การประกันภัยเบ็ดเตล็ด คืออะไร? (ภาค 2)

0
1173

Insurance Knowledge  โดย ประสิทธิ์  คำเกิด

การประกันภัยเบ็ดเตล็ด คืออะไร? (ภาค 2)

         สวัสดีครับพบกับ Insurance Knowledge กันอีกครั้งนะครับกับการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการประกันภัยกันให้แก่กัน เรายังคงอยู่ในโหมดของการประกันวินาศภัยทั้ง สี่ประเภทกันอยู่นะครับ ซี่งที่ผ่านมาเราได้รับรู้ในเรื่องของการการประกันภัยทางทะเล และการขนส่ง การประกันอัคคีภัย และ การประกันภัยเบ็ดเตล็ดกันไปแล้ว โดยเฉพาะการประกันภัยเบ็ดเตล็ดนี้มีการแบ่งแยกย่อยไปอีกอย่างมากมายตามชื่อซึ่งจากครั้งที่แล้วได้นำเสนอให้กับทุกท่านได้รับทราบไปบางส่วนแล้ว ในครั้งนี้เราจะมาเรียนรู้เรื่องการประกันภัยเบ็ดเตล็ดกันต่อนะครับ…

        ความเดิม…ที่เราได้พูดถึงว่าการประกันภัยเบ็ดเตล็ดนั้น เป็นการการประกันภัยมีความหลากหลายและมีหลายรูปแบบซึ่งโดยแบ่งออกเป็น 4 หมวดหมู่ ด้วยกันคือ 1.แบบกรมธรรม์การคุ้มครองเกี่ยวกับตัวบุคคล 2.แบบกรมธรรม์การคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก 3.แบบกรมธรรม์การคุ้มครองเกี่ยวกับทรัพย์ 4.แบบกรมธรรม์การคุ้มครองเกี่ยวกับภัยอื่นๆ จากครั้งที่แล้วเราได้ทราบถึงหมวดหมู่ที่ 1 กันไปแล้ว ครั้งนี้เรามาติดตามในหมวดหมู่ต่อไปกันครับ

       2. แบบกรมธรรม์การคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก(Public Liability Insurance) หมายถึงการสร้างหลักประกันเพื่อให้มีการ คุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายต่อสาธารณชนอันเกิดจากความบกพร่องของสถานประกอบการหรือ ประมาทเลินเล่อของผู้เอาประกันภัย หรือลูกจ้าง ซึ่งอาจทำให้บุคคลภายนอกได้รับความเสียหายอันเนื่องมาการการเข้ามาใช้บริการในหน่วยงานของเรา คนของเรา หรือตัวเรา โดยมีแบบของการประเภทนี้ที่ใช้อยู่ประมาณ 5 แบบด้วยกัน คือ

                   2.1. การประกันภัยความรับผิดของผู้ประกอบอาชีพแพทย์ (Doctor’s Professional Indemnity Insurance) ด้วยอาชีพ ‘หมอ’ นั้นมีความเสี่ยงในการรักษาคนไข้ คนป่วย การให้การรักษาที่อาจเกิดความผิดพลาดจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็อาจทำให้หมอถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ ตัวอย่างเช่น ที่มีข่าวทางสื่อออกมาว่าหมอลืมกรรไกรเอาไว้ในท้องของผู้ป่วย หมอวินิจฉัยจ่ายยาให้ผู้ป่วยผิดพลาด กรณีเช่นนี้ หากความผิดพลาดของหมอทำให้ผู้ป่วยได้รับความเสียหาย หากไม่มีการเอาประกันภัยเอาไว้ ตัวหมอเองก็ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเอง แต่หากมีการเอาประกันภัยความรับผิดของผู้ประกอบอาชีพแพทย์เอาไว้ ความเสียหายที่เกิดต่อบุคคลภายนอกนั้นบริษัทผู้รับประกันภัยก็จะเข้ามารับผิดชอบแทนส่วนขอบเขตจะคุ้มครองแค่ไหนเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับที่มีการกำหนดไว้ในสัญญาหรือกรมธรรม์นั้น

