เส้นทางความสุข กับ GC @ ระยอง(ฮิ) ภูมิปัญญาชาวบ้านผสานนวตกรรม เพื่อชุมชนยั่งยืน

0
453

2 วัน 1 คืน กับ “เส้นทางความสุข กับ GC” ทริป…ระยอง(ฮิ) ตื่นตากับมรดกทางธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยวUnseen ตื่นใจกับมรดกทางวัฒนธรรม วิถีชุมชน ภูมิปัญญาชาวบ้าน และความพยายามอย่างจริงจัง ต่อเนื่องและยาวนาน ของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ Pttgc ที่ทุ่มเทนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโยลีมาปรับปรุงเป็นผลิตภัณฑ์และส่งเสริมอาชีพ  ผ่านการเล่าเรื่องที่ฟังเพลินเจริญใจ โดยกูรูด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ อาจารย์แพน เผ่าทอง ทองเจือ

“เส้นทางความสุข กับ GC” ยังมีหลากหลายความสุขให้ติดตามตลอดปี 2565 ทุกวันศุกร์ ทางช่องYOUTUBE และเฟซบุ๊ก เปิดตำนานกับเผ่าทอง  รับชมเรื่องราวของชุมชนต่างๆใน จ.ระยอง ผ่าน 52 คลิป จาก 52 ชุมชน ที่รวมกลุ่มกันพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพ แต่ยังไม่มีหน้าร้าน  GC จึงเพิ่มช่องทางให้ทุกชุมชนได้มีโอกาสทางการตลาดมากขึ้น และยังเป็นการประชาสัมพันธ์ให้รู้โดยทั่วกันว่า ระยองไม่ได้มีดีแค่เกาะเสม็ด หาดทรายชายทะเล ผลหมากรากไม้ แต่ยังมีอื่นๆอีกมากมายให้คุณได้เปิดโลกทัศน์

เปิดประตูทริป “เส้นทางความสุข กับ GC @ ระยอง By อาจารย์เผ่าทอง”  ณ โครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ บนพื้นที่กว่า 3,000 ไร่ ที่เปี่ยมไปด้วยอัจฉริยภาพด้านความรู้ด้านต่างๆของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ วิทยาศาสตร์ งานวิจัย การเกษตร ประมงและปศุสัตว์ โดยมีพระราชดำริให้พัฒนาอ่างเก็บน้ำดอกกราย ให้พื้นที่กักเก็บน้ำจืด 1,300 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์กลางพัฒนาการชลประทาน  พัฒนาอาชีพศิลปาชีพแก่ราษฎร  โดยได้พระราชทานแนวทางการพัฒนาไว้ 4 ประการ คือ 1) ด้านการเกษตร โดยเฉพาะด้านปศุสัตว์และการประมงเพื่อการบริโภค 2)ให้มีศูนย์ฝึกปฏิบัติการด้านการประกอบอาชีพ มีแปลงสาธิตของราษฎรตัวอย่าง สร้างบ้านพักอาศัย ปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไป 3)ให้จัดเป็นศูนย์กลางการเลี้ยงปศุสัตว์ โดยให้ราษฎรยืมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ดี ไปผสม หรือ เลี้ยงแล้วส่งลูกคืน  4)ให้มีศูนย์พัฒนาการเกษตรเพื่อการศึกษาและเยี่ยมชม

ศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดง  ได้ดำเนินตามแนวพระราชดำริ นำองค์ความรู้มาพัฒนาสู่ฐานการเรียนรู้ให้เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา ประชาชน โดยแบ่งเป็น 7 ฐานการเรียนรู้ ประกอบด้วย พืชสวน ข้าว ประมง ปศุสัตว์  วิชาการเกษตร ฟาร์มแกะ พร้อมขยายผลไปยังหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ รอบโครงการศูนย์ฯ ให้ได้รับการพัฒนา ซึ่งนอกจากจะมีอาหารปลอดภัยไว้บริโภคแล้ว ยังประยุกต์ใช้องค์ความรู้ไปสู่การพัฒนาผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ ทำให้ระบบเศรษฐกิจชุมชนดีขึ้นอีกด้วย

ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง  ได้ต่อยอดโครงการฯจนกลายเป็นศูนย์กลางอาชีพการเกษตร และได้พัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร  พร้อมทั้งสร้างหอเฉลิมพระเกียรติ สูง 70 เมตร เท่ากับการทรงครองราชย์ 70 ปี ซึ่งภายในรวบรวมพระราชกรณียกิจต่างๆ พระราชประวัติและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 4,685 โครงการของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในรูปแบบมัลติมิเดีย พร้อมทั้งรวบรวมบทเพลงพระราชนิพนธ์ นำมาแสดงในห้องนิทรรศการด้วยเช่นกัน   

ณ มุมมอง 360 องศา ชั้น 11 หอเฉลิมพระเกียรติ  ความกว้างใหญ่ไพศาลของอ่างเก็บน้ำดอกกราย ฉายพระอัจฉริยภาพความรู้และศาสตร์ต่างๆของในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้แจ่มชัดมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันนอกจากอ่างเก็บน้ำดอกกรายจะเป็นชลประทานเพื่อการเกษตรที่สำคัญของจังหวัดระยองแล้ว ยังเป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาป้อนเขตโรงงานอุตสาหกรรมอีกด้วย

มองตามแนวถนนสันเขื่อนอ่างเก็บน้ำเรื่อยไป  ด้านขวามือจะเห็นแนวบันไดซึ่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า  กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเสด็จมา ณ อ่างเก็บน้ำดอกกราย เมื่อ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 และมีพระราชดำริให้ใช้พื้นที่บริเวณนี้ เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอาชีพให้แก่ราษฎรตั้งแต่นั้นมา


วิสาหกิจชุมชน LUFFALA

โมเดลพัฒนาเพื่อชุมชนยั่งยืน

LUFFALA หนึ่งในโครงการสำคัญของ GC ที่ช่วยพัฒนาอาชีพและส่งเสริมรายได้แก่แม่บ้านในชุมชนหนองแฟบ โดยนำสมุนไพรท้องถิ่น มาผสมผสานกับกลีเซอรีนระดับฟาร์มาซูติคอลเกรด วัตถุดิบคุณภาพสูงเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ Skincare แบรนด์ LUFFALA และต่อยอดสู่ LUFFALA HYGIENE สบู่เหลวล้างมืออนามัย สูตรลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย และฆ่าเชื้อโควิด 19  และ LUFFALA Room Diffuser: Recreation Series น้ำมันหอมระเหยปรับอากาศ

จากก้าวแรกที่เจ้าอาวาสวัดหนองแฟบสนับสนุนให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันสร้างอาชีพ  สู่ก้าวที่สองเมื่อ GC เข้ามาร่วมพัฒนาองค์ความรู้ให้ชุมชน โดยร่วมกับสำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พัฒนาผลิตภัณฑ์บำรุงและดูแลผิวจากสารสกัดสมุนไพรท้องถิ่น เช่น ผักบุ้งทะเล และมะหาด  เกิดผลิตภัณฑ์แรก สบู่ใยบวบ ที่มาของแบรนด์ LUFFALA  มาจากภาษาฝรั่งเศส LUFFA แปลว่า ใยบวบ และ LA หมายถึง ผู้หญิง  โดยจดทะเบียนจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่ม LUFFALA ในปี 2554  และวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลผิวตั้งแต่นั้นมา

จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย และคงมาตรฐานคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง จนถึงปี 2560 ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นก็ได้บินสู่ท้องฟ้า เมื่อ  LUFFALA ได้รับเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ให้ผู้โดยสารชั้นธุรกิจ สายการบินไทย (Thai Airways) ต่อมาในปี 2562 ได้ร่วมกับหลักสูตรวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ออกแบบบรรจุภัณฑ์ ภายใต้แนวคิด “From Folk Wisdom to International Arena” ได้รับรางวัล OTOP ระดับ 4 ดาว ที่การันตีว่าสินค้ามีคุณภาพพร้อมส่งออกต่างประเทศ

