ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics มองนโยบายภาษี Trump 2.0 ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ในหลายหมวดสินค้า ได้แก่ (1) กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบสูง เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์เครือข่ายและการสื่อสาร เครื่องใช้ไฟฟ้า (2) กลุ่มที่ได้รับผลกระทบปานกลาง เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยางพารา เฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้าน และ (3) กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจำกัด เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป
ปี 2568 “สงครามการค้าและนโยบายภาษีของสหรัฐฯ” กลายเป็นตัวเร่งทำให้โลกซึ่งอยู่ระหว่างการทวนกลับของโลกาภิวัตน์ (De-globalization) ปรับเปลี่ยนระบบการค้าโลกครั้งใหญ่จนอาจกลับไปสู่ “ยุคของการกีดกันทางการค้า” เหมือนในอดีตเห็นได้จากประเทศขนาดใหญ่ที่หันไปพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มขึ้น แนวโน้มการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ (Re-shoring) เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้า
หมายความว่า โลกนับจากนี้จะมีแนวโน้มพึ่งพาซึ่งกันและกันลดลง ประเทศที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศสูงอาจเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการค้าของทรัมป์ (Trump 2.0)
แม้ล่าสุดทรัมป์ประกาศเลื่อนการเก็บภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) ออกไปชั่วคราว และจัดเก็บอัตราภาษีนำเข้าแบบถ้วนหน้า (Universal Tariff) ที่ระดับ 10% (ยกเว้นจีน 145%) ttb analytics มองว่า อัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บในยุคทรัมป์ อาจไม่กลับไปที่เดิมในปี 2567 (ภาษีสินค้านำเข้าจากทุกประเทศเฉลี่ยที่ 2.4% อ้างอิงจากข้อมูลคณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ) แม้คู่ค้าหลักจะบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ ได้แล้วก็ตาม
ซึ่งการยกระดับนโยบายกีดกันทางการค้าภายใต้ Trump 2.0 จะทำให้การค้าโลกตึงเครียด และส่งผลให้ภาคส่งออกไทยมีแนวโน้มลดลงในระยะยาว สะท้อนผ่านการวิเคราะห์แบบจำลองการตอบสนองอย่างฉับพลัน (Impulse Response Function : IRF) ปี 2553-2567 ที่พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้างไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นชั่วคราวช่วง 1-4 ไตรมาสแรกหลังจากการ (ส่งสัญญาณ) ขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ แต่กลับมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยในระยะยาว ซึ่งผลกระทบสะสมยังคงรุนแรงแม้จะผ่านไปแล้ว 24 ไตรมาสก็ตาม
ttb analytics ประเมินว่า หากสหรัฐฯ ใช้การจัดเก็บภาษีนำเข้าในระดับเดียวกันทั้งหมด (ยกเว้นจีน) ในอัตราภาษี Universal Tariff 10% และอัตราภาษีนำเข้าเฉพาะกลุ่มสินค้า (Sectoral Tariff) 25% อาจไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัย แต่หากกรณีเลวร้ายที่สุด (Worst Case) ซึ่งไทยไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าภายในเวลาที่กำหนด และถูกจัดเก็บอัตราภาษีนำเข้าซึ่งอ้างอิงจาก Reciprocal Tariff ที่ระดับ 36% และสูงกว่าประเทศคู่แข่งหลายๆประเทศ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยสูงถึง 1.1% ของจีดีพีภายในระยะเวลา 1 ปี (ซึ่งยังไม่นับรวมผลกระทบต่อเศรษฐกิจทางอ้อมในรูปแบบอื่น)
เนื่องจากไทยเป็นประเทศระบบเปิดขนาดเล็ก (Small-open Economy) และมีสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยด้วยมูลค่าส่งออกคิดเป็นเกือบ 9% ของจีดีพี
โดยสามารถแบ่งรูปแบบของผลกระทบต่อภาคส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ ดังนี้
- ผลกระทบทางตรง
- กลุ่มอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯสูง และเสี่ยงสูญเสียส่วนแบ่งตลาดจากการถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าคู่แข่ง เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อุปกรณ์เครือข่ายและการสื่อสาร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกจัดเก็บภาษีนำเข้าค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว การที่ไทยถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงหรือสูงกว่าประเทศคู่แข่งอย่างมีนัย จึงมีความเสี่ยงที่จะเสียส่วนแบ่งตลาด จากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ซึ่งอาจทำให้สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากแหล่งอื่นทดแทนได้