                   2.2. การประกันภัยอิสรภาพ(Bail Bond Insurance) เป็นการประกันภัยเบ็ดเตล็ดอีกแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมพอสมควร การประกันประเภทนี้หากพูดง่ายๆ ก็คือ การใช้หลักทรัพย์ประกันภัยในคดีที่บุคคลนั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีซึ่งตามกระบวนการยุติธรรมนั้น เมื่อมีการถูกแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหาแล้ว ผู้ต้องหามีสิทธิในการประกันตัวเพื่อต่อสู้ในทางคดีโดยการประกันตัวนั้นผู้ต้องหาจะต้องนำ “ทรัพย์” หรือ “หลักทรัพย์” มาวางเพื่อค้ำประกันตนเองไว้ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความหนักเบาแห่งคดีว่าทาง พนักงานสอบสวน หรือ อัยการ หรือ ศาล ท่านจะประเมินว่าหลักทรัพย์ที่ต้องใช้มาประกันตัวนั้นต้องใช้วงเงินเท่าไร ซึ่งกรณีนี้แหละครับ ที่ผู้ต้องหาจะต้องไปหาเงิน หรือ หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าตามจำนวนวงเงินประกันที่กำหนด ซึ่งโดยทั่วไปหากไม่มีเงินก็มักจะเอาที่ดินไปประเมินมูลค่าแล้วเอาไว้วางไว้เป็นหลักประกัน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหรือต้องหาเงินให้ได้ตามจำนวน ผู้ต้องหาก็สามารถติดต่อบริษัทประกันวินาศภัยเพื่อขอซื้อ กรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพ ได้ โดยผู้ต้องหาทำการจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันภัยให้กับบริษัท และ บริษัทเมื่อพิจารณารับประกันภัยแล้วก็จะออกกรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพให้เพื่อเป็นหนังสือค้ำประกันต่อ พนักงานสอบสวน อัยการ หรือ ศาล แล้วแต่กรณี ซึ่งถือว่ากรมธรรม์นั้นเทียบเท่าหนังสือค้ำประกันของธนาคาร หรือเงินสด

                  การประกันภัยอิสรภาพ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ต้องหาหลักทรัพย์หรือเงินสดมาประกันตัวเพื่อต่อสู่ทางคดีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมได้ ซึ่งทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีความสะดวก รวดเร็ว ไม่ยุ่งยากและลดขั้นตอนในการใช้หลักทรัพย์ประกันตัวแบบเดิมๆ ได้นั่นเอง อย่างไรก็ตามบริษัทประกันภัยเขาก็ไม่ได้รับประกันภัยไปในทุกกรณีนะครับ เขาก็จะพิจารณาถึงมูลฐานความผิดเป็นองค์ประกอบด้วยในบางมูลฐานความผิดเขาก็อาจไม่รับประกันภัยได้ และหรือ ผู้ต้องหาบางรายที่มีความเสี่ยงที่อาจหลบหนีเมื่อมีการประกันตัวแล้วไม่มาต่อสู้คดี แบบนี้บริษัทประกันภัยเข้าต้องจ่ายเงินประกันตามวงเงินที่กำหนดไว้ เขาก็อาจจะไม่รับประกันภัยผู้ต้องหารายนั้นก็ได้ นะครับ

                   2.3. การประกันภัยความรับผิดตามกฎหมาย (Liability Insurance) การประกันภัย นี้เป็นการประกันภัยเกี่ยวกับความรับผิดที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายอันเกิดจากการกระทำที่ประมาทเลินเล่อของผู้เอาประกันภัยบุคคลในครอบครัวของผู้เอาประกันภัย หรือ ลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย ที่อาจไปกระทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายทั้งต่อชีวิต ต่อร่างกาย หรือทรัพย์สิน เช่น บิดา มารดา ต้องรับผิดจากการกระทำของบุตรที่เป็นผู้เยาว์ที่อาจไปกระทำความผิดตามกฎหมาย ไปทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ซึ่งหากบิดามารดามีการเอาประความรับผิดตามกฎหมายนี้ไว้ บริษัทที่รับประกันภัยก็จะเข้ามารับผิดชอบต่อความเสียหายของผู้บาดเจ็บนั้นแทน หรือ เจ้าของอาคารห้างสรรพสินค้า ต้องรับผิดหากเกิดเพลิงไหม้จนทำให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการเสียชีวิต หากเจ้าของอาคารมีการเอาประความรับผิดตามกฎหมายนี้ไว้ บริษัทที่รับประกันภัยก็จะเข้ามารับผิดชอบต่อความเสียหายของผู้เสียชีวิตนั้นแทน หรือ เจ้าของสัตว์สุนัข ควบคุมสัตว์เลี้ยงของตนเองไม่ดีไปกัดผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ หากเจ้าของสุนัขมีการเอาประกันความรับผิดตามกฎหมายนี้ไว้ บริษัทที่รับประกันภัยก็จะเข้ามารับผิดชอบต่อความเสียหายของผู้บาดเจ็บนั้นแทนเป็นต้น การประกันภัยแบบนี้ น้อยคนนะครับที่จะมีการเอาประกันภัยเพราะไม่ค่อยรู้ว่ามีแบบนี้ด้วยหรือ?