วิสาหกิจชุมชน LUFFALA  คือโมเดลความร่วมมือระหว่างชุมชน วัด และภาคธุรกิจ (GC)  เพื่อยกระดับความสามารถได้อย่างน่าทึ่ง   สามารถนำสมุนไพรท้องถิ่นซึ่งเป็นวิถีดั้งเดิมแล้ว  มาผสมผสานเพิ่มเติมด้วยแนวคิดนวัตกรรมนำมาเพิ่มรายได้ เพื่อชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างเข้มแข็งและพัฒนาในก้าวต่อๆไปได้อย่างยั่งยืน

วัดบ้านแลง มรดกตกทอดเชิงช่างศิลป์

วัดแลง หรือวัดบ้านแลง เดิมเป็นสำนักสงฆ์ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย คำว่า “แลง” มาจากศิลาแลง ซึ่งบริเวณนี้มีหินแลงอยู่เป็นจำนวนมากนั่นเอง

ชมความงามของอุโบสถหลังเก่า  ทางเข้า-ออกมีเฉพาะประตูหน้า แบบที่เรียกว่า “มหาอุตม์”  ตามความเชื่อที่ว่าเหมาะสำหรับพิธีสร้างเครื่องลางของขลัง  บริเวณหน้าบันทั้งด้านหน้า-ด้านหลัง และเหนือช่องหน้าต่าง ประดับด้วยเครื่องถ้วยลายคราม และเบญจรงค์  มีการจั่นหับหรือลักษณะหลังคายื่นออกมาที่ด้านหน้าทางเข้า เอกลักษณ์ของวัดสมัยอยุธยาตอนปลาย ภายในมีพระประธานปางมารวิชัย งดงามตามเชิงช่างโบราณ   

ด้านนอกมีเจดีย์ทรงปรางค์ศิลปขอมหรือลพบุรีอายุกว่า 277 ปี  มีสีมา หรือ ขอบเขตดินแดนศักดิ์สิทธิ์และสำคัญที่สุดของพระสงฆ์ใช้เป็นที่ทำสังฆกรรม ถึง 2 แบบ คือ แบบพัทธสีมาหรือเขตแดนบนบกในที่นึ้คือใบเสมา และนทีสีมา หรือการขุดสระล้อมรอบอุโบสถ

ตรงข้ามอุโบสถโดดเด่นด้วยหอไตรกลางน้ำที่สร้างจากไม้ทั้งหลัง ตามรูปแบบวัดอยุธยาดั้งเดิม  ภูมิปัญญาแต่ครั้งโบราณในการเก็บรักษาพระไตรปิฎก คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และปรัชญาพื้นบ้าน รวมถึงตำราต่าง ๆ มากมาย ที่เขียนหรือจารลงบนใบลาน ไม่ให้แห้งกรอบและป้องกันมดปลวกไม่ให้กัดกินทำลาย

กรมศิลปากรได้ทำบันทึกไว้ว่า วัดบ้านแลง มีถาวรวัตถุสำคัญ 3 สิ่งที่ควรอนุรักษ์ คือ พระอุโบสถ พระปรางค์ และหอไตรกลางน้ำ ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษางานสถาปัตยกรรมเชิงช่างศิลป์ เป็นมรดกตกทอดสำคัญของคนรุ่นปู่ย่าตาทวด

ห้ามพลาด…สวนพฤกษศาสตร์ระยอง

ห้องเรียนธรรมชาติ รวมแหล่ง Unseen

แหล่งเรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำธรรมขนาดใหญ่ บนพื้นที่กว่า 2,500 ไร่  ด้วยระบบนิเวศน์ที่หลากหลาย ศูนย์รวมป่าเสม็ดและพรรณไม้นานาชนิด  ตั้งแต่กกหญ้า ไปยันป่าดิบแล้ง  เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ และพืชพรรณต่างๆโดยเฉพาะพืชท้องถิ่นใกล้สูญพันธุ์กว่า 400 ชนิด  พร้อมกิจกรรมให้เลือกมากมาย ทั้งล่องเรื่อง พายเรือ เดินศึกษาธรรมชาติ และปั่นจักรยาน

