หน้าแรก Featured เคทีซีปรับใหญ่ ดันกำไรนิวไฮ เป้าหมายแตะหมื่นล้าน ปี2570

เคทีซีปรับใหญ่ ดันกำไรนิวไฮ เป้าหมายแตะหมื่นล้าน ปี2570

0
เคทีซีปรับใหญ่ ดันกำไรนิวไฮ  เป้าหมายแตะหมื่นล้าน ปี2570

เคทีซี ปรับใหญ่ปี 2566 ดันพอร์ตสินเชื่อรวมโต 15% ทะลุแสนล้าน  ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรโต 10% คงระดับ NPL ที่ 1.7%  พร้อมวางกลยุทธ์ธุรกิจ 3 กลุ่ม ธุรกิจหลัก ธุรกิจใหม่ และโมเดลธุรกิจที่กำลังบ่มเพาะ ลุย 3 ธุรกิจหลัก บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อ KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน ตั้งเป้าปี 2566-2567 กำไรนิวไฮ  ปี 2570 แตะ 10,000 ล้านบาท    

นายระเฑียร ศรีมงคล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. บัตรกรุงไทย หรือ เคทีซี เปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจในปี 2566 ว่า เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งโครงสร้างองค์กร กลยุทธ์ เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อขับเคลื่อนเคทีซีไปสู่รากฐานองค์กรที่แข็งแกร่ง  รับการเปลี่ยนแปลงและตอบโจทย์ความคาดหวังของลูกค้า ภายใต้แนวคิด “A Transition to the New Foundation”  โดยตั้งเป้าหมายทำกำไรนิวไฮต่อเนื่องในปี 2566 – 2567 เพื่อไปแตะ 10,000 ล้านบาท ในปี 2570

ด้วยกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ

1.กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจบัตรเครดิต และธุรกิจสินเชื่อไม่มีหลักประกันที่มีพอร์ตสินเชื่อในระดับ 10,000 ล้านบาทขึ้นไป  ซี่งธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจหลักที่เคทีซีให้ความสำคัญมาตลอด โดยปัจจุบันเกือบทุกหมวดใช้จ่ายเติบโตสูงกว่าปี 2019 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดรุนแรงของโควิด-19  โดยแผนกลยุทธ์การตลาดบัตรเครดิต จะเน้นแนวคิด Less is MORE หรือการทำสิ่งที่สำคัญเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยปรับกระบวนการทำงานในทีมการตลาดให้กระชับคล่องตัวมากขึ้น

2.กลุ่มธุรกิจใหม่ที่คาดว่าจะสร้างรายได้แบบก้าวกระโดด (New SCurve) ได้แก่ สินเชื่อรถแลกเงิน เคทีซี พี่เบิ้ม และสินเชื่อกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง ซึ่งหลังการเปิดประเทศสู่ภาวะปกติ ผู้บริโภคมีความต้องการสินเชื่อสูงขึ้นต่อเนื่องเพื่อนำไปใช้ลงทุนและใช้จ่าย ซี่งยังมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอีกมากที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบ จึงเป็นโอกาสดีสำหรับ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” โดยเน้นขยายพอร์ตสินเชื่อผ่านธนาคารกรุงไทยกว่า900 สาขาทั่วประเทศ

 3.กลุ่มโมเดลธุรกิจที่อยู่ในระหว่างการบ่มเพาะ (Incubator) เช่น MAAI – Loyalty Platform, Digital Preloan, U-shop และอื่นๆซึ่งคาดว่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตในอนาคต  โดยโมเดลไหนมีแนวโน้มว่าไปต่อได้ก็จะเดินหน้าต่อไป   แต่โมเดลที่ยังไม่เห็นการเติบโตก็ต้องปรับปรุงหรืออาจหยุดไปก่อน

สำหรับการปรับโครงสร้างองค์กรในปี 2566 จะปรับเปลี่ยนให้เป็นแบบแนวราบ (Flat Organization) โดยเพิ่มหน่วยงานใหม่ๆ  และการบูรณาการด้านไอที (Information Technology) ขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติทั้ง 3 มิติ คือ

-การจัดการโครงสร้างให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งด้านธุรกิจ ด้านไอทีและระบบปฏิบัติการ

-พัฒนาทักษะสำคัญด้านต่างๆให้บุคลากร เพื่อสร้างความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและเป็นประโยชน์กับองค์กร

