วิริยะประกันภัยประกาศกลยุทธ์ปี 62 “ผู้นำคุณภาพบริการประกันภัย”

0
722

        วิริยะประกันภัยแจงทิศทางการดำเนินงานปี 62 ด้วยกลยุทธ์ “ผู้นำคุณภาพบริการประกันภัย” วาง 2 แนวทางหลัก เพิ่มประสิทธิภาพงานด้านสินไหมทดแทน “พัฒนาคน พัฒนางาน พัฒนาเครือข่ายการให้บริการ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพให้หลากหลายเพื่อคนไทยได้เข้าถึงกันถ้วนหน้า” เผยเป้าหมายเติบโตต้องโตไม่น้อยกว่าอุตสาหกรรม พร้อมเผยผลประกอบการปี 61 โตตามเป้า 4.86 % โกยเบี้ย 37,920 ล้านบาท

        นายอมร ทองธิว กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด(มหาชน) ได้เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจในปี 2562 นี้นับเป็นปีที่ท้าท้ายอีกปีหนึ่ง ทั้งจากหลายปัจจัยที่เป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม และปัจจัยจากภายใน โดยเฉพาะภาวะการแข่งขันของธุรกิจประกันวินาศภัยที่ยังคงแข่งขันกันอย่างรุนแรง แต่กระนั้นบริษัทฯ ได้มีการวางแผนและเตรียมความพร้อมในการรับมือไว้อย่างรอบคอบ และได้ตั้งเป้าหมายการดำเนินไว้ว่า บริษัทฯต้องมีอัตราการเติบโตไม่น้อยกว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมในภาพรวมคือเติบโตไม่ต่ำกว่า 5% ภายใต้กลยุทธ์ที่กำหนดไว้ “ผู้นำคุณภาพด้านบริการประกันภัย”

          นายอมร เปิดเผยอีกว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ บริษัทฯ ได้มีแนวทางสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ มุ่งเน้นการทำตลาดประกันภัยสุขภาพ ซึ่งในปีที่ผ่านมามีสัญญาณบ่งชี้ว่าบริษัทฯ จะประสบความสำเร็จในการรับประกันภัยทางด้านนี้ ดังเห็นได้จากการตอบรับเป็นอย่างดีของตลาด ดังนั้นในปี 62 นี้บริษัทฯ จะพัฒนาและเปิดตัวแผนประกันสุขภาพหลากหลายแผน ทั้งเป็นแผนที่ถือเป็นนวัตกรรมความคุ้มครอง และแผนที่จะสนองรับความต้องการของผู้บริโภค ตลอดไปถึงให้เป็นไปตามเป้าวัตถุประสงค์หลักของบริษัทฯ ที่ต้องการให้คนไทยได้เข้าถึงประกันภัยสุขภาพถ้วนหน้าและเข้าถึงมาตรฐานการรักษาที่ได้มาตรฐานสากลในระดับโลก

          อีกประการหนึ่งบริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นในการพัฒนาคุณภาพด้านการบริการ โดยเฉพาะคุณภาพการบริการสินไหมรถยนต์ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งและจุดขายของบริษัทฯ ที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าจำนวนกว่า 5 ล้านกรมธรรม์ ทั้งนี้ในการพัฒนาบริการนอกจากจะนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาเสริมศักยภาพแล้ว บริษัทฯ ยังไม่หยุดยั้งในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อให้มีความรู้และทักษะสอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อที่จะได้ส่งมอบการบริการที่ดีให้กับผู้เอาประกันภัย

         สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2561 ที่ผ่านมา นายอมร ได้เปิดเผยว่า เป็นไปตามเป้าหมายของบริษัทที่วางไว้ มีเบี้ยประกันภัยรับตรงรวมทั้งสิ้น 37,920 ล้านบาท เติบโตถึง 4.86% ยังคงครองส่วนแบ่งการตลาดประกันภัยรับรวมของธุรกิจประกันวินาศภัยเป็นอันดับหนึ่งมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 27 ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 16.27% โดยมีผลงานด้านรับประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์โดดเด่นที่สุด โตถึง 11.25% ส่งผลให้สัดส่วนงานรับประกันเพิ่มขึ้นถึง 10% เป็นปีแรก ทั้งนี้มา จากการที่บริษัทฯ ได้มุ่งเน้นขยายงานรับประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ภายใต้กลยุทธ์ ”ถ้าเป็นชื่อวิริยะประกันภัย ทุกประกันคือมาตรฐานเดียวกัน” ส่งผลให้บริษัทฯ เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะเป็นปีแรกที่บริษัทมีสัดส่วนการรับประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ถึง 10% จึงได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการประกันภัยให้ มีสัดส่วน 20% ภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งแต่ละปีต้องมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่าเท่าตัว เพื่อให้สามารถบาลานซ์สัดส่วนกับประกันภัยรถยนต์ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

          ในปีนี้ งานด้านรับประกันภัยรถยนต์ วิริยะฯ ยังครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่งติดต่อกันเป็นปีที่ 32 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 24.90% โดยมีเบี้ยประกันภัยรถยนต์รวม 34,093 ล้านบาท ด้านผลประกอบการทางด้านการลงทุน ในปีที่ผ่านมา มีพอร์ทการลงทุนทั้งสิ้น 62,715 ล้านบาท โดยสัดส่วนการลงทุนที่บริษัทฯ ต้องปฎิบัติกฎระเบียบของสำนักงานคปภ. จึงต้องเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยและมีสภาพคล่องสูง ซึ่งสัดส่วนการลงทุนส่วนใหญ่จะเป็น เงินฝากในสถาบันการเงิน ตราสารหนี้ภาครัฐ”

          นายอมร เปิดเผยต่อไปอีกว่า ตัวชี้วัดความสำเร็จอีกประการหนึ่งก็คือรางวัลเกียรติยศที่บริษัทได้รับจากองค์กรต่างๆมากมาย อาทิ  รางวัลเกียรติยศจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้แก่ รางวัลบริษัทประกันภัยที่มีการพัฒนาการดีเด่น  รางวัลบริษัทประกันภัยที่มีการส่งเสริมกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อประชาชนดีเด่น และรางวัลตัวแทนประกันวินาศภัยคุณภาพดีเด่น ซึ่งตัวแทนในสังกัดของบริษัทฯ ได้รับถึง 3 ท่านด้วยกัน  รางวัลจากสมาคมประกันวินาศภัย คือ รางวัล Best Surveyor Award ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 นับเป็นรางวัลที่บ่งบอกถึงคุณภาพการบริการของบริษัทฯ ได้เป็นอย่างดี รางวัลจากหอการค้าไทย คือ รางวัลจรรยาบรรณดีเด่นหอการค้าไทย ซึ่งเป็นรางวัลที่ทางหอการค้าไทยต้องการเชิดชูเกียรติให้แก่ภาคธุรกิจเอกชนไทยที่ดำเนินการธุรกิจโดยใช้หลักจรรยาบรรณให้เกิดการยอมรับ