ไฮไลต์ที่พลาดไม่ได้เลย คือ การล่องเรือในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงสำนักใหญ่  หนองน้ำธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ด้วยนานาพรรณพืช เช่น เสม็ดขาว แต้ว ยางนา หวาย โคลงเคลง  และบัวประเภทต่างๆ ทั้งบัวหลวง บัวสาย บัวเผื่อน บัวบาดอกขาว  รวมทั้งสาหร่ายที่กระพือสายหนาแน่นเต็มท้องน้ำทั้ง “สาหร่ายข้าวเหนียว” ดอกเล็กสีเหลือง และสาหร่ายดอกเล็กสีขาว ที่ดอกน้อยๆแย่งกันโผล่พ้นผิวน้ำให้ได้ยลในระหว่างล่องเรือ

อีกพืชพันธุ์ที่เด่นพบเห็นได้ทั่วบึงคือ “กระจูด” ไม้ล้มลุกตระกูลเดียวกับต้นกก ลำต้นกลม ภายในกลวง สูงประมาณ 1-3 เมตร ซึ่งปกติจะพบมากในภาคใต้  ส่วนที่ภาคตะวันออกพบกระจูดได้ที่นี่ที่เดียว

อีกหนึ่งไฮไลต์  ที่ต้องไปสัมผัส คือ “แพหนังหมา” หรือแพหญ้าที่ทับถมกันเป็นชั้น หนาประมาณ 1 เมตร ลอยเป็นผืนแผ่นขนาดใหญ่ สามารถเดินเหยียบแบบกระจายน้ำหนักกันไป  โดยแพหญ้าจะกระเพื่อมหยุ่นไปตามน้ำหนักให้ผู้มาเยือนได้ตื่นเต้น  โดยไม่ต้องกลัวว่าแพจะแตกกระจายเพราะรากที่ยาวลึกลงไปใต้น้ำประมาณ 1 เมตรนั้นแข็งแรงมากทีเดียว

มาต่อกันที่สุดยอด Unseen ระยอง หนึ่งในรุกขมรดกของแผ่นดิน “ป่าเสม็ดพันปี”  เสม็ดขาวผืนสุดท้ายของภาคตะวันออกที่มีความอุดมสมบูรณ์  ต้นเสม็ดขึ้นได้ทั้งบนพื้นดินและป่าพรุน้ำท่วมขัง แม้ในหน้าแล้งจะมีไฟไหม้ป่า แต่เสม็ดนั้นอึดและทนได้ทั้งน้ำทั้งไฟ  ด้วยเปลือกที่หนานุ่มซ้อนกันเป็นชั้นๆเพื่อปกป้องแก่นของต้นที่เนื้อแข็งมาก  ในอดีตชาวบ้านนำเปลือกที่ลอกได้เป็นชั้นๆไปทำเป็นฝาบ้านหรือมุงหลังคาได้ หรือทำขี้ไต้ ส่วนแก่นต้นนั้นนำไปเผาถ่าน

หมู่เสม็ดมากมายหลายร้อยต้นในบึงสำนักใหญ่  ส่วนมากเป็นต้นเก่าแก่ที่ขึ้นมาช้านาน ลำต้นจึงใหญ่โตสูงตระหง่าน แผ่กิ่งก้านสาขา รูปทรงโดดเด่นด้วยลำต้น กิ่งก้านโย้เย้  บิดเกลียว หงิกงอ  ยิ่งสัมผัสกับแสงแดดอ่อนๆ สะท้อนภาพผิวน้ำ ยิ่งทำให้ “รุกขมรดกของแผ่นดิน” ผืนนี้งดงามจนเกินบรรยาย  

บึงธรรมชาติแห่งนี้  ชาวบ้านสามารถจับสัตว์น้ำ เก็บต้นกระจูด หรือพืชอื่น ๆ เพื่อใช้ในการเลี้ยงชีพ นอกเหนือจากการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้ชุมชนไม่น้อย  ชาวบ้านจึงรักและหวงแหนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศวิทยาในพื้นที่แห่งนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มจักสานกระจูดที่ต้องใช้วัตถุดิบนำไปจักสานผลิตภัณฑ์ต่างๆอย่างกลุ่ม “บ้านมาบเหลาชะโอน”