- กลุ่มอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯสูง ซึ่งมีความเสี่ยงจะเจอมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ผลิตในประเทศเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ และกลุ่มที่จีนต้องการส่งออกไปสหรัฐฯ ผ่านไทย (Re-routing) ทำให้ส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯเพิ่มขึ้น สินค้าที่ส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าเป็นกรณีพิเศษตามมาตรา 201 เช่น แผงโซลาร์ เครื่องซักผ้า เหล็ก และอะลูมิเนียม รวมถึงมาตรา 232 ว่าด้วยการอ้างถึงเหตุผลของการใช้มาตรการเพื่อปกป้องความมั่นคงของประเทศ (National Security) เช่น ยางรถยนต์ ซึ่งการเข้ามาลงทุนของบริษัทจีนในไทยกลายเป็นความเสี่ยงที่ทำให้สินค้าจากไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ อาจถูกตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า (Country of Origin) และนำมาซึ่งการถูกดำเนินมาตรการกีดกันการค้าเพิ่มเติมได้ในระยะข้างหน้า
- ผลกระทบทางอ้อม
- กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อวัฎจักรเศรษฐกิจ (Cyclical Goods) และกลุ่มที่มีการพึ่งพาผู้บริโภคปลายทางในสหรัฐฯ เช่น สินค้าไม่จำเป็นหรือสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ในบ้าน สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ
- กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ซึ่งกระทบการส่งออกสินค้าวัตถุดิบขั้นต้นและขั้นกลาง (Input and Intermediate Goods) ที่จีนต้องการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง ตลอดจนสินค้าอุปโภคบริโภคที่รองรับตลาดผู้บริโภคจีนโดยตรงอย่างไรก็ดี กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานเพื่อรองรับอุปสงค์ภายในประเทศคาดว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก เช่น กลุ่มสินค้าผักผลไม้ เนื้อสัตว์และอาหารแปรรูป
- กลุ่มอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตลาดอาเซียนสูงและมีความเสี่ยงที่จะถูกสินค้าจีนแย่งส่วนแบ่ง ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดอาเซียนให้แก่สินค้าจีน เนื่องจากสินค้าจีนมีต้นทุนต่ำกว่า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องหนัง เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง ส่งผลให้ส่วนแบ่งไทยในตลาดอาเซียนลดลง ขณะที่สินค้าจีนครองส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น
- กลุ่มอุตสาหกรรมที่เผชิญการแข่งขันรุนแรงขึ้นจากปัญหาสินค้าจีนทะลักตลาดในประเทศ นับตั้งแต่หลังสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนระลอกแรกในช่วงปี 2560 ทำให้ภาคการผลิตจีนเข้ามาแทนที่ภาคการผลิตไทยรุนแรงขึ้น ผู้ประกอบการในประเทศเผชิญปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้ามารุนแรงมากขึ้น เช่น กลุ่มสินค้าเหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้น
โดยสรุป ในปี 2568 แนวนโยบายการค้า Trump 2.0 ซึ่งมุ่งเน้นการเจรจาต่อรองกับประเทศที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ กำลังกลายเป็นดาบสองคมต่อทั่วโลกและอาจนำมาซึ่งการโดดเดี่ยวของสหรัฐฯ ชัดเจนขึ้น โดยแม้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อย่างเต็มรูปแบบจะถูกเลื่อนออกไปชั่วคราว แต่คาดว่าจะเพิ่มความไม่แน่นอนทางการค้าและตลาดการเงินโลกในระยะข้างหน้า และจะเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการต้องเร่งรับมือจากการเบี่ยงเบนของห่วงโซ่อุปทานโลก ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการควบคุมกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่เข้มข้น ควบคู่กับการยกระดับศักยภาพความสามารถในการแข่งขันรองรับการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป