ยุทธศาสตร์กสิกรไทย 2019 “A Year of I” มุ่งสู่ธุรกิจแบงก์ยุคใหม่ “ธนาคารอัจฉริยะ”

0
291

ธนาคารกสิกรไทย  ประกาศยุทธ์ศาสตร์ 2019  ก้าวสู่ธุรกิจแบงก์ยุคใหม่ ด้วยกลยุทธ์ A Year of i  ประกอบด้วย Incorporate  Insight  Ignite  Integrate และ Innovate  ผนวกธุรกิจในประเทศ ต่างประเทศ พนักงาน ระบบไอทีและดาต้า รวมไปถึงพันธมิตร ตอบโจทย์ได้ตรงกับพฤติกรรมลูกค้าและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

Incorporate

แกร่งในไทย ก้าวไกลเป็นหนึ่งในอาเซียน

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย  เปิดเผยว่า การขยายตัวของธุรกรรมดิจิทัล  จากสัดส่วนประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต  82% ทำธุรกรรมบนโมบายแบงกิ้ง 74% ซื้อสินค้าออนไลน์  48.5%  ทำให้ภาคธนาคารต้องปรับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญต่างๆ เช่น โครงการพร้อมเพย์ ที่มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 46.5 ล้านไอดี มีธุรกรรม 4.5 ล้านรายการต่อวัน การสร้างมาตรฐานคิวอาร์ โค้ต ที่มีร้านค้าใช้งานแล้ว 3 ล้านราย การขยายศักยภาพ ITMX ระบบกลางที่รองรับธุรกรรมข้ามธนาคารให้เป็น 1,000 รายการต่อวินาที และจะเพิ่มความสามารถของระบบแต่ละธนาคารเป็น 2 เท่าภายในปีนี้

ในอีก 2 ปีข้างหน้า จะมีบริการทางเงินใหม่ ๆ  เช่น การต่อยอดโครงการพร้อมเพย์ จากการให้บริการคิวอาร์ โค้ด มาตรฐานไทยในประเทศ สู่การให้บริการคิวอาร์ โค้ด มาตรฐานไทยในประเทศ CLMV+3  โดยผู้ชำระเงินที่มีแอป โมบาย แบงกิ้ง ของธนาคารไทยทุกธนาคาร สามารถสแกนชำระเงินนอกประเทศได้ และบริการร้านค้าสแกนคิวอาร์ โค้ด ของลูกค้าผู้ชำระเงิน (B Scan C) ที่ช่วยให้การชำระเงินสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

โครงการ Thailand Blockchain Community Initiative เริ่มให้บริการด้านหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee) โดยมีสถาบันการเงินทั้งไทยและต่างประเทศ 22 ธนาคาร กลุ่มภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจ 7 กลุ่มเข้าร่วม คาดว่าในปีนี้จะมียอดธุรกรรมประมาณ 40,000 รายการ และจะมีหน่วยงานเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยอดธุรกรรมโตแบบก้าวกระโดด

 โครงการ National Digital ID (NDID) ที่ลูกค้าสามารถยืนยันตัวตนผ่านระบบออนไลน์ ช่วยให้เปิดบัญชีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่ต้องแสดงตนที่สาขา การขอสินเชื่อและการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ทางออนไลน์ รวมทั้งโครงการเอทีเอ็มสีขาว (White-Label ATMs) ที่จะช่วยให้ธนาคารบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น ตอกย้ำความก้าวหน้าของระบบธนาคารไทยที่อยู่ในระดับแนวหน้าของอาเซียน

แปลงบิ๊กดาต้าเป็น Insight  

ดันปล่อยกู้ 3 หมื่นล้านบาท

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารจะเพิ่มศักยภาพด้าน Analytics ในการแปลงข้อมูลมาเป็น insight  เพื่อเสนอบริการที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคล  โดยเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ได้แก่

ด้านข้อมูล ธนาคารมีข้อมูลพร้อมให้ทุกฝ่ายงานในองค์กรสามารถนำไปวิเคราะห์ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

ด้านเทคโนโลยี  ได้เตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจอย่างก้าวกระโดด

ด้านบุคลากร ที่เป็นปัจจัยหลักในการสร้างคุณค่าทางธุรกิจจากข้อมูล (Data) ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาบุคลากรด้าน Business Analytics ไปแล้วกว่า 500 คน และ Machine Learning Analytics จำนวน 284 คน