        สำหรับแผนการดำเนินงานด้านประกันภัยรถยนต์ นายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การดำเนินงานในด้านการรับประกันภัยรถยนต์ บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นนำเทคโนโลยีและสร้างสรรค์วัตกรรมมาใช้ในการพัฒนา ปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการประกันภัย โดยเฉพาะการบริการด้านสินไหมทดแทน เพื่อตอกย้ำถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจประกันภัย และเพื่อให้สอดรับกับกลยุทธ์ที่บริษัทวางไว้ในปีนี้ โดยบริษัทฯ ได้วางเป้าหมายการพัฒนาไว้ 3 ด้านด้วยกันคือ พัฒนาคน พัฒนางาน พัฒนาเครือข่ายการให้บริการ จะมุ่งเน้นพัฒนาพนักงานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสินไหมทดแทน เนื่องจากพนักงานในกลุ่มนี้ถือเป็นตัวแทนของบริษัท เห็นได้จากการสรรหาพนักงานสำรวจอุบัติเหตุ มีการกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นไว้ว่าต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรี  มีการเพิ่มเติมความรู้และพัฒนาทักษะอยู่ตลอด ผ่าน 22 หลักสูตร ที่บริษัทฯ ได้พัฒนาขึ้นมาเองจากประสบการณ์ในการเคลมสินไหมมากกว่า 9 แสนเคสต่อปี และที่สำคัญมีกระบวนการพัฒนาทางด้านจิตใจและบุคลิกภาพ เพื่อให้พนักงานสินไหมวิริยะประกันภัยมีจิตใจการเป็นผู้ให้ มีบุคคลิกยิ้มแย้มแจ่มใส ดูแลเอาใจใส่ให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างเต็มที่รวมไปถึงคู่กรณีอีกด้วย

          ส่วนทางด้านการพัฒนา บริษัทฯ ได้มีการกำหนดมาตรฐานงานสินไหมแต่ละด้านอย่างชัดเจน (Service Level Agreement : SLA) เช่นงานรับแจ้ง งานตรวจสอบอุบัติเหตุ งานประเมินและสรุปความเสียหาย งานจัดซ่อม งานทำจ่ายค่าสินไหม อีกทั้งงานแต่ละด้านแต่ละส่วนงาน บริษัทฯ ได้นำเอาระบบเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่างๆ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า และสุดท้ายงานพัฒนาเครือข่ายการให้บริการ ซึ่งบริษัทฯมีนโยบายที่จะเพิ่มจุดบริการสินไหมต่อเนื่องในทุกๆ ปี  ณ ปัจจุบัน บริษัทฯ มีจุดบริการสินไหมอยู่ทุกทิศทั่วไทยรวมทั้งสิ้น 161 แห่ง

           สำหรับแผนการดำเนินงานด้านประกันภัยที่มิใช่รถยนต์ (Non-Motor) นายเกรียงศักดิ์  โพธิเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ในปี 2562 นี้ บริษัทฯ ยังคงเน้นการขยายงานด้านประกันภัยบุคคลเป็นหลัก เพื่อรับประกันภัยไว้เองมากกว่าที่จะไปประกันภัยต่อ และจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือมีวิถีการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม บริษัทฯ จึงได้มีการพัฒนากรมธรรม์ให้หลากหลายเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินที่เหมาะกับธุรกิจขนาดย่อม โดยให้ความคุ้มครองครอบคลุมกับความเสี่ยงของทรัพย์สินและการดำเนินธุรกิจ ในอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม การประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายก็ยังแบ่งแยกตามประเภทของธุรกิจ

         “ในส่วนของการประกันภัยสุขภาพ จะออกผลิตภัณฑ์กรมธรรม์ให้มีความหลากหลาย  แบ่งตามกลุ่มวัยทำงาน กลุ่มนักธุรกิจ หรือแบ่งให้เหมาะสมตามแต่ล่ะช่วงอายุ อีกทั้งมุ่งเน้นในการให้คำปรึกษาและการดูแลสุขภาพ ทั้งก่อนและหลังเข้าการรักษา  การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายให้เข้าถึงผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง เช่น ความร่วมมือระหว่าง บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ (มหาชน) BDMS โดยบริษัทฯ ได้เข้าไปเปิดจุดบริการด้านประกันสุขภาพในโรงพยาบาลเครือข่ายกว่า 45 แห่งทั่วประเทศ การเปิดความร่วมมือกับสถาบันการเงินอื่นๆ และองค์กรธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภครายย่อยทั่วประเทศ และการพัฒนาช่องทางดิจิทัล เพื่อให้ผู้บริโภคได้สื่อสารโดยตรงถึงบริษัทเกี่ยวกับความต้องการ และการบริการต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อลูกค้า” นายเกรียงศักดิ์ กล่าวในที่สุด

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่