-บริหารจัดการข้อมูลที่ครอบคลุมทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การวางแผน การจัดเก็บ การเข้าถึงข้อมูลไปจนถึงการทำลายข้อมูล เน้นความปลอดภัย ถูกต้องและโปร่งใส เพื่อให้มีฐานข้อมูลคุณภาพ สนับสนุนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ

“ทั้ง 3 เรื่อง คือหน้าที่ที่ผมต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเกษียณในปี 2566 เพื่อพัฒนาโครงสร้างภายในองค์กร ให้เป็นฐานผลักดันการธุรกิจให้ทำกำไรนิวไฮต่อเนื่องในปี 2566-2567  เพื่อไปแตะ 10,000 ล้านบาทในปี 2570 ”

“ขณะที่ปี 2565 คาดว่ากำไรจะเกิน 7,000 ล้านบาท จากการเติบโตของ 3 ธุรกิจหลัก คือ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อ KTC พี่เบิ้ม รถแลกเงิน   จากมาตรการควบคุมคุณภาพลูกค้า โดยคัดกรองตั้งแต่เริ่มต้น การติดตามการชำระหนี้ ทำให้เคทีซีมีหนี้เสียต่ำกว่าภาพรวมในตลาด   โดยคาดว่าพอร์ตสินเชื่อรวมเติบโต 15% หรือเกิน 1 แสนล้านบาท โดยยังคงต้องรักษาระดับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ให้ต่ำกว่า 1.7%” 

นายระเฑียรกล่าวถึงบลงทุนในปี 2566ว่า  เบื้องต้นกำหนดไว้ที่ 100 ล้านบาท เพื่อรองรับการพัฒนาระบบไอที ซอฟต์แวร์ และแอพพลิเคชัน เพื่อให้คล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจ  ขณะเดียวกันต้องบริหารต้นทุนทางการเงินให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้และเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ โดยจะมีการระดมเงินกู้ยืมระยะยาว 15,000 ล้านบาท เพื่อรองรับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2566 จำนวน 4,640 ล้านบาท  และสนับสนุนการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อ  โดยคาดว่าสิ้นปี 2566 จะมีสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นต่อเงินกู้ยืมระยะยาว (Original Term) 20:80 และต้นทุนการเงินอาจเพิ่มขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจากปี 2565 อยู่ที่ 2.5%-3.0%

ขณะเดียวกันยังคงเดินหน้าแผนกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนอย่างรับผิดชอบ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและยกระดับองค์กรให้แข็งแกร่ง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล  โดย KTC ได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนของ THSI (Thailand Sustainability Investment) เป็นปีที่ 4 และติดอันดับ ESG 100 ตั้งแต่ปี 2559   อีกทั้งได้รับการจัดอันดับ MSCI ระดับ A และยังได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนระดับโลก “FTSE4 Good Index Series”

รุกฐานลูกค้ารายได้ 50,000 บาทขึ้น

ดันยอดใช้จ่ายปี 2566 โต 10%

นางประณยา นิถานานนท์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – การตลาดบัตรเครดิต เคทีซี กล่าวถึงกลยุทธ์การตลาดบัตรเครดิตในปี 2566 ว่า จะปรับกระบวนการทำงานทีมการตลาดให้คล่องตัวบน 5 แกนสำคัญ ดังนี้

1. บริหารพอร์ตลูกค้าให้มีคุณภาพมากที่สุด  สร้างสรรค์โปรแกรมการตลาดให้ลูกค้าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง  โดยนำระบบออโตเมชั่นมาใช้ในกระบวนการบริหารความสัมพันธ์กับสมาชิกบัตร 

2. ขยายฐานลูกค้ากลุ่มรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 50,000-200,000 บาทขึ้นไป ด้วยสิทธิพิเศษด้านไลฟ์สไตล์ที่ตรงใจ  

3. จัดโปรแกรมกระตุ้นการใช้จ่ายที่ตอบโจทย์ฐานสมาชิกบัตรเคทีซี โดยเน้น 3 หมวดใช้จ่ายหลัก คือ ร้านอาหาร ร้านอาหารในโรงแรม (Dining & Hotel Dining) ช้อปปิ้งออนไลน์และหมวดท่องเที่ยว  โดยร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจอื่นๆ ที่มีเป้าหมายทำกิจกรรมการตลาดที่ตอบโจทย์สมาชิก เพื่อสร้างการจดจำและผูกพันกับแบรนด์  

4.ร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นในการจัดแคมเปญการตลาดและกิจกรรมการขยายฐานสมาชิกบัตรในต่างจังหวัด