                    2.4. การประกันภัยความรับผิดต่อสาธารณะ (Public Liability Insurance) จัดเป็นการประกันเบ็ดเตล็ดอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับบุคคลภายนอก ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือความบาดเจ็บทางร่างกาย ตลอดจนกระทั่งการเสียชีวิตของบุคคลภายนอกซึ่งผู้เอาประกันภัยต้อง รับผิดชดใช้ตามกฎหมาย แต่ไม่ให้ความคุ้มครองต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยตรง ต่อทรัพย์สิน หรือ ร่างกายของผู้เอาประกันภัย และ เป็นการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อสาธารณชน ของผู้ประกอบการ หรือนิติบุคคล

                    โดยการประกันภัยความรับผิดต่อสาธารณะมีหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ดังนี้ 1. บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย ให้แก่บุคคลภายนอกผู้ได้รับความเสียหายได้โดยตรง แม้ว่าบริษัทประกันภัยจะไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับผู้เสียหาย 2. สาเหตุที่เกิดความรับผิดซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลภายนอกนั้น จะต้องเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันและไม่ได้คาดคิดมาก่อนเป็นอุบัติเหตุที่เป็นผลมาจากความประมาทเลินเล่อของผู้เอาประกันภัย 3. บริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย หรือบุคคลภายนอกเฉพาะจำนวนเงินที่ ผู้เอาประกันภัย จะต้องรับผิดตามกฎหมายเท่านั้น ถ้าเป็นความรับผิดอย่างอื่นที่ไม่มีกฎหมายรองรับ บริษัท ประกันภัยก็ไม่มีความผูกพันจะต้องจ่าย และ 4. บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ภายในวงเงินที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ หรือเรียกว่า “จำนวนเงินจำกัดความรับผิด” (Limit of Liability)

                    2.5.การประกันความรับผิดจากผลิตภัณฑ์ (Product Liability Insurance) การประกันภัยนี้เชื่อว่า ประชาชนทั่วไป คงไม่ทราบว่ามีการประกันภัยแบบนี้ด้วย แต่สำหรับเจ้าของสินค้าหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์แล้วเขาจะรู้จักกันดี ซึ่งเป็นการประกันภัยที่เจ้าของผลิตภัณฑ์หรือผู้ผลิต ผู้บรรจุหีบห่อ และผู้จำหน่ายสินค้าที่มีการเอาประกันภัยเพื่อความคุ้มครองต่อการบาดเจ็บ ความพิการ เสียชีวิต หรือทรัพย์สินเสียหายอันเนื่องจากผลิตภัณฑ์นั้นเช่น ลูกค้าซื้อแชมพูสระผมยี่ห้อหนึ่งไปใช้แล้ว มีอาการผมร่วงอย่างรุนแรง หรือผิวหนังศีรษะเป็นผื่นเป็นแผล ถือว่าลูกค้าได้รับความเสียหายจากการใช้แชมพู ดังนั้นเจ้าของผลิตภัณฑ์ ก็จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้น หากมีการเอาประกันภัยประเภทนี้ไว้บริษัทประกันภัยก็จะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายนั้นส่วนจะมากน้อยจำนวนเท่าไหร่อย่างไรก็ต้องไปดูเอาจากข้อกำหนดไว้ในสัญญา

        3.แบบกรมธรรม์การคุ้มครองเกี่ยวกับทรัพย์ (Property Insurance) เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองต่อการสูญเสีย หรือความเสียหายของทรัพย์สิน ของผู้เอาประกันภัยเกิดจากลูกจ้างหรือบุคคลภายนอกและภัยอื่นที่ทำให้มีความเสียหายต่อทรัพย์ของผู้เอาประกันภัย ซึ่งในกลุ่มนี้ก็มีหลายประเภท ได้แก่

