5. ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการขนส่งสามารถแจ้งหยุดการใช้รถกรณีรถยนต์ที่เอาประกันภัยไม่ได้มีการใช้เป็นระยะเวลาตั้งแต่ 30 วันขึ้นไป และกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจยังมีผลบังคับ โดยสามารถขอคืนเงินค่าเบี้ยประกันภัยในช่วงระยะเวลาที่หยุดใช้รถยนต์ หรือสามารถนำเบี้ยประกันภัยที่ได้รับคืนมาขยายระยะเวลาเอาประกันภัยได้ 6. สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการขนส่ง อาจได้รับส่วนลดอัตราเบี้ยประกันภัยได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของจำนวนเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจทุกประเภท ที่ทำสัญญากับบริษัทประกันภัยตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.- 30 มิ.ย.63 และ 7. ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการขนส่ง สามารถแบ่งชำระเบี้ยประกันภัยรถยนต์เป็นรายงวดได้ สำหรับผู้ประกอบการฯ ที่มีการทำสัญญาหรือมีการชำระเบี้ยประกันภัยตามสัญญา ตั้งแต่วันที่มีผลบังคับวันที่ 20 มี.ค.- 30 มิ.ย.63

        นอกจากนี้ ตามที่มีข้อแนะนำจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกี่ยวกับมาตรการด้านการประกันภัย และขอให้บริษัทประกันภัยเข้ามาช่วยบรรเทาผลกระทบและดูแลเยียวยาประชาชน รวมถึงมาตรการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่หยุดประกอบกิจการ คปภ.จึงได้มีการหารือกับ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ผ่าน VDO conferrence เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมเห็นชอบในหลักการว่าควรจะออกมาตรการเยียวยาด้านประกันภัยเพิ่มเติม โดยมีข้อสรุปออกมาเป็น 4 มาตรการเพิ่มเติม เพื่อเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่หยุดประกอบกิจการ ประกอบด้วย มาตรการด้านการประกันภัยประเภท Non-Motor 1 มาตรการ และ มาตรการด้านการประกันภัยประเภท Motor (การประกันภัยรถยนต์) 3 มาตรการ

          โดยมีรายละเอียดดังนี้ มาตรการด้านการประกันภัยประเภท Non-Motor บริษัทประกันวินาศภัย สามารถกำหนดให้ผู้เอาประกันภัยเลือกลด หรือระงับความคุ้มครองจากการเสี่ยงภัยของกรมธรรม์ประกันภัยบางส่วน ตามการเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงภัย ตามที่ธุรกิจหยุดประกอบกิจการ โดยบริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยจากส่วนความคุ้มครองที่ลดลง ทั้งนี้รายละเอียดเป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละบริษัท ส่วน มาตรการด้านการประกันภัยประเภท Motor (การประกันภัยรถยนต์) บริษัทประกันวินาศภัยสามารถพิจารณาชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ คือ

          1. บริษัทประกันวินาศภัยสามารถพิจารณาลดเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยที่จะต่ออายุในปีถัดไปได้ไม่เกิน 40% และ/หรือ

2. บริษัทประกันวินาศภัยสามารถพิจารณาขยายระยะเวลาการคุ้มครองเพื่อชดเชยช่วงเวลาที่รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว เนื่องจากเป็นช่วงที่ไม่มีการใช้รถ และ/หรือ

3. ผู้เอาประกันภัยสามารถเลือก/ลดความคุ้มครองจากการใช้รถทั้งหมดหรือบางส่วนตามการเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงภัย โดยบริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยจากส่วนความคุ้มครองที่ลดลง โดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละบริษัท

“ขั้นตอนจากนี้ไป สำนักงาน คปภ. จะเร่งออกคำสั่งนายทะเบียนเพื่อให้บริษัทประกันภัยสามารถปฏิบัติตามมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมข้างต้นโดยเร็ว ทั้งนี้จะกำกับดูแลเพื่อให้การปฏิบัติตามมาตรการเยียวยาต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน ตลอดจนภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างแท้จริง” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

Thailand Insurance News

Thailand Insurance News

พูดคุย และ ดูแลด้วยมิตรภาพ

I will be back soon

Thailand Insurance News
สวัสดีค่ะ 👋
ต้องการสอบถาม ข้อมูลด้านไหนดีคะ
Messenger