ทีเอ็มบี ธนชาต กระตุ้นคนไทย “ปลดล็อกชีวิตหนี้”

0
136

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 พบว่าคนไทย 21 ล้านคนเป็นหนี้

ข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ระบุในปี 2561 หนี้ของคนไทยส่วนใหญ่มีแนวโน้มมาจากการบริโภค (Personal Consumption) สะท้อนจากหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลมีสัดส่วนสูงถึง 34% ขณะที่หนี้รถ 25% หนี้บ้าน 40% และหนี้อื่นๆ 1 %  เมื่อเทียบกับต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ และอังกฤษ หนี้ที่เกิดจากการบริโภคมีสัดส่วนไม่ถึง 5%

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หนี้ครัวเรือนไทยเติบโตเร็วมาก จนเป็นปัญหาพื้นฐานใหญ่ของประเทศ  จากความคิดและพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เกินตัว ประกอบกับธนาคารออกผลิตภัณฑ์และบริการที่สะดวกในการใช้จ่ายและช่วยลูกค้าให้เข้าถึงเงินกู้ได้ง่ายขึ้น  ขณะที่คนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และการวางแผนด้านการเงิน  ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ปัญหาชัดเจนเร็วขึ้น  คนที่มีหนี้เป็นหนี้มากขึ้น คนที่ไม่เคยเป็นหนี้และไม่เคยวางแผนเพื่อจะเป็นหนี้ ก็เริ่มเป็นหนี้เนื่องจากขาดรายได้

ธนาคารจึงทบทวนบทบาทใหม่  ไม่ได้เป็นเพียงเจ้าหนี้คอยทวงหนี้ แต่ต้องเป็นคลินิกช่วยรักษา ช่วยวินิจฉัยโรค และช่วยจ่ายยาให้กับคนไข้ที่กำลังมีปัญหาหนี้   โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกนโยบายช่วยเหลือผู้เป็นหนี้ และธนาคารทุกแห่งก็มีเครื่องมือทางการเงินและมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง  ซึ่งจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้หนี้คือการปรึกษาธนาคารเพื่อวางแผนทางการเงิน

สำหรับทีเอ็มบีและธนชาต ให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ให้ลูกค้าเข้าใจเครื่องมือทางการเงินอย่างถูกต้อง เพื่อเลือกใช้ประเภทสินเชื่อได้อย่างเหมาะสม  พร้อมนำเสนอทางเลือกต่างๆ เช่น การทำ Debt Consolidation  โดยลูกค้ารวมภาระหนี้จากหลายบัญชีสินเชื่อให้เหลือบัญชีเดียว  พร้อมขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระตามสินเชื่อมีหลักประกัน ทำให้ลดภาระการผ่อนโดยรวมลง ซึ่งปัจจุบัน ทีเอ็มบีและธนชาตมีโซลูชันที่ลูกค้าสามารถนำมาใช้ตามคอนเซปต์ การรวมหนี้ ได้แก่ สินเชื่อทีเอ็มบี บ้านแลกเงิน และสินเชื่อธนชาตไดรฟ์ รถแลกเงิน ที่จะช่วยลดดอกเบี้ย ลดค่างวด และเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้าได้

“ทีเอ็มบีและธนชาตต้องการปลดล็อกบทบาทใหม่ของธนาคาร เพื่อช่วยสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น (Financial Well-being) ให้คนไทยทั้งประเทศ  เราอยากเป็นเหมือนคู่ชีวิตของลูกค้า  ตามความหมายของการเป็น Sustainable Banking คือ การเติบโตไปพร้อมๆ กับลูกค้าของเราในระยะยาวและเพื่อช่วยให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น” นายปิติกล่าว


นางสาวดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัด กล่าวว่า ปี 2563 เป็นปีแห่งความน่ากลัว เริ่มต้นจากความกลัวการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว แต่กำลังเผชิญความกลัวเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2563 ระบุว่า แรงงานมีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างทั้งสิ้น 8.4 ล้านคน

โดยคาดว่าปีนี้อัตราการว่างงานจะอยู่ที่ประมาณ 3-4 % หรือ 2 ล้านคน ทำให้กังวลถึงความมั่นคงในการทำงานและรายได้ที่อาจจะหายไป โดยเฉพาะคนที่เป็น “หนี้” เกิดความคิดลบจนอยู่ในภาวะมองไม่เห็นทางออก  ซึ่งการปลดล็อกแนวคิดยามเป็นหนี้ต้องเริ่มจากการจัดระเบียบความคิดใหม่แล้วหาทางออก โดยเปิดใจเรียนรู้และยอมรับความช่วยเหลือจากคนอื่น เช่น ธนาคาร หรือ ผู้ที่มีความรู้ทางด้านการเงิน เป็นต้น

ขณะที่นายจักรพงษ์ เมษพันธุ์ มันนี่โค้ชคนดัง กล่าวว่า คนไทยมีพฤติกรรมแก้หนี้อย่างไม่ถูกต้อง เช่น พยายามแก้ปัญหาเอง ไม่กล้าขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ติดกับดักการเป็นหนี้แบบไม่มีวันจบ ดังนั้น การปลดล็อกต้องหันกลับมาหาจุดตั้งหลักด้วยการปรับและเปลี่ยนพฤติกรรม เริ่มจากการเดินไปคุยกับคู่สัญญา หรือธนาคาร เพื่อประเมินสถานการณ์และหาทางออกร่วมกัน เช่น  เพิ่มรายรับโดยนำเอาทักษะมาหารายได้  ลดรายจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายหนี้ ต้องหาแนวทางลดค่าใช้จ่ายหนี้ตรงนี้ในแต่ละเดือน และเลือกใช้เวลา นั่นคือใช้เวลาในการโฟกัสการแก้ปัญหา ไม่ต้องรอเวลาในการแก้หนี้ รวมทั้งใช้เวลาในการหันหน้าคุยกับธนาคารเพื่อเจรจา หรือขอคำปรึกษา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่