                   3.1. การประกันภัยการโจรกรรม(Burglary Insurance) เป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้การคุ้มครองทรัพย์สินที่สูญเสีย หรือ เสียหายจากการถูกงัดแงะและบุกรุกเข้าไปโจรกรรมเอาทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัย เช่น เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องตกแต่ง สินค้า เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ จากการโจรกรรม เช่น การลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โดยจะมีแบบให้ลูกค้าเลือกแบบความคุ้มครองเป็น 3 ด้วยกันคือ

แบบ จร.1: คุ้มครองการลักทรัพย์ที่ปรากฏร่องรอยการงัดแงะ

แบบ จร.2: คุ้มครองการชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และการลักทรัพย์ที่ปรากฏร่องรอยการงัดแงะ

แบบ จร.3: คุ้มครองการชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และการลักทรัพย์ที่ปรากฏร่องรอยการงัดแงะหรือไม่ปรากฏร่องรอยการงัดแงะก็ได้

                  โดยสรุปคือเมื่อทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัยเกิดการสูญหายหรือเสียหายจาก การลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ นั้นจะต้องเป็นการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ที่ปรากฏร่องรอยการงัดแงะซึ่งเป็นข้อกำหนดที่สำคัญจึงจะได้รับการคุ้มครองเว้นแต่ผู้เอาประกันภัยได้ทำแบบ จร.3 ไว้ ทรัพย์สินที่สูญหายหรือเสียหายนั้นบริษัทผู้รับประกันภัยไว้ก็จะชดเป็นตัวเงินให้ตามที่มีการกำหนดเอาไว้

                  3.2.การประกันภัยเงินทดแทนแรงงาน (Workmen’s Compensation Insurance) เป็นการประกันภัยที่นายจ้างทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองลูกจ้างที่อาจได้รับบาดเจ็บ เจ็บไข้ได้ป่วย หรือเสียชีวิต จากอุบัติเหตุในระหว่างการทำทำงานโดยจะได้รับเงินทดแทนตามที่มีการกำหนดไว้ในกฎหมายแรงงาน เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันการประกันประเภทนี้ไม่ค่อยนิยมเท่าไรแล้ว เนื่องจากมีประกันสังคมเข้ามาบังคับให้นายจ้างต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมอยู่ ส่วนใหญ่จะไปทำประกันสุขภาพ ประกลุ่ม เพิ่มเติมเป็นสวัสดิการให้ลูกจ้าง

                  3.3.การประกันภัยกระจก (Plate Glass Insurance) การประกันภัยนี้ดูฟังดูแล้วประชาชนทั่วไปอาจสงสัยว่าทำประกันภัยกระจกได้ด้วยหรือ? กระจกในที่นี้คือกระจกที่ติดตั้งในอาคารต่างๆ ซึ่งหากกระจกได้รับเสียหายจากภัยใดๆก็ตามที่ทำให้กระจกแตกร้าว บริษัทประกันภัยก็จะรับผิดชอบต่อกระจกที่เสียหายตามที่ระบุไว้นั้นให้กับเจ้าของอาคารหรือผู้เอาประกันภัย กระจกที่ใช้ติดตั้งบนอาคารสูง หรือมีการใช้กระจกติดรอบตัวอาคาร เพื่อความสวยงามนั้นส่วนใหญ่จะเป็นกระจกนิรภัยที่มีราคาสูงจึงต้องมีการทำประกันภัยไว้นั่นเอง

                  3.4.การประกันภัยสำหรับเงิน(Money Insurance) เป็นการประกันภัยที่ให้การคุ้มครองการสูญหายของเงินภายในสถานที่เอาประกันภัย  เงินภายในตู้นิรภัย เงินที่อยู่ในระหว่างการขนส่ง รวมถึงความความเสียหายของอาคารสถานที่ หรือตู้นิรภัย อันเกิดจาก ยักยอกทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ ซึ่งจะมีแบบให้ผู้เอาประกันภัยเลือกซื้อได้ 3 แบบ ได้แก่

แบบ ปง. 1: คุ้มครองการชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และการลักทรัพย์ที่ปรากฏร่องรอยการงัดแงะ

