ตอกย้ำ Loyalty คิดถึงการใช้เงิน คิดถึง“เคทีซี” กลยุทธ์ลุยตลาดสินเชื่อบุคคลในศึกเงินเฟ้อ

0
131

เงินเฟ้อที่สูงขึ้นถึง 7.18% จากเดือนพฤษภาคม 2564 หรือสูงสุดในรอบ 13 ปี  ขณะที่เศรษฐกิจกำลังเริ่มฟื้นตัวจากมาตรการคลายล็อคดาวน์  การเปิดประเทศ และการกลับมาของหลายธุรกิจที่เคยโดนฟรีทไว้จากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลต่อแนวโน้มธุรกิจสินเชื่อบุคคลอย่างไร  “พิชามน จิตรเป็นธรรม”  ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจสินเชื่อบุคคล บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี วิเคราะห์ทิศทางตลาดสินเชื่อบุคคลและเปิดเผยกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ครึ่งปีหลัง 2565    

พิชามน  เปิดเผยถึงแนวโน้มตลาดสินเชื่อบุคคลครึ่งปีหลังว่า  ต้องพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมทั้งปัจจับบวกและปัจจัยลบ โดยปัจจัยลบที่สำคัญคือเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากเดือนพฤษภาคม ปีที่แล้ว (2564) ถึง 7.18% หรือสูงสุดในรอบ 13 ปี  ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวขึ้นแรงและเร็ว จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมัน แก๊สหุงต้ม ที่ไม่รู้ว่าภาครัฐจะแบกต้นทุนไปได้อีกนานแค่ไหน  ขณะที่เงินเดือนไม่ได้ขึ้นตาม ตรงกันข้ามอาจโดนฟรีทไว้ตั้งแต่โควิดแล้ว  ซึ่งกลุ่มคนระดับฐานถึงกลางได้รับผลกระทบโดยตรง ความต้องการใช้เงินจึงมีมากขึ้นแน่นอน ขณะที่กลุ่มคนระดับกลางถึงสูงอาจจะกระทบน้อยกว่า เพราะยังพอมีเงินเก็บและรายได้ที่เพียงพอกับเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตามการคลายล็อกดาวน์ การเปิดประเทศ เป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ทำให้หลายธุรกิจที่เคยโดนแช่แข็ง เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องการท่องเที่ยว ร้านอาหารต่างๆ ทยอยกลับมาเปิดกิจการ รวมไปถึงช่วงเทศกาล สงกรานต์ โรงเรียนเปิดเทอม  ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อมากขึ้นตามไปด้วย โดยทิศทางการใช้บัตรกดเงินสดในช่วงต้นปีนี้สูงกว่าในช่วงปลายปีที่แล้วประมาณ 7% 

“เริ่มเห็นการเติบโตของยอดใช้จ่าย (spending) ตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ และเห็นได้ชัดเจนในช่วงเทศกาลเปิดเทอมและเปิดโรงเรียน หลังจากโรงเรียนปิดไป 2 ปี และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ มีการกดเงินสดเพิ่มขึ้นประมาณ 7%  รวมไปถึงอัตราการอัตราการยื่นใบสมัครที่สูงขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา”

ชูพราว มาสเตอร์การ์ดบุกลูกค้าใหม่

ดอกเบี้ยต่ำ0.92% ผ่อนนาน 60 เดือน

จากตัวเลขการเติบโตของสินเชื่อบุคคลช่วง 4 เดือน (ธค.64-มีค. 65) เติบโต 2.5% หรือ 13,314 ล้าน  ทำให้ประมาณการได้ว่าทั้งปีจะมีการเติบโตได้ประมาณ 7-8% ซึ่งเมื่อเปรียบเทียนกับปี 2564 ที่ตลาดเติบโตถึง 21% นั้น เป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นจากการแปลงหนี้ ซึ่งไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นสินเชื่อหมุนเวียน(ปี 2020-2021)ตามนโยบายแบงก์ชาติที่ให้ลูกหนี้แปลงหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาวจากผลกระทบโควิด19 จำนวนเท่าไหร่  ดังนั้นในปี 2565 นี้ การเติบโตของสินเชื่อบุคคลจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนมีโควิด19  