แต่เดิมชาวบ้าน “บ้านมาบเหลาชะโอน” ใช้ต้นกระจูดในการผูกมัดสิ่งของ  สานเป็นเสื่อและกระสอบใส่น้ำตาล เป็นของบรรณาการมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  จากนั้นก็สานไว้ใช้ในครอบครัวเรื่อยมา  จนเริ่มมีพ่อค้ามารับไปขาย  ชาวบ้านเริ่มมีรายได้รายได้หลังจากการทำสวน  เมื่อเกิดโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์  จึงได้จัดตั้งกลุ่มจักสานกระจูดในปี  2544 นำวัตถุดิบที่มีมากมายมาแปรรูป เพิ่มมูลค่าให้กับกลุ่มสมาชิก ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

ปัจจุบัน กระจูด กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำให้ชาวบ้านมีรายได้หลักพันถึงหลักหมื่นต่อเดือน สร้างรายได้ให้ชุมชนไม่ต่ำกว่าปีละ 6 ล้านบาท  ภายใต้แบรนด์ “จักสานบ้านกวี” ที่มีผลิตภัณฑ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น เสื่อ ตะกร้า หมวก รองเท้า กระเป๋า  หรือของใช้อื่นๆ ที่มีดีไซน์เรียบง่าย แต่ทันสมัย

“ร้านใบชะมวง” รังสรรค์เมนูเด็ด จากวัตถุดิบท้องถิ่น

ร้านใบชะมวง คืออีกหนี่งความตั้งใจของ GC ในการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพพี่น้องชาวระยอง โดยร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคระยอง พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาชีพอาหารถิ่นระยอง โดยพัฒนาศักยภาพอาจารย์ภาควิชาอาหารและโภชนาการ ผ่านการอบรมทักษะต่างๆ เป็นศูนย์ฝึกประสบการณ์วิชาชีพอาหารถิ่นระยอง และการทำธุรกิจร้านอาหารในรูปแบบการศึกษา ให้กับนักเรียนนักศึกษาในระดับ ปวช. และปวส ได้พัฒนาทักษะทั้งการทำธุรกกิจและรสชาติ เมื่อเรียนจบแล้วสามารถประกอบอาชีพส่วนตัวได้

สำหรับเมนูอาหาร คัดสรรภายใต้โครงการเชฟชุมชนชวนกินถิ่นระยอง (ฮิ) โดยเชฟชุมพล แจ้งไพร เฟชมิชลินสตาร์ของประเทศเทศไทย นำวัตถุดิบของดีในจังหวัดระยองมาสร้างสรรค์เมนูต่าง ๆ  ซึ่งทริปนี้เราได้ชิม หมูชะมวง  เส้นแกลงผัดทะเล  ผัดขี้เมาไก่บ้านใส่หน่อกระทือ  แกงชักสัมปูและเปลือกแตงโม หลนกะปิกุ้งทะเล ซึ่งแต่ละเมนูสะท้อนถึงอัตลักษณ์วิถีชีวิตชาวระยองที่อนุรักษ์องค์ความรู้อาหารถิ่นระยองได้อย่างโดดเด่น โดยเฉพาะ  Signature หมูชะมวง ที่น้ำแกงกลมกล่อมเข้มข้น หวานนำตัดเปรี้ยวด้วยใบชะมวง  เด็ดสุดด้วยหมูสามชั้นชิ้นโตที่เคี่ยวจนเปื่อยนุ่มละลายในปาก ปิดท้ายด้วยของหวานจานโปรด ข้าวเหนียวมะม่วง ราดน้ำกะทิสีอัญชัญ หวานมันลงตัวที่สุด  

นอกจากจะเป็นศูนย์การเรียนรู้อาหารท้องถิ่นที่ให้นักเรียน นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติจริงแล้ว   ยังเปิดโอกาสให้ผู้มาใช้บริการได้การติชมเพื่อปรับปรุงพัฒนาต่อไป ส่วนนักศึกษาก็จะได้ในเรื่องของทักษะ พัฒนาเรื่องรสชาติความต้องการของตลาด เมื่อเรียนจบสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ทันที

ปิดทริปแห่งความสุขกับ GC @ ระยอง By อาจารย์ เผ่าทอง ทองเจือ ด้วยความอิ่มเอม…อิ่มตา อิ่มใจ อิ่มท้อง ระยองวันนี้ไม่ได้มีดีแค่เกาะเสม็ด หาดทรายชายทะเล ผลหมากรากไม้ แต่ยังมีอื่นๆอีกมากมายให้คุณได้เปิดโลกทัศน์…จริงๆนะ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่