5. บริหารจัดการการสื่อสารการตลาด โดยเน้นการทำคอนเทนท์ มาร์เก็ตติ้งทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์เคทีซีให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

“จากตัวเลขยอดใช้จ่ายผ่านบัตรในปี 2565 ที่โต 22% พบว่ากลุ่มที่รายได้เกิน 50,000 มียอดการใช้จ่ายดี  หากเราขยายฐานกลุ่มนี้ได้เพิ่ม ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรในปี 2566 ก็จะเป็นไปตามเป้าหมายสมาชิกสมัครบัตรใหม่ 180,000 ใบ คาดว่าจะมียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโต 10% จากปี 2565 หรือประมาณ 264,000 ล้านบาท ได้ไม่ยาก”

สินเชื่อบุคคล “เคทีซี พราว“ตั้งเป้าโต 7%

เตรียมเพิ่มบริการใหม่-โอนเงินพร้อมเพย์

นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจสินเชื่อบุคคล เคทีซี กล่าวถึงแผนกลยุทธ์ธุรกิจสินเชื่อบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” (KTC PROUD)ในปี 2566 ว่าจะให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อตอบรับกับพฤติกรรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป  โดยเปิดช่องทางใบสมัครออนไลน์ (Electronic Application) ให้ลูกค้าขอสินเชื่อออนไลน์ได้ด้วยตนเอง  และช่องทางการเบิกถอนเงินสดออนไลน์ผ่านแอปฯ KTC Mobile รวมไปถึงการเพิ่มบัญชีพร้อมเพย์ในการโอนเงิน นอกเหนือจากที่โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารได้ 15 แห่ง และเพิ่มช่องทางเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ต้องการใช้สินเชื่อด้วยต้นทุนรับสมัครที่ต่ำแต่ได้ผลดี  โดยคาดว่าสิ้นปี 2566 พอร์ตลูกหนี้สินเชื่อบุคคลจะโต7% มีสมาชิกใหม่กว่า 110,000 ราย จากฐานลูกค้าปัจจุบัน 750,000 ราย

“สินเชื่อบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการใช้สินเชื่อได้ครบทุกฟังก์ชัน จนวันนี้บัตรใบเดียวก็สามารถทำได้ทั้งการเบิกใช้วงเงิน รูด โอน กด ผ่อน และช้อปปิ้งออนไลน์ ”

นอกจากนี้ยังเดินหน้าสร้างความผูกพันกับกลุ่มสมาชิก ด้วยการต่อยอดกิจกรรมสัมมนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ และส่งเสริมวินัยในการชำระ ผ่านโครงการเคลียร์หนี้เกลี้ยง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า เพราะเป็นความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า ซึ่งจากการศึกษาลูกค้าผ่านการทำ Empathy จึงจัดต่อเนื่องทุกปี และในปี 2566 เป็นครั้งที่ 14

“สิ่งที่ยังน่ากังวลคือความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ  ยังคงเป็นห่วงในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้  ซึ่งเคทีซีติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดแคมเปญ “เคลียร์หนี้เกลี้ยง”  ต่อเนื่องเพื่อฝึกวินัยด้านการเงิน และให้เป็นสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าที่กดเงินสด ชำระคืนตรง และคงค้างหนี้ 15 วัน ปัจจุบันเคลียร์หนี้ให้ลูกค้าไปแล้วประมาณ 4,000-5,000 พันราย  ยอดหนี้รวมประมาณ 40-50 ล้านบาท”   

สำหรับปี 2564 ที่ภาพรวมสินเชื่อส่วนบุคคลเติบโตถึง 24%  เพราะเป็นการแปลงหนี้ช่วงโควิด มาเป็น PreLoan ตามมาตรการ ธปท. ซึ่งปัจจุบันเริ่มกลับสู่สภาวะก่อนโควิด โดยข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2565 มีการเติบโตที่ 10% และคาดว่าในปี 2566 การเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลจะกลับสู่ความเป็นจริง (Real Demand) ที่ 10 % ซึ่งทิศทางตอนนี้เศรษฐกิจเริ่มเปิด  ความต้องการลงทุนและเงินหมุนเวียนกลับมาอีกครั้ง ผู้บริโภคมั่นใจมากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่จะเติบโต  โดยเคทีซีตั้งเป้าโต 7% บนฐานพอร์ตลูกค้าที่มีคุณภาพ  จากภาพรวม NPL ในของธุรกิจ PreLoan ณ เดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 4.4% จากปี 2564 อยู่ที่ 3.1% ขณะที่เคทีซี เมนเทนได้ที่ 3%