ล่าสุด เคทีซีร่วมกับ มาสเตอร์การ์ด เปิดตัว “บัตรกดเงินสดเคทีซี พราว มาสเตอร์การ์ด” เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิก จากที่เป็นบัตรกดเงินสด ได้เพิ่มฟังก์ชันการใช้งานครบถ้วน ทั้งรูด-โอน-กด-ผ่อน และช้อปออนไลน์ได้ทุกร้านค้า ด้วยจุดแข็งของมาสเตอร์การ์ด ที่มีเครือข่ายร้านค้ากว่า 80 ล้าน ร้านค้าทั่วโลก สามารถโอนเงินเรียลไทม์ผ่านแอปฯ “KTC Mobile” เข้าบัญชีธนาคารได้ถึง 12 ธนาคาร  และกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าธรรมเนียม และยังใช้ผ่อนสินค้า 0% นานสูงสุดถึง 24 เดือน  

สำหรับลูกค้าใหม่ที่ได้รับการอนุมัติ  เคทีซีจัดแคมเปญลดดอกเบี้ยเหลือเพียง 0.92% ต่อเดือน ผ่อนได้นานถึง 60 เดือน เพื่อแบ่งเบาภาระดอกเบี้ยให้กับสมาชิก “เคทีซี พราว”  โดยคาดว่าจะมีผู้ถือบัตรเคทีซี พราว มาสเตอร์การ์ดในปีนี้ 45,000 ใบ  จากเป้าหมายบัตรใหม่ 106,000 ใบ ตั้งเป้ายอดใช้จ่ายประมาณ 10% จากบัตรที่อนุมัติใหม่  รวมทั้งจะทำการอัพเกรดบัตรลูกค้าเคทีซีพราวที่ยังมีการใช้งานอีกประมาณ 390,000 ใบ ให้เป็น“บัตรกดเงินสดเคทีซี พราว มาสเตอร์การ์ด”อีกด้วย

ย้ำนโยบายคุมคุณภาพลูกหนี้

คงฐานเงินเดือนขอสินเชื่อที่ 12,000

พิชามน กล่าวว่า เคทีซีคงนโยบายควบคุมคุณภาพลูกหนี้มาตลอดตั้งแต่ช่วงโควิด19 โดยการคัดเลือกลูกค้าต้องมีคุณภาพมากขึ้น  เป็นลูกค้าที่มีความสามารถในการชำระคืน แต่จะไม่ปรับเกณฑ์ฐานเงินเดือนในการยื่นขอสินเชื่อ โดยคงไว้ที่ 12000 บาท เพราะการเพิ่มฐานเงินเดือนเท่ากับปิดกั้นโอกาสในการขอสินเชื่อของลูกค้าที่มีวินัย  แต่เราจะมีเกณฑ์ในการคัดกรองอื่นๆ เช่น การปรับ score ให้เข้มขึ้น  ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้ผล ทำให้ยอด NPL ลดลง โดยล่าสุดในเดือนมีนาคม 65 ยอด NPL อยู่ที่ 2.6% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2564 ที่ 2.9%

“ลูกค้าใหม่ยังคงมีความสำคัญ  2 ปี ที่ผ่านมาเคทีซีรัดเข็มขัดด้วยนโยบายบริหารจัดการคุณภาพลูกหนี้เป็นหลัก พอสถานการณ์คลี่คลาย  จึงเริ่มขยับขยายปล่อยในกลุ่มที่มีกำลังจ่ายแบบค่อยเป็นค่อยไป และคอยมอนิเตอร์ผล  โดยยังคงเน้นเรื่องการแบ่งเบาภาระ ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษต่ำ 0.92% ให้สมาชิกที่สมัครใหม่ตั้งแต่วันนี้ – 31 สค. และผ่อนนานสูงสุดได้ 36 เดือน หลังจากนั้นจะมีแคมเปญการแบ่งเบาภาระออกมาอย่างต่อเนื่อง”