ด้านวัฒนธรรมองค์กร เป็นการผสานความฉลาดของคนเข้ากับเทคโนโลยี (Augmented Intelligence) เพื่อไปสู่การเป็นธนาคารอัจฉริยะ (Cognitive Banking)  โดยปรับโครงสร้างการทำงานภายใน  3 ด้าน คือ กลุ่มงานด้านการขายและบริการ ที่มุ่งตอบโจทย์ลูกค้าแบบรายบุคคล (Segment of One) กลุ่มงานยุทธศาสตร์ ที่มุ่งเน้นด้านการนำข้อมูลมาสร้างประโยชน์ให้แก่ธนาคาร และกลุ่มงานด้านผลิตภัณฑ์ ที่มุ่งนำเสนอนวัตกรรมบริการที่ตอบโจทย์ตรงใจ

ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายของ Data-Driven Lending ในปี 2562 เป็นวงเงิน 30,000 ล้านบาท พร้อมทั้งการนำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจจนสร้างรายได้มีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 50% ของรายได้ทั้งหมด

Ignite

ดันธุรกิจในต่างประเทศ โต 8 เท่าใน 3 ปี

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย  กล่าวว่า ธนาคารพร้อมผลักดันธุรกิจไทยสู่ต่างประเทศและเชื่อมโยงการค้าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงผู้บริโภครายย่อย    ทั้งนี้ธนาคารได้ตั้งบริษัท KVision  ซึ่งมี Innovation Lab ในไทย อิสราเอล จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม เพื่อเฟ้นหา Innovation, Tech Partner, และ Tech Talent ใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาบริการของธนาคารและแสวงหาเทคโนโลยีที่ช่วยต่อยอดธุรกิจให้ลูกค้าไทยเข้าสู่ตลาดใหม่  โดยเฉพาะตลาด CCLMVI (จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย) ซึ่งเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าภายในปี 2573  กลุ่มประเทศ CCLMVI จะมีจีดีพีรวมอยู่ที่ 28.64 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ใหญ่กว่าเศรษฐกิจไทยถึง 41 เท่า มีประชากรรวมมากกว่าไทย 28 เท่า  ซึ่งธนาคารตั้งเป้าหมายการเติบโตรายได้จากธุรกิจในต่างประเทศกว่า  8 เท่า ภายใน 3 ปีข้างหน้า

สำหรับปี 2562 จะเชื่อมโยงลูกค้าให้เข้าถึงผู้บริโภคใน CCLMVI ด้วย 3 กลยุทธ์สำคัญ คือ

1)ให้คำแนะนำและเชื่อมโยงพันธมิตรในท้องถิ่น  ให้กับลูกค้าจากช่องทางและพันธมิตรที่มีอยู่ครบทุกประเทศ ทำให้เข้าใจบริบทของการทำธุรกิจในแต่ละประเทศ

2)ให้บริการทางการเงินเพื่อเชื่อมโยงการค้าระหว่างลูกค้ากับคู่ค้า โดยจะเริ่มให้บริการ Solution ในลาวและกัมพูชา โดยการนำระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยให้การชำระค่าสินค้า สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3) สร้างแพลตฟอร์มการชำระเงินแห่งภูมิภาค  โดยปัจจุบันได้เริ่มโครงการ “QR KBank” แอปฯ กระเป๋าเงินออนไลน์สำหรับชาวเวียงจันทน์ใน สปป.ลาว ตั้งเป้าปี 2562 จะมีธุรกรรมผ่าน “QR KBank” ประมาณ 2 ล้านรายการ มูลค่ากว่า 36,000 ล้านกีบหรือประมาณ 115 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างแพลตฟอร์มการชำระเงินแห่งภูมิภาค ช่วยให้ธนาคารเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้จ่ายด้วยระบบดิจิทัล (Digital Spender) ในลาว พร้อมตั้งเป้าหมายขยายการให้บริการและเชื่อมต่อแพลตฟอร์มเข้าด้วยกันทั่ว CCLMVI ในอนาคต

Integrate รวมพลังเพื่อเติบโต

ลุยหาลูกค้าใหม่ มุ่งรายย่อยโต 9-12%

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยถึง 3 ภารกิจสำคัญในปี 2562คือ1) ผนึกพันธมิตรแพลตฟอร์มขยายฐานลูกค้า  ทั้งบนแพลตฟอร์มของธนาคารผ่าน K PLUS และเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอื่น ทั้งในโลกโซเชียล แชท ชอปปิ้ง การเดินทาง ฯลฯ โดยผสานความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อให้เข้าถึง และทำความเข้าใจลูกค้าได้อย่างลึกซึ้ง

2) เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดสินเชื่อลูกค้าบุคคลจาก 7% เป็น 16%  จากฐานลูกค้าในตลาดประมาณ 31.3 ล้านราย โดยการผนึกพันธมิตรแพลตฟอร์มชั้นนำ ช่วยให้สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจลูกค้า วิเคราะห์ความต้องการสินเชื่อและศักยภาพที่จะชำระคืน แล้วส่งข้อเสนอสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล  เพื่อสร้างรายได้ใหม่ชดเชยการลดลงของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย จากการยกเลิกค่าธรรมเนียมผ่านช่องทางดิจิทัลและการชะลอตัวของธุรกิจประกัน

3)บริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด  โดยการปรับพอร์ตเพื่อสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น การปรับปรุงกระบวนการติดตามหนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอย่างเหมาะสมต่ออัตราการฟื้นตัวของสินเชื่อ

“เชื่อมั่นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินปี 2562  ด้วยอัตราการเติบโตของเงินให้สินเชื่อรวม 5-7% โดยสินเชื่อธุรกิจบรรษัทเติบโต 3-5% สินเชื่อเอสเอ็มอีเติบโต 2-4% และสินเชื่อลูกค้ารายย่อยเติบโต 9-12%  อัตราส่วนผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ 3.3-3.5% อัตราการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย  -5% ถึง -7% และอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม 3.3-3.7% พร้อมแข่งขันและเติบโตอย่างต่อเนื่อง”

Inovation

ชู KBTG บริษัทไอทีอันดับหนึ่ง

เตรียม 5,000 ล้านลงทุนนวัตกรรมการเงิน

นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวว่าในยุค Disruption การสร้างพันธมิตรเป็นสิ่งสำคัญ  จึงผลักดันความสามรถที่ธนาจะทำงานร่วมกับพันธมิตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพ หรือองค์กรธุรกิจชั้นนำ ผ่านความร่วมมือ 3 รูปแบบ ได้แก่

Open Banking API ความสามารถในการต่อเชื่อมบริการของธนาคารให้แก่พันธมิตรโดยสะดวกและปลอดภัย

K PLUS Business Platform การสร้างความหมายใหม่ของ K PLUS จากการเป็นธนาคารบนโทรศัพท์มือถือไปสู่การเป็นแพลตฟอร์มสำหรับธุรกิจที่พันธมิตรสามารถนำไปต่อยอดสร้างบริการแบบดิจิทัล

Innovation Sandbox คือ สนามทดลองเพื่อรองรับการทดสอบไอเดียทางนวัตกรรมใหม่ ๆ ของพันธมิตรโดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพ ได้อย่างประหยัดและรวดเร็ว

ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายการพัฒนา KBTG ไปสู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเปลี่ยนแกนเทคโนโลยีของโลกมาสู่ประเทศไทย ภายในปี 2565 โดยเริ่มจากงบลงทุนด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และบุคลากร ในปีนี้กว่า 5,000 ล้านบาท โดยใช้แนวคิด Augmented Intelligence (AI) มาขับเคลื่อนองค์กร ด้วยความตระหนักว่าความอัจฉริยะที่แท้จริงนั้นไม่ได้มาจากปัญญาประดิษฐ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากบุคลากรที่สั่งสมประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจในธุรกิจ และความต้องการของลูกค้าอย่างลึกซึ้ง

“ธนาคารอัจฉริยะ คือการผนวกประสบการณ์ของพนักงานเข้ากับความชาญฉลาดของปัญญาประดิษฐ์  อันนำมาซึ่งแนวคิดด้านนวัตกรรมทางการเงินที่เรียกว่า Cognitive Banking ที่ส่งมอบบริการอันชาญฉลาด รู้ใจ (Highly Intelligence) บริการที่ปรับรูปแบบตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้า (Highly Adaptive)  เข้าใจ รู้ใจ ลูกค้าแต่ละคนอย่างลึกซึ้ง (Highly Personalized)  ซึ่งการเป็น Cognitive Banking จะทำให้บริการดิจิทัลของธนาคารกสิกรไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดดไปไกลกว่าการเป็นเพียงธนาคารหรือแพลตฟอร์มบนโทรศัพท์มือถือ”

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่