“ 2 ปีที่แล้ว เราแทบไม่โตเลย เพราะให้ความสำคัญกับคุณภาพลูกค้า และเข้มเรื่องการอนุมัติ แต่ปีนี้ด้วยทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น คนมีงานทำมากขึ้น และสินเชื่อเราเป็นสินเชื่อหมุนเวียน  เราจึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ไม่หยุดแค่กดเงินสด แต่มีทั้งรูด โอน กด ผ่อน โดยให้ลูกค้าได้สิทธิ์ประโยชน์จากฟังก์ชั่นต่างๆมากที่สุด  วันนี้ลูกค้าสามารถรูดได้ทุกอย่าง เพียงแต่ต่างจากบัตรเครดิตตรงที่เสียดอกเบี้ยตั้งแต่วันแรก แต่ก็มีสิทธิประโยชน์จากโปรโมชั่นต่างๆเพิ่มเติมให้แทน” นางสาวพิชามน กล่าวสรุป    

“เคทีซี พี่เบิ้ม”  ย้ำจุดแข็ง วงเงินใหญ่ อนุมัติไว

นางสาวเรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการ – ธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม” กล่าวถึงกลยุทธ์ของ “เคทีซี พี่เบิ้ม” ในปี 2566 ว่าจะเน้นขยายพอร์ตสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ด้วยจุดแข็งของผลิตภัณฑ์ ทั้งการให้วงเงินใหญ่สูงสุด 1 ล้านบาท อนุมัติใน 1 ชั่วโมง รับเงินทันที และเปิดโอกาสให้ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่มีข้อจำกัดด้านเอกสารและรายได้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น  ผ่านธนาคารกรุงไทย ช่องทางหลักในการรับสมัครกว่า 900 สาขาทั่วประเทศ  โดยปรับรูปแบบบริการให้เจ้าหน้าที่ธนาคารทำรายการผ่านแท็บเล็ต ในการรับสมัครสินเชื่อและอนุมัติแบบครบวงจรภายใน 1 ชั่วโมง พร้อมรับเงินทันที รวมทั้งเน้นการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ไปยังแพลทฟอร์มหลักต่างๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด 

“กระบวนการอนุมัติเป็นเรื่องที่เคทีซีให้เความสำคัญมาโดยตลอด  อำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าโดยไปอนุมัติให้ถึงที่ ซึ่งปัจจุบันอนุมัติภายในเวลา 1 ชม. แต่ในปี 2566 นี้จะสะดวกและอนุมัติขึ้น ไม่เกิน 45 นาที” 

สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย  เคทีซี พี่เบิ้ม เปิดรับทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะคนทำมาหากินที่สู้ชีวิต และผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อก้อนใหญ่จากสถาบันการเงินอื่น  โดยคาดว่าสิ้นปี 2566 จะมียอดอนุมัติสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เพิ่ม 9,100 ล้านบาท พอร์ตสินเชื่อคงค้างแตะ 10,000 ล้านบาท   โดยจะพยายามรักษาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2565 ที่ 1.7% ด้วยกลยุทธ์การคัดกรองลูกค้าตั้งแต่เป็นสมาชิกและการตามเก็บเงินอย่างมีคุณภาพ

ส่วนการให้สินเชื่อ รถแลกเงินรถมือสอง (จำนำทะเบียนแบบโอนเล่ม)  มีแผนชะลอและยุติการให้สินเชื่อ จากเกณฑ์การควบคุมเพดานดอกเบี้ยของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)  เนื่องจากกระทบต่อส่วนต่างกำไรและมีความเสี่ยง  โดยหันมาเน้นจำนำทะเบียนรถเป็นหลัก

ขณะที่สินเชื่อกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง ในปี 2566 วางเป้าหมายสินเชื่อเพิ่ม 3,000 ล้านบาท จากในปี 2565 อยู่ที่ 1,000-1,200 ล้านบาท โดยเน้นรถใหญ่  และคาดว่าสิ้นปีกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง จะกลับมามีกำไร

Thailand Insurance News

Thailand Insurance News

พูดคุย และ ดูแลด้วยมิตรภาพ

I will be back soon

Thailand Insurance News
สวัสดีค่ะ 👋
ต้องการสอบถาม ข้อมูลด้านไหนดีคะ
Messenger