และจากการปรับเกณฑ์ต่างๆให้เข้มขึ้น เป็นการเบรคกลุ่มเสี่ยง ทำให้ยอด reject น้อยลงตั้งแต่ 2 ปีที่ก่อน และวันนี้อัตราอนุมัติ (Approve) กลับมาอยู่ในฐานเดิมที่ 30% จากช่วงโควิดอยู่ที่ 20% โดยจะเริ่มปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มธุรกิจที่เริ่มกลับมาเปิดดำเนินการ เช่น ภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการต่างๆที่ล๊อคดาวน์ไปในช่วงโควิด  และกิจกรรมต่างๆที่ภาครัฐเปิดให้บริการ

ทั้งนี้ เราพิจารณาจากภาระหนี้ของลูกค้า ไม่ให้เต็มเพดานเงินเดือน เพื่อให้มีความสามารถในการชำระหนี้  ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท มีประมาณ 1 ใน 3  หรือ 30-40% ของฐานลูกค้า  และเราพยายามที่จะเพิ่มสัดส่วนกลุ่มฐานเงินเดือนมากกว่า 3 หมื่น ที่มีอยู่ในพอร์ตประมาณ 60% แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในขณะที่เราอยากได้กลุ่มนี้ แต่กลุ่มนี้กลับไม่ต้องการสินเชื่อ

“บัตรกดเงินสด เป็นสินเชื่อหมุนเวียน พร้อมใช้ ซึ่งลูกค้าสามารถจ่ายคืนได้ตามกำลัง โดยเคทีซีกำหนดจ่ายขั้นต่ำ 3% แต่พฤติกรรมลูกค้าส่วนใหญ่คือจ่ายขั้นต่ำ 11-12% แสดงให้เห็นว่าลูกค้ามีกำลังจ่าย โควิดไม่ได้ทำให้ความสามารถในการจ่ายลดลง และเกณฑ์ในการคัดเลือกลูกค้าของเราเบรกกลุ่มเสี่ยงได้”

เคลียร์หนี้ลดภาระให้ลูกค้ากว่า 36 ล้าน

สร้าง Loyaltyคิดถึงการใช้เงิน…คิดถึงเคทีซี

เพราะการหาลูกค้าใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นการดูแลลูกค้าที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงสำคัญมาก เคทีซีพยายามสร้าง Loyalty ให้ลูกค้าจดจำว่า เมื่อไหร่ที่มีความต้องการใช้เงินให้นึกถึงเคทีซี โดยมีแคมเปญหลักคือ “เคลียร์หนี้” แคมเปญที่จัดขึ้นเพื่อลดภาระให้ลูกค้า  โดยจัดมาอย่างต่อเนื่อง 13 ครั้ง มูลค่าการเคลียร์หนี้ 36 ล้านบาท  เคลียร์หนี้ให้ลูกค้า 4,900 ราย   ซึ่งเป็นแคมเปญที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าที่กู้เงินอย่างแท้จริง เพราะก่อนหน้าที่จะเป็นแคมเปญเคลียร์หนี้ เป็นการแจกของรางวัลต่างๆ ทั้ง รถยนต์ คอนโด โทรศัพท์ แต่รางวัลกลับกลายเป็นภาระที่ลูกค้าต้องหาเงินมาจ่ายภาษี ทั้งๆที่ความต้องการที่แท้จริงคือการมีเงินมาชำระหนี้ เคทีซีจึงจัดแคมเปญ เคลียร์หนี้ มาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอต่างๆกระตุ้นให้ลูกค้าที่ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวในการใช้บริการ ผ่านแคมเปญจูงใจ เช่น เสนอวงเงินกู้ตามที่ลูกค้าต้องการ  การลดดอกเบี้ย เป็นต้น  ปัจจุบันมีบัตรที่เคลื่อนไหวมียอดใช้จ่ายสม่ำเสมอ (active) ประมาณ 65% ขณะที่บัตรที่ไม่มียอดใช้จ่าย ไม่มีการเคลื่อนไหว (inactive) ประมาณ 35%

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่