แบบ ปง. 2: คุ้มครองความสูญเสีย การสูญหาย ใดๆ ที่ไม่ได้ระบุเป็นข้อยกเว้นไว้ในกรมธรรม์

แบบ ปง. 3: คุ้มครองความสูญเสีย การสูญหาย ใดๆ ที่ไม่ได้ระบุเป็นข้อยกเว้นไว้ในกรมธรรม์ และรวมถึงการยักยอกทรัพย์ของเจ้าหน้าที่การเงินหรือแคชเชียร์ หรือพนักงานขนส่งเงินที่ค้นพบภายในสามวัน คุ้มครองการชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และการลักทรัพย์ที่ปรากฏร่องรอยการงัดแงะหรือไม่ปรากฏร่องรอยการงัดแงะก็ได้

                การประกันภัยประเภทนี้ที่มีการทำประกันเกี่ยวกับเงินไว้ก็เช่น ร้านสะดวกซื้อ รถขนเงินของธนาคาร ที่มีการ โดยสรุปคือเมื่อเกิดการสูญหายของเงินอันเกิดจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ยักยอกทรัพย์  ที่ปรากฏร่องรอยการงัดแงะหรือเกิดจากการสูญหายใดตามที่มีการกำหนดเอาไว้ตามข้อกำหนดความคุ้มครองของแต่ละแบบก็จะได้รับการคุ้มครอง

                3.5. การประกันภัยสัมภาระในการเดินทาง (Travel Baggage Insurance) เป็นการประกันภัยที่ให้การคุ้มครองการสูญหายของสัมภาระของผู้เอาประกันภัยในระหว่างการเดินทาง

                3.6. การประกันสรรพภัย หรือ การประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิด (Industrial All Risk Insurance) เป็นการประกันภัยที่คุ้มครองทรัพย์สินที่เอาประกันภัย เช่น อาคาร โกดัง โรงงาน เครื่องใช้ในสำนักงาน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักร สต๊อกสินค้า หรือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ฯลฯ ที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่ได้มีการะบุเป็นข้อยกเว้นไว้ในกรมธรรม์ การประกันภัยประเภทนี้ให้การคุ้มครองจากภัยทุกชนิดที่ไม่ได้ระบุเป็นข้อยกเว้นในสัญญา

                 3.7. การประกันภัยความซื่อสัตย์ ( Fidelity Guarantee Insurance) โดยการประกันภัยนี้จะให้ความคุ้มครองความเสียหายทางการเงิน อันเนื่องมาจากการทุจริตของ พนักงาน หรือ ลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย หลายท่านอาจสงสัยว่าการประกันภัยความซื่อสัตย์ของคนมีด้วยหรือ? ต้องเรียนว่าการประกันภัยนี้มีการทำกันมานานแล้ว ถึงแม้องค์กรจะสามาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากพนักงานหรือลูกจ้างที่ทำทุจริตได้อยู่แล้วก็ตาม แต่กว่าจะฟ้องร้องให้ชดใช้เงินตามความเสียหายที่เกิดขึ้นองค์ก็ต้องจ้างทนายความดำเนินคดี และต้องใช้เวลาที่ยาวนาน แต่หากองค์กรได้มีการทำประกันภัยนี้ไว้ ความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตของพนักงานหรือลูกจ้างที่เกิดขึ้น บริษัทประกันภัยก็จะให้การคุ้มครองต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นตามวงเงินที่ตกลงไว้ก่อนแล้ว ส่วนเรื่องการดำเนินคดีก็ดำเนินการการตามกฎหมายกันต่อไป องค์กรได้รับความคุ้มครองก่อนแล้วไม่ต้องเสียเวลา

        ดังที่เรียนให้ทุกท่านได้รับทราบแล้วว่าการประกันภัยเบ็ดเตล็ด มีหลากหลายแบบมาก ในครั้งนี้เราได้รับทราบแบบกรมธรรม์ในหมวดหมู่ที่  2 กับ หมวดหมู่ที่ 3 กันแล้วในบางส่วน ยังคงมีรูปแบบของการประกันภัยเบ็ดเตล็ดอีกหนึ่งหมวดคือหมวดหมู่ที่ 4 ที่ว่าด้วยแบบกรมธรรม์การคุ้มครองเกี่ยวกับภัยอื่นๆ ส่วนจะมีรายละเอียดอย่างไร พบกันต่อฉบับหน้านะครับ ….

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่